ถอดบทเรียนชีวิต นักข่าวสาธารณสุข | เก็บตกจากวชิรวิทย์

วันที่ 5 มีนาคม 2566 วันนักข่าว



วชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย 

ผู้สื่อข่าวด้านสาธารณสุข ThaiPBS 



นับวันแล้วก็ครบ 9 ปีของการทำอาชีพนักข่าว ถ้านิยามสายงานที่ตัวเองทำกว้างๆ ก็คงเป็นนักข่าวสังคม หรือบางแห่งเรียกว่าข่าวคุณภาพชีวิต  แม้จะเคยแวะเวียนไปทำข่าวเศรษฐกิจแต่ก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในช่วงเวลา 3-4 ปีหลังผมเป็นนักข่าวสังคมด้านสาธารณสุขอย่างเต็มตัว โดยมีการระบาดของโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยน 


แต่ก็ไม่ใช่ว่าในช่วง 6 ปีก่อนหน้านั้นจะไม่เคยทำข่าวสาธารณสุขเลย เพราะข่าวสาธารณสุข ก็เป็น subset หนึ่งของข่าวสังคม เรามีโอกาสได้ติดตามเรื่องราวในแวดวงสาธารณสุขที่เป็นประเด็นใหญ่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง  และจะว่าไปแล้ว..ข่าวชิ้นแรกที่ปรากฏตัวบนหน้าจอโทรทัศน์ก็คือข่าวการสร้างโรงงานวัคซีนที่จังหวัดฉะเชิงเทราเมื่อ 9 ปีก่อน




หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็จะติดตามโรคระบาดใหม่ไม่ว่าจะเป็นโรคมือโรคซาร์สโรคเมอร์ส  รวมถึงโรคระบาดที่ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ อย่างไข้เลือดออกที่ ปอทฤษฎี เสียชีวิต จึงได้ทำรายงาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่สามารถผลิตได้ ขณะในยุค 6-7 ปีที่แล้วการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ยังคงรุนแรงอยู่ รวมไปถึงข้อถกเถียงเรื่องกองทุนบัตรทองในช่วงยุคคสชที่เคยมีประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย จะทำให้การเข้าถึงระบบสุขภาพไม่เท่าเทียม เป็นต้น 






ในช่วงปีแรกที่เริ่มต้นทำงานที่ไทยพีบีเอสเมื่อปี 2563  เข้ามาด้วยสถานการณ์โควิด-19 และได้รับมอบหมายให้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากที่โรคโควิดเริ่มเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ก็ได้ขยับมาทำข่าวสาธารณสุขในมุมที่ลึกขึ้น ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรคตามชายแดนเป็นสิ่งจำเป็นสิทธิ์สุขภาพของคนไร้สถานะ สุขภาพปฐมภูมิกรุงเทพมหานครที่หายไป และล่าสุดบทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้น 





ถ้าจะบอกว่าเป็นการเลือกมาทำข่าวสาธารณสุขเลยคงไม่ใช่ แต่เป็นการจัดสรรมากว่า เพราะเป็นลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายเมื่อแรกเข้ามาที่ไทยพีบีเอส เป็นภารกิจในช่วงระบาดของโควิด ซึ่งสมัยอยู่เนชั่นทีวีทำข่าวสิ่งแวดล้อมมากกว่าข่าวสาธารณสุข แต่พอได้มาจับข่าวสาธารณสุขแล้ว ก็ไม่สามารถวางมือได้และทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้


หน่วยบริการปฐมภูมิ


หน่วยบริการทุติยภูมิ

หน่วยบริการตติยภูมิ



 …มาถึงทุกวันนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะเลือกแล้ว


เลือกแล้ว หมายความว่ามาพร้อมกับความรู้สึกว่าเป็นหน้าที่โดยอัตโนมัติ เป็นความภาคภูมิใจ และอีกแง่มุมหนึ่งเป็นการเติบโตในวิชาชีพที่ได้ทำอะไรที่เฉพาะทางมากขึ้น มีเวลาที่จะติดตาม ที่จะอยู่กับมันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น มากกว่าการทำงาน routine 


