ไม่มีคนจนคนไหนอยากเจ็บป่วย เป็นภาระของหมอ | เก็บตกจากวชิรวิทย์

สำรวจปัญหาระบบสาธารณสุขไทย จากกระแสทำกิจกรรมเพื่อขอรับเงินบริจาคให้โรงพยาบาล ตอนที่ 1



กลายเป็นกระแสต่อเนื่องหลังจากการว่ายน้ำข้ามโขงเพื่อขอรับบริจาคเงินซื้อเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลนครพนมและ โรงพยาบาลแขวงคำม่วนสปป.ลาวของ โตโน่” ภาคิน คำวิลัยศักดิ์ ว่าไม่ใช่การแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขที่ต้นทาง 




แต่หลายคนรวมทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ขัดศรัทธาเพราะแม้จะยืนยันว่ารัฐจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขให้เพียงพอแต่โรงพยาบาลหลายแห่งในไทยทั่วประเทศไทย ก็เปิดรับบริจาคเช่นเดียวกัน 


แต่หนึ่งในประเด็นที่ยังทำให้เกิดการถกเถียง อันเนื่องมาจากการให้สัมภาษณ์ก่อนว่ายน้ำข้ามโขงของ โตโน่ที่บอกว่า หมอและพยาบาล เสี่ยงกว่าผม เหนื่อยกว่าผม 


ขณะที่ หมอริท นพ.เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช ก็ได้ทวิตข้อความฝากให้คิดว่า ต่อให้พี่ว่ายน้ำเป็น 10 รอบ เงินบริจาคมากกว่า 1,000 ล้านบาท หมอ พยาบาลก็เหนื่อยเท่าเดิม พร้อมกับระบุถึงปัญหาของระบบสาธารณสุขในประเทศไทยที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ต่อมา 




หมอริท ได้กล่าวถึงระบบสุขภาพของประเทศไทยว่า …


เป็นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่แปลว่าคนไทยจะป่วยยังไงก็จะมีการรักษารองรับ ซึ่งดีกับคนไทยในบางมุม เช่น คนจนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงการรักษา 


แต่ข้อเสียก็คือคนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่นติด เหล้า ติดบุหรี่และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม


แนวคิดเกี่ยวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรารู้จักกันในนานบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ของ หมอริท กลายเป็นประเด็นอ่อนไหว และซ้ำรอยมายาคติและวาทะกรรมในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีมานานไม่ต่ำกว่า 20 ปี ที่เชื่อว่าคนไทยไม่รักษาสุขภาพเพราะได้สิทธิ์สวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า 


ปฎิเสธไม่ได้ว่ามี บุคลากรการแพทย์จำนวนหนึ่งที่ก็เชื่อว่า การมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาคนไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จะทำให้คนไทยคิดว่า รักษาฟรี ก็ไม่ต้องดูแลสุขภาพ ไม่ต้องออกกำลังกาย ไม่ต้องเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ก็ได้ป่วยขึ้นมาก็รักษาฟรี 


แต่แนวคิดดังกล่าว สวนทางกับวิจัย งานวิจัยเรื่องผลกระทบจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเรื่องระบบสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงจากกรณีประเทศไทยเมื่อปี 2556 ได้นำข้อมูลสุขภาพและพฤติกรรมของคนไทย จากฐานข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาวิเคราะห์ พบว่า


หลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยก็ไม่ได้ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และตัวเลขของเคสที่เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เทียบกัน ก่อนและหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็ไม่ได้แตกต่างกัน


และด้วยจิตสามัญสำนึกของคนทั่วไปก็คงไม่มีใครอยากจะเจ็บป่วยแล้วไปหาหมอที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะคนยากจนแม้จะได้รับสิทธิ์ในการรักษาฟรีตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแต่ค่าเดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขด้วยเช่นเดียวกัน 


นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ และรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้ให้เหตุผลไว้แล้วโดยไม่ได้ระบุว่า รักษาฟรีเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหาหมอเกินจำเป็นแต่อย่างใด หากแต่เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่แต่ละฝ่ายมีข้อมูลไม่เท่ากัน 


เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของอัตราความเจ็บป่วยที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยระบุว่ามีความจำเป็นในการเข้ารับบริการสูงกว่าแพทย์เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีข้อมูลความรู้ที่ไม่เท่ากัน 


โดยผู้ป่วยไม่มีความรู้เรื่องโรคและการรักษา ขณะที่แพทย์ผ่านการเรียนการสอนมาอย่างเข้มข้น ทำให้มองความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาไม่เท่ากัน


ผู้ป่วยจะมีมุมมองความจำเป็นในการเข้ารับบริการมากกว่า นอกจากนี้ ในการเข้ารับบริการของผู้ป่วยเองยังคำนึงถึงปัจจัยอื่นนอกจากความเจ็บป่วย เช่นความพร้อมของผู้ดูแล ความพร้อมหน่วยบริการ เป็นต้น


สิ่งที่จำเป็นต่อการทำให้คนที่มารับบริการ มีแต่คนที่ “จำเป็นต้องรับบริการ” จริง อาจเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ว่าอาการแบบไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องรักษา


มีเรื่องเล่าตลกเรื่องหนึ่งในทวิตเตอร์เล่าถึงความเข้าใจที่แตกต่างระหว่างแพทย์กับคนไข้ได้อย่างเห็นภาพไว้ดังนี้


เมื่อคุณเป็นหวัด หากแฟนบอกให้ทานยา พักผ่อนให้เพียงพอ แสดงว่าแฟนคุณเป็นคนปกติ หากแฟนคุณพาคุณไปหาหมอ แสดงว่าแฟนรักคุณมาก แต่หากแฟนบอกคุณว่าไม่ต้องทานยาเดี๋ยวหายเอง แสดงว่าแฟนคุณเป็นหมอ!


ในส่วนของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP มีงานวิจัย “การค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับรายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนต้องจ่ายด้วยตนเองในประเทศไทย” ที่ศึกษาถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงโดยค่ารักษาพยาบาลมีสัดส่วนลดลง แต่กลับมีค่าใช้จ่ายอื่น  เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้นแทน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่https://www.hitap.net/documents/172913


อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มากกว่ามายาคติว่า “การรักษาฟรีแล้วทำให้คนเข้ามาที่โรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น ซึ่งซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นจริง คือรัฐจะหาเงินมาอุดหนุนได้เพียงพอกับการเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” ซึ่งจะมีผู้ป่วย ที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายในการต้องรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างไร?


 ซึ่งแนวโน้มของระบบสาธารณสุขไทยกำลังจะไปในทิศทางของการส่งเสริมและป้องกันโรค โดยสร้างความเข้มแข็งและให้ความสำคัญกับหน่วยบริการปฐมภูมิเป็นสำคัญ 


ส่วนประเด็นต่อมาที่ “หมอริท” พูดถึงปัญหาของระบบสาธารณสุขอีกอย่างก็คือหมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนดทำให้เกิดภาวะสมองไหลหมอออกไปนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอน้อยลง งานก็หนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอนั้น ติดตามต่อในบทความ ตอนที่ 2.

ความคิดเห็น