เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน “ความหวัง วัคซีนเด็ก”
นอกจากปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว 14 มิ.ย. 64 ยังเป็นกำหนดเปิดภาคเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ หลังต้องเลื่อนมาหลายรอบ แต่อย่างที่ทราบกันว่า เฉพาะจังหวัดพื้นที่สีแดง และสีส้ม เท่านั้นที่จะเปิดเรียนที่โรงเรียนได้ ส่วน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม รวมถึงกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ วัคซีนเด็กจะเป็นคำตอบให้พวกเขาได้กลับมาเรียนในโรงเรียนได้หรือไม่
น่าจะเป็นความหวังสำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ได้ในช่วงเด็ก 12-15 ปี ที่เรากำลังจะนำเข้ามาในไตรมาส 3 แต่มาแล้วก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยทั้งสถานการณ์การระบาด ความจำเป็นและผลข้างเคียง เพราะต้องยอมรับตอนนี้สถิติเด็กป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด ค่อนข้างต่ำ
เราเริ่มเห็นบรรยากาศการเปิดเทอมของหลายๆที่ หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่สำหรับ 4 จังหวัดคือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เปิดเหมือนกันแต่เปิดเรียนแบบออนไลน์ และออนแอร์เป็นหลัก คำถามก็คือเมื่อไหร่โรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้มจะกลับไปเรียนที่โรงเรียนแบบได้ ตัวเลือกหนึ่งที่นึกถึงกันก็คือ การฉีดวัคซีนในเด็ก
แม้จะขณะนี้วัคซีนหลายยี่ห้อกำลังเร่งศึกษาการฉีดวัคซีนในเด็ก แต่ที่มีรายงานและอนุมัติการใช้ไปแล้วมีเพียงวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ ที่ผ่านมาก็มีอย่างน้อยๆ คือ แคนนาดา สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มฉีดวัคซีนตัวนนี้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไปแล้ว สำหรับไทยควรช่างน้ำหนักเรื่องนี้อย่างไร
ความจำเป็นของวัคซีนเด็ก
ไฟเซอร์คือวัคซีน covid-19 เพียงยี่ห้อเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ ให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินกับเด็กอายุ 12-15 ปีได้แล้ว ขณะที่อีกหลายยี่ห้อกำลังเร่งศึกษาวิจัย และขออนุมัติใช้ในเด็ก ไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค หรือ โมเดอร์น่า
เวลานี้ ประเทศไทยมีวัคซีนเพียง 2 ยี่ห้อ คือซิโนแวค และแอสตราเซเนกาที่ระบุว่า ให้ใช้ได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีแผนจะนำเข้าวัคซีนอีกหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ ไฟเซอร์ ในไตรมาส 3 เมื่อยังไม่มีการนำเข้าวัคซีน Covid-19 ที่ใช้ในเด็ก ส่งผลให้นักเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่เริ่มเปิดภาคเรียนในวันนี้ ยังคงไม่สามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ โดยประธานชมรมแพทย์ชนบท กังวลว่าหากการฉีดวัคซีนคือเงื่อนไขการกลับไปเรียนที่โรงเรียน ระยะเวลาปิดเรียนที่ทิ้งช่วงนาน อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
วัคซีนซิโนแวคอาจฉีดในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีได้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้รอผลการศึกษาวิจัยของบริษัทผู้ผลิตในจีนทั้งปริมาณโดส จำนวนครั้งที่ฉีด ระยะห่างระหว่างเข็ม เนื่องจากร่างกายเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ หากมีการศึกษาวิจัยเรียบร้อยแล้วองค์การอาหารและยาของประเทศไทย ก็สามารถที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อเพิ่มเงื่อนไขหรือข้อบ่งชี้ในการใช้ต่อไป
แต่ปฎิเสธไม่ได้ถึงลักษณะการติดเชื้อของ covid 19 ในเด็กว่ามีอาการน้อยกว่า แทบไม่มีอัตราการเสียชีวิต เนื่องจาก เด็กมีภูมิต้านทานมากกว่าผู้ใหญ่ หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ระบุว่าการฉีดกับกลุ่มผู้ใหญ่เช่นครูหรือผู้ปกครองเป็นการลดการแพร่เชื้อมาสู่เด็กได้
ทั้งนี้แผนกระจายวัคซีนจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากมีการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมที่มากพอ ก็จะทำให้คนอื่นๆที่มีข้อจำกัดในการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการติดโรคไปได้ด้วยเช่นกัน
แม้การฉีดวัคซีนจะเป็นก้าวสำคัญของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซ็ตที่ทำการศึกษาข้อมูลใน 7 ประเทศ ประเมินว่ามีเด็กน้อยกว่า 2 คน ใน 1 ล้านคน ที่เสียชีวิตจากโควิด-19
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็กในไทย พบว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ป่วยโควิด19 ในเด็กอยู่ที่ 8% และมีอาการน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่ไวรัสกลายพันธุ์จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เปอร์เซ็นการติดเชื้อในเด็กอาจจะเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นการคุมโรคในเด็กก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณากัน
สหรัฐ แคนาดา เป็น 2 ประเทศแรกที่อนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และเยอรมนี เป็นประเทศล่าสุด หลังสำนักงานยาสหภาพยุโรป อนุมัติให้ประเทศสมาชิกฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้กลุ่มเด็กอายุ 12-15 ปีได้ เหตุผลหนึ่งของการฉีดวัคซีนในต่างประเทศ คือ ต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
แต่ดูเหมือนเด็กเล็กจะไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายมาก ขณะที่เด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ก็ยังมีส่วนในการแพร่เชื้ออยู่ นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นไม่ตรงกัน บางงานวิจัยพบว่าเด็กอายุ 16-17 ปี ในอังกฤษ มากกว่า 25% มีแอนติบอดีในตัวเองทั้ง ๆ ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ดังนั้นในอังกฤษ หรือประเทศที่มีสถานการณ์คล้าย ๆ กันเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนให้เด็ก
คาด "ไฟเซอร์" เข้าไทยไตรมาส 3 ปี 64
สำหรับประเทศไทย หากจะฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีอาจต้องรอจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2564 ประเด็นนี้ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ไทยมีแผนจะนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์แน่นอน แต่ระหว่างที่ยังไม่ถึงตอนนั้น และการเปิดเทอมก็เริ่มขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดโควตาฉีดให้กับครูเป็นหลัก
ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนกลุ่มครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ วันละ 4-5 พันคน ศบค.ระบุ ที่ผ่านมาระดมฉีดวัคซีนให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา แม่บ้าน รปภ. มีการระดมฉีดแล้วเกือบ 60% จากบุคลากรทางการศึกษาของรัฐ และเอกชน ที่ทั้งหมดประมาณ 600,000 คน
วัคซีนเด็ก อาจจะเป็นอีกความหวังที่จะทำให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ได้กลับไปเรียนตามปกติ แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้พวกเขาได้กลับไปเรียนได้ตามปกติ นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนให้กับผู้ใหญ่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็คือ ความสามารถในการจัดการคุมระบาด เพื่อไม่ให้ปัญหาวนซ้ำกลับมาที่เดิม
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น