อย่างไรก็ตามในโอกาสที่วันนี้เป็นวันนักข่าว นักข่าวหลายคนคงมีความภาคภูมิใจในบทบาทที่ตัวเองกำลังทำอยู่ ซึ่งหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะทำข่าวสายไหน ข่าวประเภทไหน หรือข่าวแบบไหน ล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ร่วมประกอบสร้าง ขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันทั้งหมด แต่ในมุมของคนทำข่าวสาธารณสุขก็รู้สึกเช่นกันว่าได้ช่วยเหลือคนทั้งทางตรงและทางอ้อมมาหลายกรณี


การเข้าถึงระดับศาสตราจารย์แพทย์ นักข่าวอย่างเรา ยกหูหาคุณหมอได้น่าจะเข้านิยามของคำว่า “ฐานันดรสี่ ที่ชัดเจนที่สุด ข่าวของเราไม่ได้ไปถึงตัวผู้มีอำนาจมากนัก แต่ข่าวของเราต้องใกล้ชิดกับคุณหมอที่เป็นระดับแนวหน้าของประเทศ ที่ไม่ได้ทำแค่เรื่องวิธีการรักษาโรค แต่เป็นผู้วางนโยบายระบบสาธารณสุขไปพร้อมๆกัน ซึ่งค่อนข้างมีความซับซ้อน และเป็นงานยากทีเดียว ขณะที่วัฒนธรรมองค์กรของวงการสาธารณสุข ลึกๆแล้วผมเชื่อว่า ไม่มีความเป็นอำนาจนิยมมากจนเกินไป 





การได้ใกล้ชิดกับคนเก่งๆ ทำให้เราเรียนรู้วิธีคิด ผมเคยบอกเพื่อนนักข่าวว่าการเขียนข่าวสาธารณสุขถ้าไม่นับเรื่องคำศัพท์เฉพาะทาง ก็ต้องบอกว่าเขียนง่ายเพราะเวลาคุณหมอให้สัมภาษณ์เขาจะเรียงคำเรียงประโยคออกมาได้ค่อนข้างที่จะเป็นขั้นเป็นตอน จดจำง่าย จะสังเกตได้ว่าข่าวสาธารณสุขจะเขียนออกมาเป็นข้อๆ 1, 2, 3 เป็นส่วนใหญ่เพื่อให้คนเข้าใจง่าย เราก็มักจะนำวิธีการลำดับเรื่องยากให้มันเป็นเป็นข้อๆแบบนี้มาใช้ในชีวิตได้เหมือนกัน


และดูเหมือนว่าจะเป็นลักษณะร่วมของคุณหมอหลายท่านที่ได้เจอ คือจะมีความเข้าใจคนอื่น อาจเพราะด้วยหน้างาน ต้องทำความเข้าใจคนไข้ เข้าใจถึงความเจ็บปวดเข้าใจถึงความต้องการที่บางทีคนไข้อาจจะไม่ได้พูดออกมา แต่จะต้องตีความให้ได้บนหลักวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษา ก็คือการแก้ปัญหา ซึ่งกระบวนการซ้ำๆที่มันเกิดขึ้นมาแบบนี้ มันเลยสอนให้เราทำความเข้าใจคนอื่นเข้าใจถึงความต้องการของคนอื่น บางทีเราใจเย็นลง บางที่หยุดคิดมากขึ้น และเข้าใจคนอื่นมากขึ้น 


หลายครั้งที่หลังจากจบการสัมภาษณ์ เมื่อกดกล้องหยุดเรคคอร์ด ได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอหลายคน คุยเรื่องอื่น คุยเห็นถึงการใช้ชีวิตของเขา เช่นอาจารย์บางคนก็มีเพื่อนอยู่ใน Facebook อยู่แค่ 27 คน ให้ความสำคัญกับ mental health (สุขภาพจิตอย่างมาก อาจารย์บางคนก็รับรู้ข่าวสารแต่เพียงพอดี  เท่าที่จำเป็นและนั่นก็ทำให้เรากลับมาย้อนดูตัวเองว่าจะจัดการกับเรื่องที่ต้องรู้ หรือเรื่องที่ไม่ต้องรู้ อย่างเป็นระบบมากขึ้น จัดการเวลาให้กับตัวเอง จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพจิตที่ดีได้ ซึ่งนั่นก็เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีด้วย 


