เก็บตกจากวชิรวิทย์ | วิกฤตน้ำค้างทุ่ง - ทะเลหนุน แม่น้ำท่าจีน
ไม่เฉพาะ กทม.และปริมณฑลในลุ่มเจ้าพระยาเท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับน้ำทะเลหนุน หลายจังหวัดในลุ่มน้ำท่าจีน ก็เจอปัญหาเดียวกันซ้ำเติมน้ำที่ขังอยู่แล้วหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้ง ๆ ที่มวลน้ำปีนี้น้อยกว่า ปี 2554
สำหรับ กรุงเทพมหานคร ชั้นใน นักวิชาการมองว่า ท่วมยาก เพราะมีหลายอย่างที่เป็นเหมือนปราการป้องกัน หนึ่งในนั้นคือ ลุ่มน้ำท่าจีน ที่ช่วยตัดยอดน้ำบางส่วน วันนี้เราจึงทอดทิ้ง “ลุ่มน้ำท่าจีน” ไปไม่ได้
ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แม่น้ำเจ้าพระยามีการบริหารจัดการน้ำหลายจุด ทั้งเขื่อน คันกันน้ำท่วม ทุ่งรับน้ำ ที่รายล้อมอยู่รอบลุ่มเจ้าพระยา ทำให้น้ำระบายไหลออกด้านข้างตามคลองสาขา ต่างจากแม่น้ำท่าจีน ลำน้ำเล็กมากอยู่แล้วแถมยังไม่ค่อยมีทุ่งรับน้ำ เป็นเหตุผลที่ทำให้ พอมีน้ำหนุน ก็กระทบหนัก แถมยังท่วมขังนานแล้ว จากน้ำค้างทุ่ง หนึ่งในนั้นคือ อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ที่กำลังจมน้ำ
ต้นส้มโอ พันธุ์ทับทิมสยาม สวนธนัตแก่นจันทร์ หลายร้อยต้น ยืนต้นตาย อยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ ในอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม หลังถูกน้ำท่วมมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 ช่วงพายุลูกแรกไม่ต่างจากพื้นที่อื่น แม้เวลานี้ น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง เริ่มคลี่คลาย แต่สถานการณ์ที่นี่ ระดับน้ำกลับเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อปี 2554 สวนส้มโอแห่งนี้ ก็เคยถูกน้ำท่วมใหญ่มาแล้วไม่มีใครคิดว่าปีนี้น้ำจะท่วมซ้ำแต่จากปัจจัยทั้งน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือที่ไหลมาบรรจบกัน ก็ทำให้น้ำท่วมสวนส้มโอแห่งนี้อีกครั้งในรอบ 10 ปี
หลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เกษตรกรในอำเภอนครชัยศรี พยายามฟื้นฟูสวนส้มโอพันธุ์ดีให้กลับมาคืนตลาดได้อีกครั้ง เจ้าของสวนส้มโอแห่งนี้ ลงทุนไปกว่า 2 ล้านบาทเพื่อปรับที่ดินเมื่อปี 2557 และเพิ่งเก็บผลผลิตได้รอบแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก่อนถูกน้ำท่วมซ้ำ
ประตูน้ำในคลองสายย่อยหลาย สาย ที่อยู่ในอำเภอนครชัยศรี ถูกปิดสนิทเพราะเป็นคลองที่ตัดตรงสู่คลองทวีวัฒนาและคลองภาษีเจริญ กรุงเทพ มหานครมีการตั้งเครื่องสูบน้ำ ย้อนกลับเข้าไปในแม่น้ำท่าจีน
บริเวณวัดลานตากฟ้า เห็นได้อย่างชัดเจนว่ากระแสน้ำ แทบหยุดนิ่ง จากการปะทะกันของน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน เพราะไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้เกษตรกรที่นี่ รู้ดีว่า นี่คือสัญญาณเตือนว่า จังหวัดนครปฐม มาถึงจุดเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วมใหญ่ และสถานการณ์ กำลังลุกลามไปในอีกหลายพื้นที่ โดยไม่ได้คาดการณ์ ล่วงหน้า และไร้การแจ้งเตือนให้เฝ้าระวัง
บริหารน้ำพลาด เหตุน้ำท่วม 64 รุนแรง
ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ยังเจอศึกรอบด้าน เก็บตกจากวชิรวิทย์ ลงพื้นที่สำรวจกับนักวิชาการด้านภัยพิบัติ ตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี มาถึง นครปฐม พบบางจุดมีคันกั้นน้ำ ทำให้น้ำท่วมสูงขึ้นกว่าปี 2554 สวนทางกับข้อมูลข่าวสารที่เตือนภัยว่าน้ำมาน้อยกว่า 2554
ขยับมา ตอนล่างที่ตำบลบางระกำ อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม คนที่นี่บอกว่าคันกั้นน้ำก็มี แต่น้ำล้นเอาไม่อยู่ ขณะที่ทุ่งรับน้ำเวลานี้ มีน้ำมากกว่า 80% หลายทุ่ง สำนักงานทรัพยากรน้ำคาดการณ์ว่า ในหลายทุ่งอาจใช้เวลาถึงกลางเดือนธันวาคมกว่าจะระบายหมด
ถ้าไม่นับน้ำหนุนรอบนี้ รวมถึงปัจจัยเรื่องการเตือนภัย สิ่งก่อสร้างที่ไปบล็อกเส้นทางน้ำ ประเชิญ คนเทศ ภาคประชาสังคมจากลุ่มแม่น้ำท่าจีน 1 ใน 5 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มเจ้าพระยา มองว่า สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้น้ำท่วมปี 2564 ในลุ่มท่าจีนกลายเป็นภัยพิบัติ ทั้ง ๆ ที่น้ำน้อยกว่าปี 54 เพราะแต่ละหน่วยขาดความกล้าในการตัดสินใจ และทำงานภายใต้อำนาจตัวเอง
สอดคล้องกับข้อคิดเห็นนักวิชาการหลากหลายคนด้านน้ำและภัยพิบัติ เห็นคล้ายกันว่า การบริหารจัดการน้ำ และมวลน้ำคือคือปัจจัยแรกๆ ที่ทำให้ภัยพิบัติน้ำท่วมปี 2564 รุนแรง
เก็บตกจากวชิรวิทย์ พบว่า หลังปี 2554 ถึงปี 2564 ไทยทุ่มเงินกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ฟื้นฟูเยียวยา และป้องกันตลิ่งไปแล้วกว่า 850,000 ล้าน ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณไม่น้อย ถูกยืนยันว่า มีส่วนทำให้การจัดการน้ำในบางพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่หลายจังหวัด ยังต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำ
นักวิชาการด้านน้ำวิเคราะห์ว่า หลังปี 54 เรามีแผนจัดการน้ำเป็นชุดโครงการมากขึ้น และเริ่มทำแผนแม่บทหลังมี พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำปี 61 แต่ยังไม่ลงระดับชุมชน ไม่มีการแยกกลุ่มและเป้าหมายเช่น ชนบท เมืองรอง เมืองหลัก หรือมหานครให้ชัด ขณะที่ปัญหาแต่ละพื้นที่ต่างกัน และข้อเสนอที่สำคัญ คือการแก้ปัญหาต้องไม่มีพรมแดน หรือ เขตปกครอง ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจทำให้เราต้องยอมรับว่า จะต้องเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ได้ในทุก ๆ 10 ปี แต่จะรับมืออย่างไรเพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น