เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน “ถอดยุทธศาสตร์วัคซีน การแพทย์-การเมือง”

7 มิถุนายนคือวันที่รัฐบาลสัญญาว่าจะฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศให้กับกลุ่มเป้าหมายแรก คือผู้สูงอายุและ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ทั้งหมด 16 ล้านคน ซึ่งให้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม 


โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในศูนย์ฉีดวัคซีน ที่มีประชาชนลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่านหมอพร้อมจำนวน 57,000 คน ต้องประกาศยุติลงทะเบียนหลังรัฐบาลเบรกการใช้ระบบหมอพร้อม เพื่อจัดสรรแผนกระจายวัคซีนใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังคงยืนยันว่าวันที่ 7 มิถุนายน ยังจะฉีดวัคซีนตามเดิม ในขณะที่ปัญหาใหญ่คือจนถึงวันนี้ ยังต้องลุ้นวัคซีนแอสตราเซเนกาจะส่งมอบทันเวลาหรือไม่ 

“ปกติแล้วการส่งออกการกระจายวัคซีนถึงโรงพยาบาลหน้าต้องจัดสรรล่วงหน้า 1 สัปดาห์แต่หากอย่างเร็วที่สุดขอ 3 วันก่อนถึงวันที่ 7 มิถุนายน”

เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่ยังคงรอวัคซีนกระจายมาในห้วงเวลาที่กระชั้นชิด ก็เกรงว่าจะไม่จะฉีดไม่ทันวันที่ 7 มิถุนายน ด้วยเช่นเดียวกัน แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยืนยันกำหนดการเดิม 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายวัคซีน นับตั้งแต่วันแรกที่วัคซีนล็อตแรกนำถูกนำเข้ามา เรามีการปรับเปลี่ยนแผนวัคซีนไปแล้วกี่ครั้ง 

ย้อนรอยแผนกระจาย​วัคซีน​


24 กุมภาพันธ์ ไทย นำเข้าวัคซีนล็อตแรก 2 แสนโดสของซิโนแวค จากจีน และเริ่มฉีดเข็มแรก 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการนับ 1 แผนกระจายวัคซีนของประเทศไทย ที่แบ่งไว้ 3 ระยะ

ระยะแรกกุมภาพันธ์-เมษายน ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า ผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยง ระยะที่ 2 พฤษภาคม-ธันวาคม เมื่อจัดหาวัคซีนได้มากขึ้น จะขยายไปตามกลุ่มเป้าหมายแรกในระยะแรก ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และระยะที่ 3 มกราคม 2565 เป็นต้นไป เมื่อวัคซีนมีเพียงพอจึงจะฉีดให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากร

การระบาดระลอก 2 ที่เริ่มขึ้นต้นเดือนมกราคม ขณะที่วัคซีนมาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เกิดข้อเสนอให้ใช้วัคซีน เพื่อตัดวงจรระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร นำมาสู่การปรับแผนการฉีดวัคซีนในระยะต่อมา เพื่อ 3 เป้าหมายหลักคือ พื้นที่ระบาด สร้างภูมคุ้มกันหมู่ และพื้นที่เศรษฐกิจนำร่องอย่างเกาะภูเก็ต โดยใช้วัคซีนซิโนแวคที่นำเข้ามาเพิ่มเติม อีก 8 แสนโดสในเดือนมีนาคม

ไม่มีใครคาดคิดว่า เดือนเมษายน จะเกิดการระบาดระลอกที่ 3 หลังเทศกาลสงกรานต์จบลง ผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุหลักพันคนต่อวัน เกิดการติดเชื้อหลายคลัสเตอร์ใหม่ การแพร่กระจายเชื้อลงไปสู่ชุมชนแออัด ควบคุมได้ยาก ศูนย์กลางการระบาดย้ายจากจังหวัดสมุทรสาครสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วัคซีนจึงถูกคาดหวังว่าจะถูกใช้ตัดวงจรระบาดอีกครั้ง ขณะที่สังคมเริ่มตั้งคำถามและเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพของวัคซีน รวมทั้งการจัดหาวัคซีนที่ล่าช้าไม่ทันสถานการณ์

