วิกฤตสุขภาพจิตและยาเสพติด วิกฤตพยาบาลจิตเวช | เก็บตกจากวชิรวิทย์

สถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชล้น ขณะที่จำนวนพยาบาลจิตเวชขาดแคลนหนัก โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งเหลือพยาบาลจิตเวชคนเดียว ท่ามกลางภาระงานจากนโยบายยาเสพติด ทั้ง มินิธัญญารักษ์ ชุมชน CBTx



ทุกๆเช้า หน้าห้องตรวจผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลบางเลน จังหวัดนครปฐม จะมีผู้ป่วยนอกมารับบริการเฉลี่ยวันละ 20-30 คน ที่นี่ไม่มีจิตแพทย์​ มีแต่พยาบาลจิตเวชเพียงคนเดียวในการรับมือกับคนไข้ 


ตั้งแต่มีนโยบาย หนึ่งอำเภอ 1 กลุ่มงาน จิตเวชและยาเสพติด แยกออกมา  พว.ลัดดาวัลย์​ ธีรภาพชัยศรี พยาบาลจิตเวช​ รพ.บ​า​งเลน ยอมรับว่าภาระงานล้นมือ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด​ ที่เข้ามารับการรักษา​ เพิ่มขึ้นเท่าตัว


นอกจาก การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดแล้วยังมีกลุ่มเด็กโต เข้ามาใช้บริการด้วย เช่น เด็กชายวัย 11 ปีนี้มีอาการ แพนิค พยาบาล สำรวจความผิดปกติจากการใช้แบบประเมิน​ และอาจจะต้องไปพบ​คุณครู ที่โรงเรียน​ 


สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า​ การรักษาโรคทางจิตต่างจากการรักษาโรคทั่วไป ซึ่งอาจต้องทำมากกว่าการรักษาแต่ในโรงพยาบาล​ แต่ต้องลงพื้นที่ไปสำรวจสภาพแวดล้อมและไถ่ถามจากคนรอบข้างผู้ป่วยเพื่อกำหนดแนวทางการรักษาที่ดีที่สุด 


กว่าจะตรวจคนไข้เสร็จ ก็เกือบช่วงเที่ยง เธอยังมีนัดกระตุ้น​พัฒนาการ​กับเด็กหญิงวัย 2 ขวบ​  หลังผู้ปกครองพบว่าลูกยังไม่เริ่มพูด​ สงสัยว่าจะป่วยเป็นสมาธิสั้นเทียม เห็นได้ชัดว่าครึ่งวันของพยาบาลจิตเวชที่นี่ ผ่านไปอย่างรวดเร็ว​ สะท้อนถึงภาระงานด้านจิตเวชที่มากเกินกว่าที่พยาบาล คนหนึ่งจะทำได้


สำหรับกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดโรงพยาบาลบางเลน มีบุคลากรอยู่เพียง 3 คนคือพยาบาลจิตเวช 1 คน​ นักจิตวิทยา 1 คนและนักวิชาการสาธารณสุข​  1​ ขณะที่กลุ่มงานพยาบาลอื่นๆ เช่น OPD IPD ER รวมไปถึง ห้องคลอดมีพยาบาลมากกว่า 6 คนขึ้นไป 


งานของพยาบาลจิตเวช นอกจากการดูแลผู้ป่วยนอก แล้วยังมีผู้ป่วยในอีก​จำนวน​ 2​ เตียง​ ในโรงพยาบาล และยังต้องแบ่งเวลาช่วงบ่ายมาลงเยี่ยมชุมชน CBTx เพื่อติดตามการบำบัดผู้เสพ​กลุ่มสีเขียว​ และผู้ป่วยจิตเภทอื่นๆ​ ไม่ให้ขาดยา​ เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ก่อความรุนแรง​ 


ข้อเรียกร้อง กลุ่มพยาบาลจิตเวช


พยาบาลยาเสพติดที่ปฏิบัติในกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 775 แห่ง รวมตัวกับพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ.  ย้ำว่าปัจจุบันปัญหาผู้ป้วยโรคทางจิตเวช พบมากขึ้น ผู้ป่วยยาเสพติดมีอาการทางจิตมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อประชาชนในชุมชน


ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องใช้สมรรถนะของพยาบาลจิตเวช แยกโรคร่วมทางกาย ทางจิต การดูแลให้ครอบคลุม เพื่อให้ผู้ป่วยไม่มีอาการกำเริบ จนเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างและชุมชน เช่นผู้ป่วยได้รับการฉีดยาและรับประทานยาอย่างอย่างต่อเนื่องลดอาการกำเริบ กลับเป็นซ้ำในผู้ป่วย 


แต่ #กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด เป็นกลุ่มงานใหม่ มีพยาบาลผู้ปฏิบัติงานเพียงหน่วยละ 2-3 คน ซึ่งเป็นอัตราบุคลากรที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับงานที่มีความยาก ซับซ้อน มีความเสี่ยงอันตราย


การขาดบุคคลากรยังทำให้ขาดโอกาสเติบโต ก้าวหน้าในวิชาชีพทางการพยาบาล สร้างความขัดแย้งภายในองค์กรพยาบาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงเสนอ รมว.สธ. ให้เร่งจัดสรรอัตรากำลังให้เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด 


ตั้งเป้าผลิตพยาบาลจิตเวช 1,500 คนภายในปี 2570


อธิบดีกรมสุขภาพจิต ก็ยอมรับกำลังบุคคลากรสุขภาพจิตขาดแคลนสวนทางคนป่วย 2.9 ล้านคน จากข้อมูลความชุกของประชาชนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตสูงถึง 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน 


องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากความบกพร่องทางใจของผู้ป่วย 


นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด และผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 


จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อเทียบกับอัตรากำลังของบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดของประเทศยังมีความขาดแคลนไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 


ปัจจุบันมีจิตแพทย์อยู่ประมาณ 845 คน คิดเป็น 1.28 คนต่อแสนประชากร นักจิตวิทยา (คลินิก) มีประมาณ 1,037 คน คิดเป็น 1.57 คนต่อแสนประชากร และพยาบาลจิตเวช 4,064 คน คิดเป็น 6.14 คนต่อแสนประชากรเท่านั้น 


รัฐบาลเห็นชอบในหลักการให้มีการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพจิตและยาเสพติดเพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลา 5 ปี (2565-2570) โดยต้องผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 150 คน ผลิตพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มอีก 1,500 คนนักจิตวิทยาคลินิกเพิ่มอีก 400 คน นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางอีก 250 คน เภสัชเฉพาะทางอีก 150 คน 


โดยกรมสุขภาพจิตได้ประสานความร่วมมือกับราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางในการเพิ่มการผลิตจิตแพทย์สุขภาพจิตและยาเสพติด ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 


อัตราการป่วยไข้จนถึงขั้นจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เพิ่มขึ้น แภายใต้ข้อจำกัดด้านบุคลากรทางการแพทย์ กำลังทำให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้คือการ “คัดกรองสุขภาพจิตไ เพื่อดูแลอย่างเท่าทัน ป้องกันไม่ให้ต้องกลายเป็น ”ผู้ป่วย“ ที่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล 

ความคิดเห็น