เก็บตกจากวชิรวิทย์ | เพราะกำลังจะเป็นแม่คน จึงกลัวการฉีดวัคซีนสูตรไขว้
รณรงค์กันต่อเนื่อง สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ดูจะยังไม่ได้ผลนัก แม้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ จะออกมาย้ำว่า การฉีดวัคซีนปลอดภัยมากกว่าไม่ฉีด
การทลายข้อกังวลของหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่จะมีต่อเด็กในท้องให้ได้ และทางเลือกวัคซีน น่าจะเป็นทางออกของเรื่องนี้
ปัจจุบันทั่วโลกมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงขึ้นกว่า ภาวะปกติ 50-60% แม้สถิติจะน่ากลัว แต่จากข้อมูลพบว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ในไทย เกือบ40% ไม่แน่ใจและไม่ฉีดวัคซีนโดยเหตุผลอันดับแรก ๆ คือ กังวลผลข้างเคียงไปถึงลูก และกังวลเรื่องวัคซีนสูตรไขว้
หญิงตั้งครรภ์วัย 35 ปีคนหนึ่ง เปิดเผยกับ เก็บตกจากวชิรวิทย์ ว่าเมื่อรู้ว่าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี มีโครงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลับกลุ่มเสี่ยง 7 โรค และคนท้อง เธอก็ตัดสินใจลงทะเบียนรับวัคซีน ในช่วงอายุครรภ์ 4 เดือน เพราะเชื่อมั่นหลังมีงานวิจัยในต่างประเทศรับรองเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในหญิงตั้งครรภ์ โดยยอมรับตรงไปตรงมาว่า ถ้าเป็นวัคซีนชนิดอื่น จะไม่ยอมฉีด เพราะกังวลอาการแพ้ท้อง และแพ้วัคซีนจะส่งผลต่อเด็กในครรภ์
ขณะที่หญิงตั้งครรภ์อีกคน อายุ 36 ปีอายุครรภ์ 4 เดือน บอกว่า ก่อนตั้งครรภ์ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งต้องรับวัคซีนเข็มที่ 3 แต่เมื่อไปติดต่อลงทะเบียนขอฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะให้ฉีดแอสตราเซเนกา เธอจึงปฏิเสธ เพราะกังวลเรื่องผลข้างเคียง ขณะเดียวกันแพทย์ที่รับฝากครรภ์ก็ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ตอนนี้เธอยอมจะป้องกันตนเองมากกว่าเสี่ยงฉีดวัคซีน เพราะกลัวผลกระทบต่อลูกที่อยู่ในครรภ์
ข้อมูลกรมอนามัย ระบุ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จนถึงกันยายน 2564 มีหญิงไทยตั้งครรภ์เสียชีวิตทั้งหมด 192 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากโควิด ถึง 78 คนคิดเป็น 38% ซึ่งถือว่าสูงมาก
เฉพาะช่วงการระบาดหนักระลอกล่าสุด ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง 16 ตุลาคมที่ผ่านมา มี
- หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 4,778 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ปริมณฑล และ 3 จังหวัดชายแดนใต้
- ทารกติดเชื้อจากแม่ 226 คน
- หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 95 คน
- ทารกในครรภ์เสียชีวิต 46 คน
กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปจำนวน 3 แสนคน ให้ได้ 1 แสนคน แต่เวลานี้ ฉีดได้พียง 7 หมื่น 5 พันกว่าคนหรือประมาณ 25% เท่านั้น
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ รับรองเรื่องความปลอดภัยและระบุชัดว่า การฉีดมีผลดีมากกว่าไม่ฉีด ก็คือการรณรงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับการฉีดวัคซีน โดยให้เหตุผลว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อประมาณ 95% ถ้าไม่ได้รับวัคซีน จะเป็นสาเหตุให้มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต
ส่วนวัคซีนสูตรไขว้ ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือ แอสตราเซเนกา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ยืนยันว่าปลอดภัย แต่ก็ยอมรับว่า มีแนวทางที่จะพิจารณาจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับหญิงตั้งครรภ์ในลำดับต่อไป หลังฉีดให้กับกลุ่มนักเรียนแล้ว
สูตินรีแพทย์ฯเชี่ยวชาญ ย้ำด้วยว่า ข้อกังวลเรื่องอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแพทย์ที่รับฝากครรภ์ ต้องเร่งทำความเข้าใจ ว่าวัคซีนไม่น่ากลัวเท่าการติดเชื้อจากโควิด
ด้าน ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย กล่าวกับ เก็บตกจากวชิรวิทย์ ว่า ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงส่วนหญิงตั้งครรภ์ 2 จาก 75,000 คนที่รับวัคซีน แล้วแท้งบุตร ก็ยังไม่พบสาเหตุเชื่อมโยง แต่เป็นแนวโน้มปกติในจำนวนหญิงตั้งครรภ์ 1,000 คน ที่จะแท้ง 1-5 คน
สิ่งที่ภาครัฐพยายามเวลานี้ ก็คือ การเร่งทำความเข้าใจให้เห็นถึงอัตราเสี่ยงที่รุนแรงจากการไม่ฉีดวัคซีน ที่มากกว่าผลข้างเคียง เพื่อเพิ่มจำนวนหญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนให้ได้ตามเป้า 1 แสนคน ขณะที่การมีทางเลือกวัคซีนที่หญิงตั้งครรภ์มั่นใจ อาจเป็นอีกตัวช่วยให้เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงของหญิงตั้งครรภ์ลดลงได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น