สธ. ออกจากระบบ ก.พ. แก้ปัญหาแพทย์-พยาบาล ขาดแคลน | เก็บตกจากวชิรวิทย์

 


  • ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลนเริ่มรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่มาตรการแก้ปัญหาด้วยการเร่งผลิตบุคลากรเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
  • ปี 2566  สธ. มีบุคลากรทั้งหมดรวม 472,366 คน  และเป็นลูกจ้างชั่วคราวถึง 186,249 คน ในจำนวนนี้เป็น แพทย์ 484 คน และ พยาบาลวิชาชีพ อีก 6,906 คน ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็น “ข้าราชการ”
  •  รัฐบาลมีแนวคิด แยกกระทรวงสาธารสุข ออกจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาบริหารทรัพยากรบุคคลเอง แบบที่ วิชาชีพ “ครู” กับ “ตำรวจ” ที่ไม่ได้อยู่กับ ก.พ. แต่ก็เป็นข้าราชการเช่นกัน
  • แนวคิดนี้เกิดขึ้นแต่สมัยรัฐมนตรีสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผ่านการร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. ….
  • กลไกสำคัญคือ ก.สธ. ที่จะช่วยให้มีอิสระในการบริหารจัดการกำลังคน เป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร  ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ


ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน นับเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐพยายายามหาทางแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือกลไกการบรรจุเป็นข้าราชการที่ตำแหน่งมีจำนวนจำกัดและไม่ยืดหยุ่น แนวคิดการปลดล็อกออกจากระบบ ก.พ. จึงเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่สังคมกำลังจับตาว่าสุดท้ายจะแก้ปัญหาที่คาราคาซังมาได้นานได้หรือไม่ 


หลายคนอยากเป็นข้าราชการเพราะมีสถานภาพที่มั่นคง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนในกระทรวงสาธารณสุขจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ แม้จะทำหน้าที่ไม่ต่างกัน


แม้เป้าหมายจะต้องการให้มีคนทำงานเพียงพอ แต่กรอบการบรรจุข้าราชการก็มีจำกัด ทุกโรงพยาบาล รวมทั้งสถาบันหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องจ้างคนเพิ่มในรูปแบบพนักงานราชการ ลูกประจำ ลูกจ้างชั่วคราว  เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความก้าวหน้าในวิชาชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในแวดวงสาธารณสุข ลาออกไปจากระบบ จนลุกลามเป็นปัญหาการขาดแคลนบุคคลากร




ตำแหน่งไม่เพียงพอ-การบรรจุล่าช้า ซับซ้อน


หากวิเคราะห์ปัญหาการบรรจุข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขมีหลายประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรและระบบการดูแลสุขภาพ ดังนี้


  1. จำนวนตำแหน่งข้าราชการที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรองรับบุคลากรที่จบใหม่หรือบุคลากรที่ทำงานในระบบเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดปัญหาบุคลากรชั่วคราวที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการถาวร
  2. กระบวนการบรรจุที่ซับซ้อนและล่าช้า ซับซ้อนและใช้เวลานาน ทำให้บุคลากรที่มีคุณภาพบางส่วนเลือกที่จะออกไปทำงานในภาคเอกชนหรือในต่างประเทศแทน
  3. ความไม่ยืดหยุ่นของระบบการบรรจุข้าราชการ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของระบบสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว
  4. ปัญหาการบริหารจัดการกำลังคนโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีปัญหาบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล

 

 

ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความท้าทายต่อการบริหารจัดการบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบและนโยบายให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัยมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ นำมาสู่แนวคิด แยกกระทรวงสาธารสุข ออกจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาบริหารทรัพยากรบุคคลเอง แบบที่ วิชาชีพ “ครู” กับ “ตำรวจ” ที่ไม่ได้อยู่กับ ก.พ. แต่ก็เป็นข้าราชการเช่นกัน


การแยกกระทรวงสาธารณสุข ออกมาจาก ก.พ. เป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุข ที่ปักธงมาตั้งแต่ยุครัฐมนตรีสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และส่งไม้ต่อหลังปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 มาถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งกำลังผลักดันกฎหมายสำคัญ นั่นคือ “ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ. …”



บุคคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีเท่าไหร่?


ข้อมูลจากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรทั้งหมดรวม 472,366 คน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายประเภท

  1. ข้าราชการ จำนวน 134,514 คน
  2. พนักงานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 104,771 คน
  3. ลูกจ้างประจำ จำนวน 30,704 คน
  4. พนักงานราชการ จำนวน 16,128 คน
  5. ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 186,249 คน


ในจำนวน ”ลูกจ้างชั่วคราว” มีแพทย์ 484 คนและ พยาบาลวิชาชีพ อีก 6,906 คน ที่ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็น “ข้าราชการ“

 


ไทม์ไลน์ ออกกฎหมาย สธ.แยกจาก ก.พ.


