เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ใครบ้างมีอาการตกค้างหลังหายป่วยจาก “โควิด-19”

เวลานี้ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับภาวะ Long-covid หรือ อาการตกค้างหลังติดเชื้อโควิด 19 รวมถึงไทยเอง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1 ล้าน 7 แสนคน แม้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนถึงสัดส่วนผู้ที่มีอาการ Long-covid แต่จากการสำรวจของกรมการแพทย์คร่าวๆ ที่ติดตามกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่า 50 - 60% มีอาการเหนื่อยหอบ แต่ก็มีโอกาสหายได้หากได้รับการฟื้นฟู 


สาเหตุหลักของอาการ Long COVID ที่แพทย์ในไทย เห็นตรงกันคือ เกิดจากการที่ไวรัสทำลายปอด และระบบต่างๆ ของร่างกาย แม้จะรักษาหายแล้ว แต่ยังทำให้อ่อนเพลีย แลมีบางรายที่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ หรือร่างกายไม่เหมือนเดิม 


อย่างกรณีของหญิงวัย 57 ปีคนนี้ ที่กำลังเผชิญกับภาวะ Long COVID โดยเธอได้เปิดเผยเรื่องราวผ่าน เก็บตกจากวชิรวิทย์ ว่า หลังรักษาตัวในโรงพยาบาลครบ 14 วัน และแม้จะผ่านมา 3 สัปดาห์แล้วแต่ร่างกายของอดีตผู้ป่วยโควิด-19 คนนี้ แต่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ เธอสังเกตุตัวเองแล้วพบว่า ยังหายใจเหนื่อยหอบ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 


สิ่งที่เธอกลัวมากที่สุดคืออาการที่เป็นอยู่ตอนนี้จะเป็นไปตลอดชีวิตหรือไม่ จึงพยายามหาแนวทางในการรักษา โดยกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแพทย์ล่าสุดแพทย์ได้นัดให้กลับมาเอกซเรย์ปอดอีกครั้ง


แม้จะยังไม่มีการสำรวจออกมาอย่างชัดเจนว่าในประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ที่มีอาการลองโควิดเท่าใด แต่ พญ.อัญญพร สุทัศน์วรวุฒิ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว รามาธิบดี พบว่ามีผู้หายป่วยจากโควิด-19 ติดต่อมาอย่างต่อเนื่องถึงอาการตกค้างที่เกิดขึ้น และส่วนมากเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย


ปัจจัยของผู้ที่จะมีอาการลองโควิด นอกจากนี้จะเป็นผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจแล้วคือตอนที่ป่วยโควิดมีอาการหนักมาก สำหรับแนวทางการรักษามีทางเดียวคือทำกายภาพบำบัด ฝึกหายใจและรักษาตัวเองเพื่อให้ร่างกายกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติตามธรรมชาติ


อาการ Long Covid แบ่งได้หลายระดับ

  • อาการทั่วไปมีดังนี้ มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส
  • อาการที่พบไม่บ่อยนัก คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ท้องเสีย มีผื่นบนผิวหนัง หรือนิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี ตาแดงหรือระคายเคืองตา
  • อาการรุนแรง หายใจลำบากหรือหายใจถี่ สูญเสียความสามารถในการพูดหรือเคลื่อนไหว หรือมึนงง เจ็บหน้าอก 

ขณะที่ข้อมูลในต่างประเทศ เช่น ที่อังกฤษ พบข้อมูลเชื้อโควิดทำลายระบบสมองระดับลึก เร่งกระบวนการแก่ชรา จากการสูญเสียเนื้อสมองสีเทา จนหดตัวเล็กลงแม้ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ก็อาจทำให้สมองหดตัวลงเหมือนคนชราได้ 


อธิบดีกรมการแพทย์ วิเคราะห์ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 แต่ละคน แสดงอาการมากน้อยต่างกันออกไป และเมื่อหายแล้ว บางคนก็กลับมาเป็นปกติ หรือมีอาการดีขึ้นใน 6 สัปดาห์ แต่บางคน ยังมีอาการคล้ายเป็นโควิด-19 ต่อเนื่องมากกว่า 2 เดือน ขึ้นกับศักยภาพฟื้นตัวของแต่ละคน 


ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในไทย ที่เวลานี้มีมากกว่า 1 ล้าน 7 แสนคน และพบรายงานผู้มีภาวะนี้ต่อเนื่อง ทำให้กรมการแพทย์ให้ความสำคัญและตั้งทีมศึกษาวิจัยเรื่องนี้แล้ว  โดยมอบให้สถาบันโรคทรวงอกเป็นเจ้าภาพ พร้อมหารือกับสปสช.ถึงสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ แต่เวลานี้แนวทางการรักษายังไม่ชัดเจน เบื้องต้นใช้วิธีกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายโดยอาจจำเป็นต้องกลับไปที่โรงพยาบาลเดิมที่เคยรักษาโควิด-19 


ถ้าไม่อยากเป็น Long covid การฉีดวัคซีนป้องกัน หรือ ลดอาการรุนแรง คือด่านแรกที่สามารถทำได้ ซึ่งสถานการณ์นี้ยังน่ากังวลในหลายพื้นที่ ที่อัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย และแพทย์มองว่า อาจไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะสถานการณ์ระบาดที่รุนแรง แต่อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะลองโควิดตามมาด้วย

ความคิดเห็น