เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "60​ วันเดิมพันภูมิ​คุ้มกัน​หมู่​ กทม."

​ไม่ว่าหลังดีเดย์วาระชาติ 7 มิถุนายนนี้ บางพื้นที่อาจต้องชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อน เพราะวัคซีนที่ได้รับจัดสรรหมดแล้ว แต่สำหรับพื้นที่ระบาดหนักอย่าง กทม.จะยังเดินหน้าต่อ แต่วัคซีนที่ได้รับจัดสรรมา จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้สำเร็จหรือไม่

แม้จะได้รับจัดสรรวัคซีนล็อตใหญ่ ล็อตแรกจากแอสตราเซเนกามากที่สุดในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ต้องยอมรับว่า เป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ของ กทม.ภายใน 2 เดือน ยังไม่ใช่เรื่องง่าย จากหลายปัจจัยครับ ทั้งประสิทธิภาพวัคซีน ความไม่แน่นอน และวิธีการกระจายวัคซีน

ทำไมวัคซีนจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยคุมระบาด และปัจจัยที่ต้องนำมาคำนวณเพื่อดูความเป็นไปได้ของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เอาเฉพาะใน กทม.มีอะไรบ้าง 

การฉีดวัคซีนมีเป้าหมายสองทาง ในเชิงปัจเจกบุคคล การฉีดวัคซีนช่วยลดการป่วยหนัก เสียชีวิต และลดการติดเชื้อ นำมาสู่การช่วยป้องกันระบบสาธารณสุขล่ม อีกเป้าหมายสำคัญคือ ตัดวงจรระบาด เพราะเมื่อมีจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสการรับเชื้อของคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็น้อยลงไปด้วย

กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้า 31 กรกฎาคมนี้ หรือภายใน 2 เดือนจะต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 70% หรือประมาณ 5 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จึงวางเป้าหมายปูพรมฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 2,500,000 โดส นับเป็นโจทย์ท้าทาย เพราะมากไปกว่าศักยภาพการฉีดวัคซีน ที่ต้องฉีดให้ได้วันละ 69,021 คนต่อวัน คือจำนวนวัคซีนจะมีเพียงพอหรือไม่

แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ของ กทม.จะเกิดขึ้นได้ ต้องดูจากหลายปัจจัย ไม่นับรวมประสิทธิภาพวัคซีน อย่างน้อย ๆ คือจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้ว ,จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียงโดสแรก และผู้ที่ติดเชื้อและรักษาจนหาย

หากคำนวณจากข้อมูลของ กทม.ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,030,204 คน และเฉพาะเดือนมิถุนายนนี้ กทม.จะได้รับจัดสรรวัคซีนอีก 1 ล้านโดส แบ่งเป็น 2 สัปดาห์แรก 500,000 โดส และ 2 สัปดาห์หลังอีก 500,000 โดส

ขณะที่วัคซีนที่สำนักงานประกันสังคมของกระทรวงแรงงานได้รับจัดสรรเพื่อฉีดให้กับแรงงานในมาตรา 33 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครอีก 1,000,000 โดส รวมกับผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครที่หายป่วยแล้วมีภูมิคุ้มกันอีกกว่า 50,000 คนเท่ากับภายในเดือนมิถุนายนนี้กรุงเทพมหานครจะมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 3 ล้านคน (3,080,486 คน) หรือคิดเป็น​ 44​% ของประชากร

เหมือนจะเป็นไปได้ สำหรับเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ราว 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากรภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ยังต้องอยู่บนเงื่อนไขทั้งประสิทธิภาพวัคซีน ความแน่นอนของวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรร และวิธีการกระจาย

ต้องไม่ลืมว่า ที่เราคำนวณกันเมื่อสักครู่ รวมทั้งผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว และคนที่ฉีดเพียงเข็มแรกซึ่งจะมีทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ที่ภูมิต้านทานขึ้นไม่พร้อมกัน นี่จึงเป็นข้อสังเกตว่า เป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ที่ว่า อาจเป็นเพียงสิ่งสมมุตหรือไม่

ในมุมมองของนักวิจัยด้านไวรัสวิทยาไบโอเทค-สวทช อธิบายว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ 70 % อยู่บนสมมติฐานว่าวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ 100% ซึ่งความเป็นจริงขณะนี้ ยังไม่ใช่ รวมถึงความสามารถในการแพร่กระจายของไวรัส จึงเชื่อว่า โอกาสในการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 1-2 เดือนนี้ยังเป็นไปได้ยาก

ขณะที่ หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ยอมรับว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ แต่เราสามารถใช้วัคซีนเพื่อช่วยหยุดการระบาดเหมือนที่หลายประเทศใช้ แทนการใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ในความจริงเราไม่อาจฉีดวัคซีนให้กับคนทั้ง 100 % ได้ แต่ถ้าจะหยุดระบาดในกรุงเทพมหานครให้ได้จริง อาจต้องตั้งหลักกันใหม่ คือเดินหน้าฉีดให้กับทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ระบาดหนัก ไม่ใช่ เฉพาะคนไทย หรือ แรงงานที่ถูกกฎหมาย​ เพราะไวรัสเองก็ไม่แบ่งแยก การจะคุมระบาดได้ ต้องอยู่บนหลักการที่ว่า เราจะปลอดภัยได้ ก็ต่อเมื่อ ทุกคน ซึ่งหมายถึงในพื้นที่ระบาดหนัก ต้องปลอดภัยก่อน




ความคิดเห็น