ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงวัย อาจนำมาสู่การใช้อารมณ์ ความรุนแรง | เก็บตกจากวชิรวิทย์
จากปรากฎการณ์ข่าวการใช้อารมณ์รุนแรงของนักการเมืองสูงอายุท่านหนึ่ง ทำให้เกิดคำถามกับคนทั่วไปว่า ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาในเรื่องของการใช้อารมณ์หรือไม่
เพื่อเป็นโอกาสให้สังคมได้เรียนรู้และทำความเข้าใจภาวะความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุที่อาจเกิดขึ้นได้ และถ้าหากว่าทุกคนเข้าใจก็จะสามารถรับมือด้วยวิธีการที่ถูกต้อง วันนี้ (17 ส.ค. 2567) #เก็บตกจากวชิรวิทย์ ชวนคุยกับ “นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์“ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ |
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ถ้าพูดโดยหลักทั่วไปผู้สูงอายุถ้ามีภาวะสมองที่ทำงานได้ตามปกติ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเริ่มมีปัญหาความเสื่อมของสมองก็จะทำให้มีความสามารถในการควบคุมความคิด ความจำและอารมณ์ลดลง
การสูงอายุของคนเราจะเกิดขึ้นพร้อมกับความเสื่อมของสมอง ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ การเสื่อมของสมองก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น คนอายุ 60-70 ปีก็จะเริ่มมีภาวะสมองเสื่อม อายุ 80-90 ปีก็จะยิ่งมากขึ้นไปอีก อายุ 90-100 สมองก็เสื่อมมากขึ้นไปอีก
สมองเสื่อมไม่ได้มีผลในเรื่องความจำอย่างเดียว แต่รวมถึงของความคิดและอารมณ์ด้วย เช่น การใช้เหตุผลได้น้อยลง เริ่มควบคุมอารมณ์ได้น้อยลง ก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นของ ภาวะสมองเสื่อมเบื้องต้น แต่ยังไม่ถึงกับสมองเสื่อมจริงๆ
แต่พอเข้ามาสู่ภาวะสมองเสื่อมจริง หรือ Dementia ก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เริ่มมีปัญหาไม่สามารถที่จะดูแลการอยู่การกินของตัวเอง ดูแลกิจวัตรสุขลักษณะของตัวเองได้ นั้นก็จะกลายเป็นโรคสมองเสื่อม
“ระหว่างที่ยังไม่เป็นโรคสมองเสื่อมก็จะมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่เรียกว่า Pre - Dementia ก็จะมีอาการอย่างเช่น ขี้หลงขี้ลืม แต่ไม่มีพฤติกรรมขั้นรุนแรงที่รบกวนต่อการดูแลชีวิตตัวเอง”
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า สมอง ไม่ได้เสื่อมกระทันหัน แต่เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปนี้ จะเริ่มมีอาการทั้งเรื่องความจำที่แย่ลงการควบคุมอารมณ์ได้แย่ลง ก็เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้
การป้องกันภาวะสมองเสื่อม
นพ.ยงยุทธ กล่าวถึงการส่งเสริมป้องกัน ชะลอภาวะสมองเสื่อมว่า ผู้สูงอายุจะต้องดูแลตัวเองให้ดี ทั้งเรื่องการกินอาหาร การเคลื่อนไหวออกกำลังกาย เพราะถ้าไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ก็จะทำให้สมองยิ่งเสื่อมเร็ว รวมทั้งการบริหารจิตใจ ลดความเครียด นี่ก็คือเหตุที่คนสูงอายุจะต้องฝึกจิต นั่งสมาธิ ฝึกสติจะเป็นตัวช่วยทำให้การเสื่อมของสมองลดความรุนแรงลง
“รักษาการเคลื่อนไหวไว้ให้กระฉับกระเฉง ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนัก แต่แค่มีการเดินเหิน มีการยืดเหยียด ทานอาหารที่มีกากใยมีโปรตีนพอสมควร ลดแป้ง ลดหวานให้น้อย อันนี้คือส่วนของอาหาร
และส่วนสำคัญคือจิตใจต้องควบคุมความเครียด ยิ่งเรามีความเครียดมากความเสื่อมของสมองก็จะเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิ ฝึกสติ ปล่อยวาง ก็จะเป็นประโยชน์ที่ทำให้สมองเสื่อมน้อยลง”
ผู้สูงวัยปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงซึมเศร้า
นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า การที่คนเราต้องปรับตัวในวัยสูงอายุ ถ้าปรับตัวได้ไม่ดี ก็อาจจะแสดงออกมาในเรื่องของอารมณ์และพฤติกรรม เพราะฉะนั้นลูกหลานมักจะบ่นว่า ทำไมผู้สูงอายุบางคนขี้น้อยใจ หรือ ทำไมผู้สูงอายุถึงชอบพูดถึงเรื่องความหลัง พูดถึงบุญคุณที่มีต่อลูกหลาน สิ่งนี้เป็นอาการของผู้สูงอายุที่จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ได้ เพราะว่าถ้าปรับตัวไม่ได้ความเครียดเหล่านี้ก็จะมีผลต่อพฤติกรรมของผู้สูงอายุ
เมื่อถามต่อว่าเหล่านี้จะพัฒนาไปถึงภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเป็นโรคซึมเศร้าค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เพราะในภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น ในภาวะที่มีความเครียดเรื้อรัง ภาวะความเสื่อมของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หดหู่ ผิดหวัง นานๆเข้ามันก็กลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ คุณหมอย้ำว่าการจัดการอารมณ์และความเครียดเป็นเรื่องสำคัญ
แนะสร้างคุณค่าแก่ผู้สูงวัย
สำหรับแนวทางการรับมือในระบบสุขภาพ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่าก็ต้องพยายามทำให้ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีคุณค่า โดยการที่จะมีคุณค่าได้ มีคุณค่าได้หลายอย่าง 1.สร้างคุณค่าโดยการประกอบอาชีพ ยังให้คำปรึกษาได้ ยังทำงานได้ ยืดอายุการทำงานให้มากที่สุด ไปพร้อมๆกับดูแลสุขภาพให้ดี ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ก็ยังอนุญาตให้ผู้สูงอายุทำงาน หากยังสุขภาพดี
2.สร้างคุณค่าทางสังคม เช่น เป็นผู้นำชุมชนเป็น ผู้ให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน สังคมไทยผู้สูงอายุมักเป็นผู้ดูแลหลาน ก็ถือว่าช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังมีคุณค่าอยู่
“คุณค่าเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือสังคมจะช่วยทำให้เป็นการสูงวัยที่มีคุณค่า เราก็ไม่ควรจะต้องกังวลในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพราะฉะนั้นปัญหาและความท้าทายที่แท้จริงก็คือทำอย่างไร ให้สังคมผู้สูงอายุเป็นสังคมสูงอายุอย่างมีคุณค่า“
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น