บทเรียนชีวิตอร่อยปากลำบากไต สู่ แผนลดโซเดียมแห่งชาติ | เก็บตกจากวชิรวิทย์

 

สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค. ของทุกปีเป็น “วันไตโลก“ 
รู้ รักษา “ไต” ก่อนสายเกินแก้




“ไม่มีวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ในปฏิทินชีวิตพี่หายไปเลย มอบให้การฟอกไต มาถึงวันนี้ฟอกไตมาแล้ว 10 ปีแล้ว เขียนพินัยกรรมก่อนตายห้ามยื้อชีวิตอีกแล้ว เพราะฟอกไตคือการยื้อชีวิต แต่เราไม่คิดว่ามันจะยื้อมาได้เป็นปีเป็นชาติ นึกว่าเป็นไม่หายเดี๋ยวก็ตาย“ 

คำพูดตัดพ้อชีวิตของ ศิริพร เจริญโภคราช อายุ 56 ปี ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ต้องเดินทางไปฟอกไต ที่ศูนย์ฟอกไตเทียม มูลนิธิร่มไทร 3 วันต่อสัปดาห์แม้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะใช้สิทธิประกันสังคม แต่ต้องเสียค่าเดินทางด้วยรถแท็กซีไปกลับเดือนละเกือบ 3,000 บาท 

ศิริพร เจริญโภคราช ขณะกำลังฟอกไต

การฟอกไตแต่ละครั้ง กินเวลา 4 ชั่วโมง และทุกครั้งหลังฟอกไตเสร็จเธอจะมีอ่อนเพลียจนเดินแทบไม่ไหว การปรับตัวช่วงแรกหลังต้องกลายเป็นผู้ป่วยไตวายทำให้ ศิริพรเคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ในเมื่อยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็ต้องดิ้นรน และเมื่อป่วยก็ต้องลาออกจากงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น จึงต้องลดขนาดชีวิตลงเรื่อยๆ ด้วยการขายสินทรัพย์บางอย่าง และมาอยู่ห้องเช่าเล็กๆ ในเคหะร่มเกล้า พร้อมจ้างผู้ดูแล 

“ซ้อมนอนโลงไว้แล้ว ทุกครั้งที่ไปหาหมอตามนัดเพื่อเจาะเลือด  หมอบอกว่าค่าเลือดดีมากเลย คุมอาหารได้เก่งมาก ที่คุมอาหารไม่ใช่ว่าอยากคุม แต่ถ้ากินตามใจปาก จะเกิดอาการทันที มันทรมานมาก อาการเหมือนคนจมน้ำ” ศิริพร บอกกับ #เก็บตกวชิรวิทย์ พลางบ่นว่าอยากกินส้มตำรสเด็ด แต่ก็กินไม่ได้เหมือนก่อน หากจะกินต้องตำเองไม่ใส่ชูรส ใส่น้ำปลาได้นิดเดียว

ก่อนป่วย ศิริพร เคยเป็นผู้จัดการสายงานธุรกิจโลจิสติกส์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ งานที่หนักและต้องออนไทม์ตลอดเวลา ทำให้เธอไม่สามารถเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ บ่อยครั้งเธอตามใจตัวเองด้วยการกินอาหารอร่อยที่รสจัด มีผงชูรสสูง เหมือนให้รางวัลกับชีวิตหลังจากทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ใช้ชีวิตแบบนี้มาทุกๆ วัน กระทั่งเริ่มป่วยเป็นความดันโลหิตสูง ตามด้วยหลอดเลือดหัวใจตีบ พร้อมกับโรคเบาหวานในวัย 46 ปี จนในที่สุดน้ำท่วมปอด เกิดภาวะไตวาย จนต้องฟอกไตตลอดชีวิต

ศิริพร อยากให้เรื่องราวชีวิตของตัวเองเป็นบทเรียนให้ใครหลายคนได้ระมัดระวังอาหารการกินในชีวิตประจำวัน เพราะความเสี่ยงเล็กน้อยอย่างการกินตามใจปาก อาจนำมาสู่การเจ็บป่วยที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนไปตลอดชีวิต 

วิถีคนกรุง โซเดียมรอบตัว

การเป็นผู้ป่วยโรคไตใช้ชีวิตไม่ง่าย แม้จะดีกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ ธนพลธ์ ดอกแก้วนายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ป่วยที่ร่วมต่อสู่เพื่อการเข้าถึงสิทธิฟอกไตฟรีจาก 3 กองทุนสุขภาพไม่ปฏิเสธว่าทำให้ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคไตในภาพรวมเพิ่มขึ้น และมองว่าการป้องกันโรคนี้ยังเป็นโจทย์ท้าทาย 

ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย

โรคไตวายเป็นภัยเงียบ ปัญหาที่สำคัญคือเป็นโรคที่เกิดจากการกินซ้ำ ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว อาหารเค็มเป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนคืออาหารในร้านสะดวกซื้อมีโซเดียมสูง ก่อนเลือกซื้อแนะนำอ่านฉลากสักนิดว่า มีโซเดียมเท่าไหร่! 

ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562–2563 พบว่า ประชาชนในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยของการบริโภคโซเดียม เท่ากับ 3,496 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกือบ 2 เท่าของคำแนะนำองค์การอนามัยโลก 

และจากข้อมูลผลการสำรวจโซเดียมในอาหารผ่านระบบ Thai Salt Survey ของกรมควบคุมโรค ปี 2566 พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในอาหารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯอยู่ในระดับเค็มมาก หรือ 390 มิลลิกรัมต่ออาหาร 100 มิลลิลิตร 

การบริโภคโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และเป็นปัจจัยของโรคแทรกซ้อนอันตราย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน เทียบเท่าเกลือ 5 กรัม หรือ 1 ช้อนชา

นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ยังมองไม่ออกว่า หากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันยังเอื้อให้คนกินโซเดียมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เด็กจนโต จำนวนผู้ป่วยโรคไตจะลดลงได้อย่างไร ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของสังคมไทย กลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเผชิญ

ป่วยไตวายพุ่งล้านคน ค่าฟอกไตจ่อทะลุหมื่นล้าน

แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคไตขยับขึ้นจากหลักแสนคนในปี 2558 เป็นหลักล้านคนในปี 2560 แม้ช่วงปี 2563-2565 จำนวนผู้ป่วยโรคไตลดลงเล็กน้อยสาเหตุมาจากการเข้าไม่ถึงโรงพยาบาล ในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ในปี 2566 จำนวนผู้ป่วยโรคไตกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งอยู่ที่ 1,062,854 คน

ที่มา กระทรวงสาธารณสุข

5 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด ปี 2566

  1. อุบลราชธานี
  2. เชียงราย
  3. นครราชสีมา
  4. ขอนแก่น
  5. อุดรธานี

*ไม่รวมเขตสุขภาพ 13 กรุงเทพมหานคร ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่ งบประมาณที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเพื่อบำบัดทดแทนไต หรือฟอกไต ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

ปีงบประมาณงบประมาณที่ สปสช.จ่ายเพื่อบำบัดทดแทนไต
25603,857.8900 (ล้านบาท)
25618,165.8100 (ล้านบาท)
25628,281.7900 (ล้านบาท)
25639,405.6100 (ล้านบาท)
25649,720.2800 (ล้านบาท)
ที่มา: สปสช.

แผนลดโซเดียมวาระชาติ

จากแนวโน้มผู้ป่วยไตวายที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสังคมตามมาเป็นลูกโซ่ เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคซับซ้อนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ประเทศเสียทรัพยากรแรงงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันค่าใช้ด้านสาธารณสุขเพื่อดูแลสวัสดิการของผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะกองทุนบัตรทองเกือบทะลุหมื่นล้านบาทแล้ว สะเทือนความมั่นคงในระบบสาธารณสุข จนรัฐบาลต้องมีนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยลง 

ประเทศไทยมียุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียม พ.ศ. 2559 – 2568 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย “ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง 30% ภายในปี 2568” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ (SALTS) ได้แก่ 

  • S (Stakeholder network) พัฒนาและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 
  • A (Awareness) เพิ่มความรู้ความตระหนักและเสริมทักษะให้ประชาชน
  • L (Legislationand environmental reform) ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ 
  • T (Technology and innovation) พัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติ
  • S (Surveillance, monitoring, and evaluation) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม ประเมินผลตลอดกระบวนการ

เหลือเวลาอีกเพียง 2 ปีเท่านั้นก็จะถึงกำหนดที่ตั้งเป้าไว้ว่าประชาชนจะลดการบริโภคโซเดียมลง 30% นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค หนึ่งในภาคีเครือข่ายฯ ที่ร่วมในยุทธศาสตร์ฯ ยอมรับว่าไม่ง่าย จึงเริ่มปฏิบัติการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมอย่างจริงจังใน กทม. ก่อน เนื่องจากวิถีชีวิตของคนกรุง มักรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก อาหารปรุงสุกเป็นแหล่งของโซเดียมและไม่มีฉลากโภชนาการ จึงดำเนินการดังนี้

  1. โครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำ กรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนสูตรอาหารและให้ความรู้ผู้บริโภคในการลดโซเดียม คือลดปริมาณโซเดียมตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหาร 
  2. ให้มีการเฝ้าระวังเพื่อตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหารตามตลาดจะเป็นประโยชน์สำหรับการวัดผลการดำเนินงานและให้ความรู้แก่สาธารณชน จะวัดผลว่าทุกๆ การสื่อสารและความตระหนักรู้นั้นจะนำไปสู่การลดโซเดียมในอาหารที่ขายในตลาดกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร บอกว่า นำร่องโครงการตลาดพรีเมียมโซเดียมต่ำแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ 

  • ตลาดเวิลด์มาร์เก็ต  
  • ตลาดเสนีย์ฟู้ด  
  • ตลาดสามย่าน  
  • ตลาดเสรีมาร์เก็ต 
  • ตลาดฟู้ดวิลล่า 
  • ตลาดยิ่งเจริญ  
  • ตลาดศูนย์การค้ามีนบุรี  
  • ตลาดถนอมมิตร  

เชื่อว่าจะทำให้เกิดเมนูอาหารมากมายที่เป็นทางเลือกสุขภาพให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น ขั้นถัดไป ในปี 2567 คือขยายการดำเนินงานไปในโรงอาหารในโรงเรียน สถานที่ราชการ รวมถึงตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความพร้อม เพื่อหวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและไตวาย 

การแก้ปัญหาการบริโภคโซเดียมที่มากเกินไป ภาครัฐบอกว่า จะพยายามกระตุ้นพฤติกรรมการกินของประชาชนไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ที่ต้องนึกถึงสุขภาพของตัวเองด้วย !

ความคิดเห็น