การเป็นนักข่าวสาธารณสุข ถือเป็น โอกาสในชีวิตอย่างมาก ที่มาพบเจอและรู้จักพวกเขาและเธอ ที่อยู่ในระบบสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับอาจารย์แพทย์ไปจนกระทั่งถึงระดับหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เป็นนักวิชาการสาธารณสุขไปกระทั่งอสมพวกเขาต่างมีอุดมการเดียวกัน ถูกหล่อหลอมมาแบบเดียวกัน 





คนในแวดวงสาธารณสุขมักจะพูดถึงอยู่เสมอถึง พระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตาราธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “ ขอให้ถือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สองเอาประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” 




และด้วยประเด็นข่าวที่ทำส่วนใหญ่ทำให้เราเจอแพทย์ ที่ทำงานกับชุมชน ชนบทเราไม่ปฏิเสธว่าคงมีแพทย์จำนวนหนึ่งที่ทำงานในเชิงเอกชน แต่แพทย์กลุ่มที่ทำงานชุมชน เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กิจที่หนึ่งของเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยเนื้องานมันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมไปโดยอัตโนมัติ แล้วลาภ ยศ สรรเสริญ มันตกกับเค้าเอง ทุกครั้งที่ไปทำข่าวโรงพยาบาลชุมชนจะเห็นชาวบ้านหอบข้าวของผลไม้กับข้าวมาให้คุณหมออยู่เสมอ


ผมมองว่า ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การทำข่าวสาธารณสุขดูจะเป็นหนทางที่ง่ายที่สุด ที่คนจะเข้าถึงได้เพราะ mineset ของบุคลากรในระบบนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างมีความพร้อม และมีความปรารถนาดีที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงการรักษา เป็นหลังพิงไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร ให้เข้าถึงระบบสาธารณสุข 


สิ่งนั้นทำให้ผมเชื่อในคุณค่าของข่าวสาธารณสุข เชื่อว่าถ้าให้เวลากับมันมากพอมัน น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง มันน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมพลังให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และแน่นอนมันคงจะเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบ และหาทางเลือกในการจัดการระบบสุขภาพที่ดีที่สุดไปพร้อมกัน 





มิติของสุขภาพแทบจะเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ถ้าจะหยิบข่าวจากโต๊ะข่าวอื่นๆมามองในมุมของสาธารณสุขย่อมทำได้เสมอและนั่นเป็นอาจจะเป็นโจทย์ต่อไปที่เราจะเข้าไปแตะเพื่อใช้กลไกในทางสุขภาพเข้าไปแก้ปัญหาสังคม จะเป็นไปได้หรือไม่


มีคนเคยบอกผมว่าข่าวสาธารณสุขมันไม่ใช่ข่าวความขัดแย้ง เพราะมักใช้ข้อมูลหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่มันก็อาจไม่ใช่เสมอไปผมยังเห็นแนวคิดสองด้านในระบบสาธารณสุขและหลักการในการบาลานซ์ข้อมูลยังคงจำเป็นอยู่เสมอไม่ว่าจะทำข่าวสายใด


แล้วก็มีอีกคนเคยบอกผมอีกว่า เป็นนักข่าวแล้ว ความเป็นนักข่าวจะติดตัวเราไปจนตาย ไม่ว่าเราจะเติบโตไปเป็นอะไร แต่ตำแหน่งนักข่าวเป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ตลอดชีวิต ตราบเท่าที่โลกนี้ยังไม่หยุดนิ่ง เราก็ยังหาจุดสิ้นสุดของข่าวไม่เจอ เช่นเดียวกันกับ “ข่าวสาธารณสุข” ที่คงไม่มีวันหยุดนิ่งเช่นกัน.

ความคิดเห็น