หัวใจสำคัญของการออกจาก ก.พ. คือการ ออก ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข และบุคลากรสาธารณสุข เป้าหมายของร่างกฎหมายนี้ มุ่งสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล อัตรากำลัง และค่าใช้จ่ายภาครัฐ ลดข้อจำกัดต่างๆที่เป็นปัญหาคาราคาซังมาเป็นเวลานาน โครงสร้างการบริหารงานจะปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อสามารถบริการประชาชนรวดเร็วขึ้น


โดยการดำเนินการของกระทรวง สธ.เพื่อจัดทำร่างพ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ฯ พ.ศ. ….  เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร มีขั้นตอน ระยะเวลา ดังนี้


15 ก.ค. 2567 

  • คณะอนุกรรมการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ข้าราชการสธ.ฯ  โดยมี นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุม พร้อมทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อหารือรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฯ​ ดังกล่าว

18 ก.ค. – 6 ส.ค. 2567 

  • เปิดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ : Link  

10 ส.ค. 2567 

  • สรุปความเห็นจากการรับฟังในแต่ละประเด็น จัดประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการ ได้ร่างพ.ร.บ.ที่สมบูรณ์ จัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบ พร้อมเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ

15 ส.ค. 2567 

นำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

ก.ย. 2567

คณะรัฐมนตรี จะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

เมื่อผ่านขั้นตอนนี้ รัฐบาลจึงจะเสนอ ร่างพ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณาตามกระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยคาดว่ากฎหมายจะผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ในปี 2568

 


บอร์ด ก.สธ. หัวใจสำคัญบริหารบุคลากร-งบประมาณ-สวัสดิการ 


การแยกตัวออกจาก ก.พ. นับเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องตราเป็นกฎหมาย เปรียบเสมือนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กร เพื่อทำให้การปฏิบัติงานทั้งอัตรากำลังที่มีประมาณ 400,000 – 500,000 คน งบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่จะลดลง มีความคล่องตัวของบุคลากรที่กระจายอยู่ใน 12 เขตสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการประชาชน


ประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือให้มีคณะกรรมการข้าราชการกรทรวงสาธารณสุข หรือ “ก.สธ.” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสธ.เป็นประธาน, ปลัดสธ.เป็นรองประธาน, กรรมการได้แก่ อธิบดีกรมหรือตำแหน่งเทียบเท่าในสังกัด กระทรวงสธ. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน และกรรมการสายวิชาชีพจากการคัดเลือกกันเอง 6 คน


ก.สธ. มีอำนาจหน้าที่ เช่น บรรจุ แต่งตั้ง โอนย้ายข้าราชการ, กำหนดตำแหน่ง จำนวนตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ, ออกกฏกระทรวง  ข้อบังคับ ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ มติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล, กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการวางแผนกำลังคนในราชการ กระทรวงสธ., เสนอแนะคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับค่าครองชีพ การจัดสวัสดิการหรือประโยชน์เกื้อกูลสำหรับข้าราชการ, กำหนดการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ สร้างแรงจูงใจ ความก้าวหน้าแก่ข้าราชการ เป็นต้น


สำหรับเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอ ร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลในรูปแบบคณะกรรมการ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการแพทย์ สาธารณสุข เข้าใจบริบทการปฏิบัติงานของกระทรวง สธ. ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีความคล่องตัว มีอิสระในการบริหารจัดการกำลังคน เป็นเอกภาพในการบริหารงานบุคคลที่มีความหลากหลายวิชาชีพ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ความก้าวหน้า ความเหลื่อมล้ำของวิชาชีพ ระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการ และเพื่อยกระดับกฎเกณฑ์การบริหารงานบุคคลให้เหมาะสม

 

ในหลายครั้งที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกถามในหลายที่ประชุมจากทั้งคนในกระทรวง และสื่อมวลชน ถึงการแก้ปัญหาเรื่องกำลังคน ไม่ว่าจะแพทย์ขาดแคลน พยาบาลขาดแคลน หรือพนักงานที่ตกหล่นยังไม่ได้บรรจุข้าราชการยุคโควิด เขามักจะบอกว่า การแยกตัวออกจาก ก.พ. จะตอบโจทย์ และแก้ปัญหาเรื่องคนให้จบทั้งหมด โดยในฐานะเจ้ากระทรวงเมื่อได้รับข้อเสนอนี้มา ก็พยายามผลักดันให้สำเร็จในยุคของตน

 

“บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข เป็นบุคลากรที่ทำงานกันอย่างทุ่มเทดูแลชีวิตประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จึงตอบแทนการทำงานที่ทุ่มเทเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานอย่างมั่นคง ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคภัย  ฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวง” รมว.สธ. ระบุ

 

ความคิดเห็น