รถไฟความเร็วสูง แลกอยุธยามรดกโลก? ตอนที่ 3 | เก็บตกจากวชิรวิทย์

เงื่อนไขของการอนุรักษ์
เมื่อรถไฟความเร็วสูงกำลังเข้าใกล้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์



พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย แต่เมื่อพูดถึง “พระนครศรีอยุธยา” ภาพของโบราณสถาน วัดวาอาราม ยังคงปรากฏเด่นชัดทั้งในความทรงจำ และร่องรอยของอยุธยาในทางโบราณคดี ซึ่งรวมถึงเมืองเก่า “อโยธยา” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

กาลเวลาผ่านไป การพัฒนาอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงขยับเข้ามาใกล้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์มากขึ้น หากมองเชิงการอนุรักษ์อาจทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีหลายคนเป็นห่วง ‘อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา’ ที่ยูเนสโกรับรองให้เป็น ‘มรดกโลก’

Save อโยธยา

ในฐานะ “คนทำงานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี”

นักวิชาการและนักอนุรักษ์เครือข่าย Save อโยธยา ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาด้านคมนาคม เพียงแต่มีมุมมองว่าเส้นทางที่โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้เลือกผ่าน อาจกระทบต่อโบราณสถาน ทั้งที่เป็นมรดกโลกและไม่ได้เป็นมรดกโลก…

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยอมรับว่ารถไฟความเร็วสูงจำเป็น  และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะไทยเสียโอกาสมานานจากปัญหาการเมือง

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

แต่ พิพัฒน์ มองว่าปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง มีช่วงระยะทางการวิ่งประมาณ 13.5 กิโลเมตร ซึ่งผ่านเมืองโบราณอโยธยา ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก รวมถึงพื้นที่วัดอโยธยา วัดมเหยงคณ์ จนไปถึงวัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิงวรวิหาร หากมองในระดับสากล มีน้อยครั้งมากที่จะมีการสร้างเส้นทางรถไฟตัดผ่านเมืองโบราณ 

แม้เมืองโบราณอโยธยาอาจไม่ใช่มรดกโลกอย่างเป็นทางการ แต่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์คาบเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ถึงจะเป็นพื้นที่นอกเกาะเมือง แต่ก็มีหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ พิพัฒน์ ยังพูดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและโบราณสถานว่า โครงการก่อสร้างนี้อยู่ใกล้แนวชุมชนอีกหลายแห่ง ซึ่งพื้นที่การสร้างรางรถไฟความเร็วสูง มีการขยายมากกว่า 40 เมตร ชุมชนอาจถูกไล่รื้อ เวนคืนที่ทำกิน ส่วนโบราณสถาน 2 แห่งที่ติดแนวรางรถไฟ คือ ‘วัดวิหารขาว’ ที่มีเจดีย์รอการบูรณะอยู่ และ ‘วัดหลวงพ่อคอหัก’ เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเช่นกัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างของวัดได้

สอดคล้องกับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “ไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ” แต่ในฐานะของคนทำงานด้านโบราณคดี เขาไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ไปได้

          “เราไม่ปล่อยผ่านไปเฉย ๆ โดยจรรยาบรรณของคนทำงานโบราณคดีต้องบอกว่า มันกำลังจะถูกทำลาย”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

Save อโยธยา
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

สิ่งที่ ศิริพจน์ รู้สึกแย่ คือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าพื้นที่ที่รางรถไฟจะผ่านนั้น คือ เมืองโบราณ และเพิ่งเริ่มมีการสำรวจแล้วพบว่ามีแนวคูน้ำคันดินในพื้นที่เมืองเก่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1893 ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ซึ่งโดนทำลายและรุกล้ำไปเยอะแล้ว เนื่องจากไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของมรดกโลก 

เขายังห่วงเรื่องการนำเสาตอหม้อลงดิน ซึ่งต้องขุดดินขึ้นมาหลายตัน สิ่งนี้ถือเป็น “การขุดหลักฐานทางโบราณคดีทิ้งทั้งหมด”

นักวิชาทั้งสองเน้นย้ำ คือ ‘ต้องหาทางออกร่วมกัน’ เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ และความคุ้มค่า เพราะหากสูญเสียโบราณสถานไป ก็ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้…

โลกทัศน์ของการอนุรักษ์ เพื่อ Save อโยธยา

พิพัฒน์ ให้นิยาม ‘โลกทัศน์’ เกี่ยวกับการถกเถียงเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงกับพื้นที่โบราณสถานว่า มีโลกทัศน์อยู่ 2 แบบ แบบแรก คือ มองโบราณสถานในมุมของความโรแมนติก ซึ่งให้ความสำคัญและคุณค่าของความดั้งเดิม ในลักษณะนี้เกิดการปฏิเสธ เมื่อเริ่มมี ‘สิ่งใหม่เข้ามาแทรกกับสิ่งเก่า’ ส่วนแบบที่สอง มองว่า การพัฒนานั้นควรเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์โบราณสถาน

ประเด็นสำคัญอย่างเรื่องทัศนียภาพนั้น ในสายตาของอนุรักษ์ พิพัฒน์ ‘ไม่อยากให้มีอะไรแปลกปลอม’ บางคนก็อาจคุ้นเคยกับภาพโบราณสถานตั้งอยู่ใกล้กับการก่อสร้างของใหม่ โดยยกตัวอย่าง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการสร้างตึกอยู่ใกล้กับเจดีย์เก่า หรือวัดที่รายล้อมไปด้วยตึก ซึ่งทัศนียภาพแบบนี้ การมองว่าสวยหรือไม่สวยเป็นเรื่องที่ตัดสินยาก ขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน

ส่วนกรณีอย่าง หลวงพระบาง ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก นักท่องเที่ยวไปเพราะอยากดูทัศนียภาพ และความดั้งเดิมของเมือง จึงต้องนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน สร้างทางรถไฟให้อยู่ตามแนวภูเขา มีการทำถนนเชื่อมต่อเข้าเมืองระยะทาง 10 กิโลเมตร แต่กรณีอยุธยา พื้นที่นั้นห่างไม่ถึง 5 กิโลเมตร และสามารถมองเห็นได้จากวัดราชบูรณะ ซึ่งความเสี่ยงนี้จะแก้อย่างไร

“การสร้างรางรถไฟไม่เหมือนการสร้างตึก อาคาร ซึ่งรื้อง่าย แต่การรื้อทางรถไฟ รื้อไม่ได้ จึงต้องคิดให้ดี เพราะสร้างแล้วสร้างเลย”

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

ประเด็นความคิดเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดียที่มีหลายมุมมองว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง ผูกกับเงี่อนไขเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง หลายคนมองว่า การมีรถไฟความเร็วสูง คือการนำความเจริญมาสู่พื้นที่ ให้คุณค่าว่าสิ่งนี้จะทำให้ปากท้องของคนในพื้นที่ดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่อาจหลงลืมบางประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน 

“บ้านเรามีปัญหาเรื่องหนึ่ง คือ เวลาทำโครงการขนาดใหญ่ไม่ค่อยทำประชาพิจารณ์อย่างจริงจัง ทำให้เสียงทัดทานจากคนส่วนน้อยไม่ถูกเอามาทบทวน แก้ไข ปรับปรุง ปัญหาคลาสสิก คือทำอย่างไรให้คนเสียงเล็ก ได้มีผลต่อการตัดสินใจอย่างรอบคอบ

เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโบราณสถานควรได้รับการอนุรักษ์ ยิ่งสถานที่เหล่านั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากเพียงใด ควรระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น การทำประชาพิจารณ์และการรับฟังความคิดเห็นในหลากหลายมุมจึงสำคัญ… และหากโบราณสถานนั้นได้รับรองว่าเป็นมรดกโลก ยิ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

‘มรดกโลก’ ไม่ได้เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ได้พูดถึงข้อกังวลที่ทางยูเนสโกมีต่อความเป็นมรดกโลก จึงนำไปสู่การเสนอให้ทำ HIA (Heritage Impact Assessment) หรือรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทย จากการศึกษาประเด็นปัญหานี้ ศิริพจน์ มีความกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกมีมรดกโลก เพียง 4 แห่ง ที่ถูกถอดถอน

ในกรณีของอยุธยานั้น อาจใกล้เคียงกับเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี และเมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลกในพื้นที่เขตเมือง แต่เกิดการสร้างสิ่งปลูกสร้างทับลงไป ซึ่งถือเป็นการทำลายลักษณะดั้งเดิมของพื้นที่นั้น

ในกรณีเมืองเดรสเดน มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขึ้นเพียงแห่งเดียว ซึ่ง ศิริพจน์มองว่า ไม่ได้บดบังทัศนียภาพมากนัก แต่ก็ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก ส่วนกรณีเมืองลิเวอร์พูล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก บริเวณปากน้ำเมอร์ซีย์ ที่มีกลุ่มทุนเข้ามาสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจ มีการสร้างสนามแห่งใหม่ของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันทับท่าเรือแห่งหนึ่ง และทำลายภูมิทัศน์ดั้งเดิมของปากน้ำเมอร์ซีย์ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์อันสำคัญของเมือง จึงถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกในที่สุด

“เขามอบตราที่บอกว่าเป็นมรดกของคนทั้งโลก ไม่ใช่ของชาติใดชาติหนึ่ง”

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เขาพูดทิ้งท้ายว่า “ทำไมคนเขาอยากเป็นมรดก” เพราะการที่ประเทศไทยมีมรดกโลก จะได้รับสิทธิป้องกันพื้นที่ หากเกิดสงครามจะได้รับการปกป้องจากทุกชาติ และสิ่งที่ไทยไม่เคยใช้ประโยชน์จากการเป็นมรดกโลก คือ การหาแหล่งทุนวิจัย การศึกษางานเพื่อนำมาบูรณะพื้นที่ ซึ่งไทยกลับไม่ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้มากเท่าที่ควร ….

มุมมองของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ทั้งสอง คงฉายให้เห็นภาพแล้วว่าการมีอยู่ของ ‘โบราณสถาน’ และพื้นที่ ‘มรดกโลก’ นั้นมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร และการถูกถอดถอนจากมรดกโลกอาจทำให้บริบทของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์นั้นเปลี่ยนและลบล้างความดั้งเดิม ถ้าปล่อยให้การพัฒนามาเบียดบังการอนุรักษ์จนเกินไป หากไม่คำนึงถึงผลประโยชน์แต่ละด้านอย่างรอบคอบ ไม่แน่ว่าความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนออกจากการเป็นมรดกโลกอาจเกิดขึ้น แต่ก็คงไม่มีใครอยากให้ไปถึงจุดนั้น

ความคิดเห็น