1 พฤษภาคม กระทรวงสาธารณสุข เปิด ระบบหมอพร้อม หวังปูพรมฉีดวัคซีนวงกว้างให้เร็วขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ กลุ่มเป้าหมายแรกคือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.7 ล้านคน และผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จำนวน 4.3 ล้านคน รวมเป็น 16 ล้านคน สอดคล้อง กับแผนการส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา เดือนมิถุนายน จำนวน 6 ล้านโดสแรก และกรกฎาคมอีก 10 ล้านโดส ตั้งเป้าลดความรุนแรงของโรค การเสียชีวิต และภาระระบบสาธารณสข ประเดิมฉีดตั้งแต่ 7 มิถุนายนไปจนถึง 31 กรกฎาคม ส่วนประชาชนทั่วไปเปิดลงทะเบียน 1 กรกฎาคม และเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของวันและเวลาส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ระบบหมอพร้อมเปิดให้ลงทะเบียนอยู่ได้ 26 วัน นายกรัฐมนตรีก็สั่งชะลอ พร้อมปรับแผนกระจายวัคซีนอีกครั้ง ขณะที่กรุงเทพมหานคร เปิดแพลตฟอร์มลงทะเบียนจองวัคซีนของตนเอง พร้อมกับอีกหลายจังหวัด

ขณะที่แผนกระจายวัคซีนก็คาดว่าจะถูกปรับเปลี่ยนให้ความสำคัญกับพื้นที่ระบาดหนัก 4 จังหวัดสีแดงที่พบผู้ติดเชื้อสูง ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือการสื่อสารกับประชาชน 16 ล้านคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ที่คาดหวังว่าจะได้วัคซีนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมนี้ ที่อาจต้องเสียสละ เพื่อนำวัคซีนไปใช้ตัดวงจรระบาดในพื้นที่สีแดง

"แอสตราเซเนกา" ความหวังยุติโรคระบาดของคนทั้งประเทศ


นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วัคซีนแอสตราเซเนกาที่ยืนยันแล้วว่าจะส่งมอบทันฉีดวันที่ 7 มิถุนายนนี้ มีจำนวน 14 ล็อต แต่ไม่ระบุว่าเท่ากับกี่ล้านโดส ได้ครบตามเป้าหมาย 6 ล้านโดสหรือไม่ 

ด้าน ประธานแพทย์ชนบท ค้นหาจากข้อมูลเชิงลึกที่สืบเสาะมา พบว่าแอสตราเซเนกาล็อนแรกน่าจะมีจำนวนเพียง 1.8 ล้านโดส ซึ่งน้อยและอาจไม่เพียงพอต่อแผนการกระจายวัคซีนทั่วประเทศ ข้อเสนอก็คือควรจะ กระจายวัคซีนในพื้นที่การระบาด เช่น กรุงเทพมหานคร โดยหากสื่อสารและบอกความจริงไป ประชาชนน่าจะพอรับได้ 

ประเด็นการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในระหว่างที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ครบทุกคน คือการสร้างสมดุลระหว่าง ลดเจ็บตาย และ ลดการระบาด ประเด็นนี้จะยิ่งสำคัญมากถ้าผู้กำหนดนโยบายต้องตัดสินใจในกรณีวัคซีนจากแอสตราเซเนกามาไม่ทันกำหนด คำถามคือจะฉีดให้ใครก่อนถ้าวัคซีนดีไม่พอสำหรับทุกคนที่ลงทะเบียนไว้

กรณีนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร ระบุว่า แอสตราเซเนกามีประสิทธิภาพในการลดการระบาดได้ จึงควรทุ่มไปในพื้นที่ระบาดสีแดง 4 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูง โดยหากเปรียบเทียบตัวอย่างจากประเทศอังกฤษ ก็คาดว่าหากกรุงเทพมหานครปูพรมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาให้เร็วที่สุดในสัดส่วน 20-25% ของประชากร ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็จะลดลงทันที

ขณะที่ นักรัฐศาสตร์ เห็นความจำเป็นของยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนทางการแพทย์ แต่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงสิทธ์การเข้าถึงวัคซีนในพื้นที่อื่นว่าจำเป็นต้องเสียสละก่อน และออกแบบการสื่อสารให้เกิดฉันทามติร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง

ตัวแปรของการกระจายวัคซีนที่มากไปกว่าการจัดลำดับกลุ่มผู้ได้รับวัคซีน ก็คือจำนวนวัคซีนที่จะมีเข้ามา โดยเฉพาะแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นความหวังของคนทั้งประเทศ จะเข้ามาจำนวนเท่าไหร่ วันไหน ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญของรัฐบาล ที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นที่มีอยู่ต่ำมากอยู่แล้วให้กลับคืนมาได้

ความคิดเห็น