“เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โจทย์ยากการคลังประเทศ | เก็บตกจากวชิรวิทย์
เมื่อความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
ต้องแลกกับความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย
นับว่าปิดฉากการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบ “ถ้วนหน้า” ที่ดำเนินมากว่า 14 ปี หลังหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่เผยแพร่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 11 ส.ค. 2566 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามที่กฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด”
ย้อนกลับเมือช่วงปี 2564-2565 มีกรณีข่าวเรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุหลายราย หนึ่งนั้นคือ “ยายบวน” บวน โล่ห์สุวรรณ อายุ 89 ปี เป็นชาวบ้านใน ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติจ.บุรีรัมย์ แจ้งว่ากรมบัญชีกลางมีหนังสือเรียกเก็บเงินเบี้ยผู้สูงอายุคืนรวมดอกเบี้ย เป็นเงินจำนวน 84,000 บาท เนื่องจากได้รับบำนาญ กรณีลูกชายเป็นทหารเสียชีวิตจากเหตุคลังแสงระเบิด ที่สุดแล้วยายบวนต้องคืนเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ “ยายบวน” เพียงคนเดียว แต่เกิดทั้งประเทศ มีการเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุนับหมื่นราย หลังจากกระทรวงการคลังพบว่ามีการรับสิทธิทับซ้อนกับเงินบำนาญส่วนอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ โดยเป็นการเรียกคืนย้อนหลังไปจนถึงปี 2552 บางรายต้องนำส่งคืนตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสน
กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงทำหนังสือสอบถามปัญหากฎหมายไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 ประเด็น 1.ขอหารือว่าผู้สูงอายุจะรับสิทธิ์ประโยนช์จากหน่วยงานของรัฐมากกว่า หนึ่งทางได้หรือไม่ 2. ถ้าผู้สูงอายุรับสิทธิประโยชน์ได้หลายทาง เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เรียกคืนมาจะทำอย่างไร และ 3.การรับสิทธิประโยชน์หลายทาง จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ จ่ายอย่างไร
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบกลับ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นหนังสือลงวันที่ 17 พ.ค. 2564 ว่า 1.ผู้สูงอายุมีสิทธิ์รับประโยชน์ได้หลายทาง 2.ให้คืนเงินเบี้ยผู้สูงอายุที่เรียกคืนมาโอนกลับที่ไปเจ้าตัวได้ และ 3.ตอบไปแล้วในข้อที่ 1
หากดูตามนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่นอกเหนือคำตอบ 3 ข้อ มีข้อเสนอแนะ ที่ระบุว่า …
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรรีบดำเนินการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ โดยเงื่อนไขในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพนั้น จะต้องจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ซึ่งการพิจารณาว่ารายได้จำนวนเท่าใดจะถือว่าไม่เพียงพอต่อการยังชีพ อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น จำนวนรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลของสรรพากร หรือจำนวนรายได้ตามเส้นแบ่งความยากจนจากฐานข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือจำนวนเงินตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนดตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสอดคล้องกับมาตรา 48 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 11 (11) และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ
กรมกิจการผู้สูงอายุ ก็สำเนาและส่งหนังสือเวียน ไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก็ตอบรับทันที มานำสู่การแก้ระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในที่สุด
ระเบียบข้อนี้ มีผลแล้วนับตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2566 แต่ กรมกิจการผู้สูงอายุ บอกว่าอย่าตกใจ ผู้สูงอายุที่รับสิทธิประโยชน์หลายทาง ยังได้รับเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่ผู้สูงอายุกลุ่มใหม่ อายุ 60 ปีหลังวันที่ 12 ส.ค. 2566 จะเป็นกลุ่มที่ต้องพิจารณาตามระเบียบหลักเกณฑ์ใหม่ คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพฯ
สร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัชดา ธนาดิเรก อธิบายการตัดสินใจครั้งนี้แทนรัฐบาลรักษาการว่า ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาท ต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาทแล้ว ในปีงบประมาณ 2567
ดังนั้นการลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวยเพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว
สอดคล้อง กับการย้อนถามสังคม ของ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่” ตนก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าตนควรได้ไหม ตนมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าตนควรได้ไหม นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ และอยู่ที่รัฐบาลใหม่จะเอาอย่างไร
![เบี้ยผู้สูงอายุ](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/08/230815-%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B81-819x1024.jpg)
ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงวัย คนธรรมดา – ข้าราชการ
หากพิจารณาข้อมูลจากสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี เปรียบเทียบ “งบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” กับ “เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ” ในปีงบประมาณ 2566 พบว่า จำนวนผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพฯ ตอนนี้ มีจำนวน 11.03 ล้านคน ใช้เงิน 87,580.10 ล้านบาท ขณะที่ งินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการจำนวน 8.1 แสนคน ใช้เงินสูงถึง 322,790 ล้านบาท
![](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/08/IMG_7264-1024x575.jpeg)
ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าเหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือ รัฐบาลเจตนานั่งทับไว้ เพราะกลัวว่า คนกลุ่มน้อยที่กอบโกยผลประโยชน์บนยอดปีรามิด จะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่าอนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ
ขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น