ทำความรู้จัก Bangkok Health Zoning | เก็บตกจากวชิรวิทย์
หลังทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพ กทม.มาเกือบปี
ก่อนที่ 20 รพ.ต่างสังกัดจะเซ็น MOU ร่วมพัฒนา 7 โซนสาธารณสุข กทม.
การทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. แก้ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกรุงเทพ หลังจากได้บทเรียนโควิด-19 คนกรุงกลายเป็นคนด้อยโอกาสที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ช้ากว่าคนต่างจังหวัด เป็นนโยบายสุขภาพดี 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดีที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ปักธงหลังจากชนะการเลือกตั้งวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดยเริ่มนำร่องทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพใน 2 พื้นที่ คือ 1.ราชพิพัฒน์โมเดล ครอบคลุม เขตทวีวัฒนา บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และตลิ่งชัน และ 2.ดุสิตโมเดล ครอบคลุม เขตดุสิตพระนคร บางชื่อ และบางพลัด
หลังจากการทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพจากทั้งสองแห่งมานานเกือบปี “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านสาธารณสุข บอกว่ามาถูกทาง ทลายกำแพงเชิงโครงสร้างทั้งสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ จากเดิมที่ทำงานแยกส่วน เป้าหมายสำคัญ คือการพัฒนาระบบปฐมภูมิ หรือหน่วยการรักษาพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยให้แข็งแรง ประชาชนสามารถเข้าถึงการให้บริการได้ง่ายขึ้น ช่วย ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
![](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/06/IMG_6220-1024x683.jpeg)
1. กรุงเทพ ตะวันตก
Health Zone Manager: โรงพยาบาลราชพิพัฒน์
Mentor Manager: โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน, โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 8 แห่ง ครอบคลุม เขตทวีวัฒนา ตลิ่งชันบางแค ภาษีเจริญหนองแขม บางบอน บางขุนเทียน
2. กรุงเทพ ฝั่งธนบุรี
Health Zone Manager: โรงพยาบาลตากสิน
Mentor Manager: โรงพยาบาลศิริราช
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุม เขตบางกอกน้อยบางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง
3. กรุงเทพ ใต้
Health Zone Manager: โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
Mentor Manager: โรงพยาบาลเลิดสิน (สธ.) , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (รร.แพทย์)
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 18 แห่ง ครอบคลุม เขตปทุมวัน สาทร บางรักวัฒนา คลองเตยพระโขนง ยานนาวา บางคอแหลม ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ
4. กรุงเทพ ชั้นใน
Health Zone Manager: โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
Mentor Manager: –
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่ง ครอบคลุม เขตบางซื่อ บางพลัด ดุสิตพระนคร
5. กรุงเทพ กลาง
Health Zone Manager: โรงพยาบาลกลาง
Mentor Manager: โรงพยาบาลรามาธบดี (รร.แพทย์) ,โรงพยาบาลราชวิถี (สธ.)
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 9 แห่ง ครอบคลุม เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายสัมพันธวงศ์ พญาไท ราชณเทวี ดินแดง ห้วยขวาง
6. กรุงเทพ เหนือ
Health Zone Manager: โรงพยาบาลกลาง
Mentor Manager: โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (ทอ.), โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ(เอกชน)
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง ครอบคลุม เขตดอนเมือง สายไหมหลักสี่ บางเขน จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง
7. กรุงเทพ ตะวันออก
Health Zone Manager: โรงพยาบาลสิรินธร
Mentor Manager: โรงพยาบาลลาดกระบัง, โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี (รร.แพทย์)
Area Manager: ศูนย์บริการสาธารณสุข 14 แห่ง ครอบคลุม เขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง คันนายาว สะพานสูง ประเวศ บางนา สวนหลวง บางกะปิ บึงกุ่ม
![](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/06/IMG_6218-1-1024x820.jpeg)
นี่เป็นหน้าตาคร่าวๆ ของ Bangkok Health Zoning ซึ่งจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการหรือ Workshop ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 7-8 มิถุนายน 2566 เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ ออกแบบการทำงานร่วมกัน และตกผลึกไปในทิศทางเดียวกัน
