เชื่อไม่เชื่อ? ไทยแหล่งแร่ลิเธียม ความฝันฮับ EV โลก | เก็บตกจากวชิรวิทย์

เรื่องจริงหรือปั่นกระแสเรียกนักลงทุนกันแน่ ตอนแรกก็นึกว่าเป็น “ข่าวดี“ หลังจากที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่อนข่าวแจกถึงนักข่าวทุกสำนักเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมาว่า ไทยพบ ”แร่ลิเธียม“ มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ล่าสุดสำรวจพบ “แร่โซเดียม” สำรองอีกจำนวนมาก หนุนไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรีEV ในภูมิภาค 




โดยมีศักยภาพ 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเรืองเกียรติ และแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา กว่า 14,800,000 ล้านตัน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ค้นพบ แร่ลิเธียม มากที่สุด รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา นอกจากนี้ยังค้นพบแหล่งแร่โซเดียม ในพื้นที่ภาคอีสานปริมาณสำรองอีกจำนวนมาก 


แร่ทั้งสองชนิดนี้ เป็นแร่หลักที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 100% เสริมศักยภาพความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอรี่ EV ในภูมิภาค ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็นฐานผลิตหลักของภูมิภาค คาดว่าจะเห็นการลงทุนทั้งซัพพลายเชนที่เป็นรูปธรรมภายใน 5 ปีนี้ จากปัจจุบันที่มีผู้ผลิตแบตEV เข้าลงทุนไทยแล้ว 7 ราย


ล่าสุดทั้งนักวิทย์ นักคณิต ภาคประชาชนตบเท้ากันออกมา ”เอ๊ะ“ เป็นเสียงเดียวกันว่าา ”จริงหรอ“ เริ่มจากในแวดวงราชการอย่าง จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) บอกว่า จากการสำรวจเบื้องต้นของกรมทรัพยากรธรณี พบว่าประเทศไทยมีศักยภาพของแร่ลิเทียม แต่ปริมาณนั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรามีมากเป็นอันดับ 3 ของโลกหรือไม่ หากสำรวจแล้วพบว่าเรามีศักยภาพของแหล่งแร่ลิเทียมจริง ก็จะเป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ในการดำเนินกิจกรรมด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ต่อไป




ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ไม่น่าจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ตัวเลข 14.8 ล้านตันที่เป็นข่าวกัน ว่าเยอะเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เป็นปริมาณของหินแร่ที่ชื่อว่า หินเพกมาไทต์ ซึ่งมีธาตุลิเทียมปะปนอยู่ เฉลี่ย 0.45% และจะต้องนำมาถลุงสกัดเอาลิเทียมออกมาก่อน เมื่อคำนวณคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6-7 หมื่นตัน แค่นั้นเอง 


ถ้าเอาตัวเลข 6.66 หมื่นตันเป็นตัวตั้ง ว่าประเทศไทย ณ ขณะนี้ มีปริมาณธาตุลิเธียมที่น่าจะผลิตออกมาได้จากหินเพกมาไทด์ ไปเทียบกับข้อมูลแหล่งลิเธียมของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ USGS หรือ สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการไว้ล่าสุด ในปี 2023 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ายังห่างไกลจากประเทศ Top10 อื่นๆ เป็นอย่างมาก


ด้าน อ.ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์คำนวณ ระบุ หยุดแหกตา โกหกประชาชน!! เรื่องแหล่งแร่ ลิเธียม ที่พังงา 1. สินแร่(หิน) Lepidolite 25 ล้านตัน ไม่ใช่ลิเธียมออกไซด์ 25 ล้านตัน ตามที่ตีข่าวใหญ่โต มีลิเธียมออกไซด์ ไม่เกิน 0.45% ของหินชนิดนี้ ที่แหล่งนี้ 2. แหล่งเล็กมาก ต่อให้เอา 2 แหล่ง และต่อให้มีหินแร่รวมกัน 25 ล้านตัน ก็คาดว่าขุดหินแร่มาใช้ได้อย่างเก่งแค่ 10 ล้านตัน ถ้าแยกแร่ได้ดีเยี่ยม ก็เหลือลิเธียมออกไซด์ไม่เกิน 3 หมื่นตัน 


และ 3. ที่สำคัญสุดคือเกรดห่วย ต่อให้นำสินแร่ขึ้นมาได้ ยกสินแร่ให้ผมฟรี ๆ ผมก็ไม่เอาครับ เพราะเกรดต่ำมาก 0.45% ปรกติเกรดที่คุ้มค่าการลงทุนแต่งแร่ คือ 0.9% ค่าสกัดให้เป็นลิเธียมออกไซด์ ต่อตันอาจแพงกว่าราคานำเข้าเสียอีก ประมาณว่า แหล่งนี้ต้องใช้หินแร่(สินแร่)ถึง 300 ตัน จึงจะสกัดลิเธียมออกไซด์ได้ 1 ตัน


ข่าวขุมทรัพย์โคตรแร่ โลกตะลึงนี้ เหมือนขุมทองทหารญี่ปุ่นที่เมืองกาญจน์ หรือเป็นข่าวปั่นหลอกนักลงทุน?


ส่วนนายไมตรี จงไกรจักร นายกสมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข บอกว่า ตนไม่เชื่อว่า พังงาจะเป็นแหล่งแร่ลิเทียมขนาดใหญ่ คาดว่าข้อมูลดังกล่าวถูกปล่อยออกมาเพื่อสร้างกระแส ในสมัยก่อนพังงาก็เป็นพื้นที่เหมืองแร่ รายได้จากการทำเหมืองแร่ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เพราะรายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่เฉพาะคนบางกลุ่มที่มาลงทุนทำเหมืองเท่านั้น โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ไม่ได้ตกถึงชาวบ้านและชุมชนอย่างแท้จริง 


#เก็บตกจากวชิรวิทย์ 

ความคิดเห็น