ทำไมวิกฤตอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. จึงน่ากังวล? | เก็บตกจากวชิรวิทย์

เพราะนี่คืออุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อสร้างระบบการแพทย์ปฐมภูมิ 
ซึ่งจะช่วยโอบอุ้มสังคมสูงวัยในเมืองหลวง แต่มีระบบสาธารณสุขที่เปราะบาง 



อนาคตระบบสาธารณสุขไทย จะต้องเผชิญกับวิกฤตที่ท้าทายมากขึ้น ไม่ใช่แค่การรับมือโรคระบาดเท่านั้น แต่การเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ทำให้จำนวนกลุ่มเปราะบางที่ต้องดูแลเพิ่มมากขึ้น หนทางในการรับมืออาจอยู่ที่การสร้างระบบ “การแพทย์ปฐมภูมิ” ให้เข้มแข็งเพื่อช่วยโอบอุ้มกลุ่มผู้สูงอายุไม่ให้โดดเดี่ยว


ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วเมื่อปี 2564 โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป อยู่ที่18% ของจำนวนประชากร และกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์เร็วๆนี้ คือคือมีสัดส่วนผู้สูงอายุไปแตะ 20% ของจำนวนประชากร


สภาพภายในโรงพยาบาลใหญ่หลายแห่งไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานคร หรือ ต่างจังหวัดเต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มารอพบแพทย์ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาแบบ Long Termcare (ดูแลรักษาแบบประคับประคองระยะสุดท้ายมีมากขึ้นจนแออัด 


เราอาจต้องเข้าใจก่อนว่าการแพทย์ปฐมภูมิไม่ใช่การรักษาโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพไปพร้อมกัน หากรักษาหรือไปต่อไม่ไหวจึงจะเข้าสู่ระบบการส่งต่อแบบทันที การแพทย์ปฐมภูมิก็จะไม่ต่างอะไรกับการมีหมออยู่ใกล้ตัวใกล้บ้าน 


เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพทย์ปฐมภูมิมากขึ้น ผมจึงลงพื้นที่ไปยังชุมชนศิริเกษม 50 เขตบางแค ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างของการสร้างการแพทย์ปฐมภูมิเพื่อรองรับสังคมสูงวัย 


ที่นี่เราได้พบกับผู้ป่วยติดเตียง เป็นอดีตทหารผ่านศึกในวัย 70 ปี อาศัยอยู่กับภรรยาในวัยใกล้เคียงกันเป็นผู้ดูแล วันนี้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ที่ได้รับการอบรมเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver เข้ามาเยี่ยมบ้านของลุงสง่า รวมพล ซึ่งจะเข้ามาสัปดาห์ละครั้ง


แม้จะไม่ได้เป็นพยาบาลวิชาชีพแต่ในกระเป๋า Care Giver มีเครื่องมือแพทย์เบื้องต้น ที่จะคัดกรองอาการหรือตรวจสอบค้นหาความผิดปกติเช่นเครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ ชุดวัดน้ำตาลในเลือดแบบรู้ผลเร็ว และยังมีแผ่นภาพเพื่อทดสอบความจำของผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์ด้วย


วรวรรณ ทับกระจ่าย อสส.ชุมชนศิริเกษม เขตทวีวัฒนา กทมบอกว่า อาสาสมัครสาธารณสุข ก็คือคนในชุมชนจะมีข้อมูลแผนที่บ้านที่มีผู้สูงอายุและผู้พิการติดเตียงเพื่อวางแผนเข้าไปดูแลอย่างตรงจุด 


แต่อสส.ในชุมชนนี้ มีกว่า 10 คน จำนวนนี้มีเพียง 2 คนที่ได้รับการอบรมให้ให้เป็น Care Giver หรือผู้ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีทักษะพิเศษที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่กว่า500 ครัวเรือนในชุมชนศิริเกษม แทบทุกบ้านจะมีผู้สูงอายุ อย่างในซอยนี้มีผู้สูงอายุที่ติดเตียงจำนวน 2 คน วรวรรณ กับเพื่อน อสส.จะแบ่งพื้นที่กับรับผิดชอบเป็นซอย ซึ่งยอมรับว่าอาจดูแลไม่ทั่วถึง เพราะคนไม่พอ  


วิกฤตจำนวน อสส.ในกทม.​ 


เมื่อเปรียบเทียบ จำนวนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในต่างจังหวัดมีถึง 1.04 ล้านคน ขณะที่ใน กรุงเทพ  มีจำนวนอาสาสมัครสาธารณสุข15,000 คน เพื่อให้เห็นความต่างในระดับพื้นที่ ยกตัวอย่าง เช่น .นครราชสีมาประชากร 5 ล้านคน มี อสม. 5.5 หมื่นคน ส่วน กรุงเทพมหานคร ประชากร 6 ล้านคน ใกล้เคียงกัน ยังไม่นับรวมประชากรแฝง มี จำนวน อสสเพียง 1.5 หมื่นคน นี่เป็นวิกฤตจำนวน อสส.ในกรุงเทพมหานครที่เห็นได้อย่างชัดเจน 


นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP เสนอว่าอาสาสมัครสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร อาจไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของเครือข่าย อสสเสมอไปแต่อาจหาคนรุ่นใหม่จากกลุ่มอาสาสมัครอื่นๆ และมูลนิธิ ผ่านการเขียนโครงการของบประมาณ จากกองทุนสุขภาพระดับเขตกรุงเทพมหานครจัดการและขยายเครือข่ายเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 


อีกข้อสังเกตุหนึ่งคือปัจจุบัน อสส.แต่ละคนได้ค่าเบี้ยเลี้ยง 1,000 บาทต่อเดือนและได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เบี้ยเลี้ยงที่ไม่ได้มากจึงไม่ได้สร้างแรงดึงดูดมากพอในการดึงอาสาสมัครดึงคนเข้ามาทำงานอาสาสมัครสาธารณสุข ขณะที่การให้เบี้ยเลี้ยงที่มากเกินไปก็จะเป็นภาระทางการเงินเช่นกัน


ปัจจุบันกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะมีผู้ที่อยู่ในหลักประกันถึง 47 ล้านคนมีงบประมาณได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปีโดยในปีล่าสุดทะลุ 2 แสนล้านบาทเพราะต้องรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยและการรับมือกับโรคระบาด


นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอว่าควร เปลี่ยนเป้าหมายการใช้เงินในกองทุนบัตรทองจากการรักษาความเป็นเน้นที่การป้องกันโรค ซึ่งก็สอดคล้องกับการเสริมสร้างการแพทย์ปฐมภูมิซึ่งจะเป็นทางออกในในการโอบอุ้มสังคมสูงวัย 


แต่การวางระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่เข้าถึงชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีไม่กี่แห่ง และที่ชุมชนศิริเกษม เขตบางแคเป็นหนึ่งใน sandbox ระบบสุขภาพ กทม.​ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะโอบอุ้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  เพื่อเป็นหลักประกันให้กับทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไรจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม 


และคงต้องยอมรับว่า แผนการเตรียมความพร้อมรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยถูกพูดถึงมานานแล้ว จนถึงวันนี้… วันที่เราเข้าสู้สังคมสูงวัยกันจริงๆ จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงแผนการตั้งรับอีกต่อไป แต่สิ่งที่ต้องทำในเวลานี้คือการวางระบบเพื่อทำงานเชิงรุก เพราะไม่มีเวลาให้เตรียมพร้อมรับมืออีกต่อไปแล้ว.

ความคิดเห็น