หลังจากนั้นจะร่วมกับลงนามบันทึกข้อตกลง หรือ เซ็น MOU ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หรือ ต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นการนับหนึ่งระบบสาธารณสุขกรุงเทพมหานครแนวใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หวังให้คนกรุง เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความท้าทายอยู่ที่การทำงานโดยไม่มีกำแพงด้านสังกัด “รศ.ทวิดา กมลเวชช” ยอมรับการ กรุงเทพมหานครไม่มีกำลังมากพอทีทำเรื่องสาธารณสุขได้เพียงลำพัง ด้วยขนาดพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากร ความซับซ้อนในเรื่องการสิทธิสุขภาพแต่ละกองทุน จำเป็นต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย
เบื้องต้นมี 20 โรงพยาบาล ประกอบด้วย 3 โรงพยาบาล สำนักการแพทย์ กทม., 3 โรงพยาบาล สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, 3 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย(โรงเรียนแพทย์), 3 โรงพยาบาลเอกชน และ 1 โรงพยาบาลทหารอากาศ
![](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/06/IMG_6219-1024x677.jpeg)
กว่าจะเป็น Bangkok Health Zoning
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ สำนักงานพัมนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) หนึ่งคณะทำงานการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิ กรุงเทพมหานคร เล่าว่าตลอดระยะเวลาเกือบปีที่มีการทดลอง Sandbox ระบบสุขภาพ กทม. มี 2 ประเด็นหลักที่ถูกรื้อขึ้นมา 1. การเอานวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ในระบบสุขภาพ และ 2 การหาโรงพยาบาลมาเป็นแม่ข่าย ซึ่งความพยายามดังกล่าวนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
นอกจากนี้ยังมีความพยายาม ดึงภาคเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น เข้ามาอยู่เป็นลูกข่ายเชื่อมกับโรงพยาบาลแม่ข่ายทำให้การเข้าถึงบริการมีระบบมากยิ่งขึ้น ต่างจากในอดีตที่แยกส่วนกัน
“จริงๆแล้วความพยายามสร้างระบบสุขภาพ กทม. ให้เชื่อมกัน ไม่ได้พึ่งทำในช่วงที่นายชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม. แต่มีความพยายามมานาน ล้มลุกคลุกคลานหลายสิบปีเพราะเป็นความพยายามจากคนนอก เข้ามาจัดทำระบบ แต่ว่าการจัดการครั้งนี้เป็นความพยายามจากคนใน คือเป็นนโยบาย ของกรุงเทพมหานคร ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะประสบความสำเร็จ”
![](https://theactive.net/wp-content/uploads/2023/06/84A67B84-8A6E-48DE-810F-8B46DC6718DB-1024x683.jpeg)
เขาเชื่อว่า การพัฒนาจาก Sandbox ระบบสุขภาพไปสู่ Bangkok Health Zoning เป็นสัญญาณที่ดี สำหรับการสร้างระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครให้กลับมาเข้มแข็งโดยเฉพาะ Area Manager หน่วยบริการปฐมภูมิ ที่จะต้องเข้าไปดูแลประชาชนในลักษณะเส้นเลือดฝอย แต่อาจมีความท้าทายอยู่ไม่น้อย เมื่อลงไปรายละเอียดในเชิงศักยภาพของศูนย์บริการสาธารณสุขเอง จะมี คน-เงิน-ของ เพียงพอกับภาระกิจในการทำงานเชิงรุก หรือไม่ จึงมีข้อเสนอ 4 ข้อดังต่อไปนี้
- ทรัพยากร ทั้งบุคลากร และงบประมาณจะต้องเพิ่มไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อให้มีคนออกไปดูแลประชาชนที่ติดบ้านติดเตียง เพื่อทำให้การทำงานเชิงรุกเป็นไปได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
- ต้องเปิดข้อมูลให้ผู้จัดการพื้นที่ทุกระดับไม่ว่าจะเป็น Mentor Manager หรือ Area Manager รับทราบข้อมูลร่วมกัน จะสามารถติดตามการทำงาน ได้
- กลไกทางการเงิน อาจจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการจ่ายเงิน จะต้องแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน หรือไม่ก้อนสำหรับในการบริหารจัดการของหน่วยบริการและ ก้อนที่เป็นในส่วนของการเบิกไปยัง สปสช.
- กรุงเทพมหานคร ไม่ได้มีอำนาจมากถึงขนาดครอบคลุมในการจัดการระบบสาธารณสุขทั้งระบบเพราะมีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลายสังกัด จำเป็นต้องหากลไกมาช่วยบริหารจัดการให้เป็นทิศทางเดียวกัน อาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีพรรคการเมืองเสนอจะสร้างโรงพยาบาลให้ครบทั้ง50 เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักวิชาการยอมรับว่าบางเขตขาดโรงพยาบาลจริง เห็นได้จากผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในกรุงเทพมหานครราว 1.9 แสนคน ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลรับส่งต่อ แต่ก็เป็นเพียงบางเขตเท่านั้น ซึ่งอาจจะสร้างโรงพยาบาลในเขตที่ยังขาดแคลน แต่อาจไม่จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลครบทั้ง 50 เขต.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น