เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "เชื้อกลายพันธุ์ วิบากกรรมวัคซีน"
การปรับเปลี่ยนแผนกระจายวัคซีนของรัฐบาลล่าสุด ที่ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านหมอพร้อม แต่มอบให้จังหวัดไปบริหารจัดการเอง ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนที่ผลิตในประเทศโดยสยามไบโอไซแอดซ์ ก็ยังไม่มีวันส่งมอบที่แน่ชัด เหล่านี้ล้วนกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่ต้องการวัคซีน ท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ลดลง
ไม่น่าแปลกใจทันทีที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศจัดหาวัคซีนทางเลือกของซิโนฟาร์มโดยไม่ผ่านรัฐบาล ปรากฎว่ามีประชาชนจำนวนมากเข้าไปลงทะเบียนจองคิวจนเว็บล่ม สะท้อนให้เห็นความต้องการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ยังมีคำถามว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าคือ ซิโนแวค และแอสตราเซเนกาจะรับมือได้หรือไม่
เช็คประสิทธิภาพวัคซีนในไทย สู้โควิดกลายพันธุ์
โควิด-19 การระบาดในประเทศไทยทั้งระลอก 1 และ 2 เป็น สายพันธุ์ G แต่การระบาดระลอก 3 ที่เริ่มต้นในเดือนเมษายน 2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากกว่าทุกระลอกที่ผ่านมาคือ สายพันธุ์อังกฤษ ที่คาดว่ามาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ หรือหลุดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
20 พฤษภาคม 2564 การตรวจโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ พบ สายพันธุ์อินเดีย เป็นครั้งแรก ไล่เลี่ยกันวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 พบ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นำมาซึ่งความกังวลว่าสายพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 สายพันธุ์ จะรุนแรงกว่าสายอังกฤษที่ระบาดหลักอยู่ในตอนนี้ และวัคซีนที่ไทยมีอยู่จะรับมือได้หรือไม่
สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่น่ากังวลเท่าสายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่ได้เร็วกว่า คือ คำยืนยันจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาไบโอเทค-สวทช แต่เขาก็ตอบยากว่าวัคซีนซิโนแวคจะสามารถรับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้มากน้อยแค่ไหน ขณะวัคซีนแอสตราเซเนกาผลศึกษาประสิทธิครอบคลุ่ม
ทั้งนี้สายพันธุ์ใดจะกลายมาเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักขึ้นอยู่กับว่ามีความสามารถในการแพร่กระจาย ซึ่งเชื่อว่าอนาคตไทยมีแนวโน้มว่า สายพันธุ์อินเดียอาจจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ
แต่ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นห่วงสายพันธุ์แอฟริกามากกว่าสายพันธุ์อินเดีย เพราะวัคซีนที่ไทยมีอยู่ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซนกาไม่สามารถรับมือได้ จึงยังมองว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็อาจจะมีสัดส่วนได้มากขึ้น เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีไม่สามารถเอาอยู่
อย่างไรก็ตาม ทั้ง ศ.นพ.มานพ และ ดร.อนันต์ เห็นตรงกันว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะเป็นสิ่งสมมุติ ที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประชากร 70% นั้นอยู่บนสมมติฐานว่าวัคซีนต้องได้ประสิทธิภาพ 100% ซึ่งความเป็นจริงตอนนี้วัคซีนยังตัวใด ไม่มีประสิทธิภาพถึง 100%
สายพันธุ์ที่ดุ ที่สุดคือสายพันธุ์ที่แพร่เร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน นักไวรัสวิทยา และอาจารย์แพทย์ ก็เห็นตรงกันอีกว่าไม่มีโควิดสายพันธุ์ใดที่มีความรุนแรงไปกว่าสายพันธุ์อื่น ปัจจัยของความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการแพร่กระจายของเชื้อ ที่หากสามารถติดต่อกันได้ง่าย ก็จะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว เป็นที่มาที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากการเข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุข
ดังนั้นวัคซีนก็ยังคงเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้อีกเช่นเคย ทบทวนกันอีกครั้งว่าประเทศไทยตอนนี้มีวัคซีน ที่นำเข้ามาแล้วทั้งหมด 3 วัคซีน รวม ซิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปรียบเทียบประสิทธิภาพการให้เห็นชัดๆ พบว่า ซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพสูงกว่าซิโนแวค ทั้งยังได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ใกล้เคียงกับ astrazeneca เพียงแต่ต่างกันที่เทคโนโลยีการผลิต วัคซีนทางเลือกนี้ จะช่วยป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่นๆได้แต่ก็ยังต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนโดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้
ประสิทธิภาพของวัคซีน กับการกลายพันธุ์ของไวรัส และการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีน ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นคือแผนการนำเข้าและการจัดหาวัคซีนที่ยังมีปัญหาอยู่ วันที่ 7 มิถุนายน เป็นวันที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศจะฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ แต่การนำเข้าวัคซีนล็อตใหญ่ astrazeneca ที่ล่าช้า อาจไม่เป็นไปตามนั้น ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาล ที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ที่ต้องรับมือกับคำถามจำนวนมากของประชาชน
แม้บนหลักการแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้เมื่อได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 100% แต่จนถึงตอนนี้วัคซีนที่มีอยู่ประสิทธิภาพอาจไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็จำเป็นที่ทุกคนต้องฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการความรุนแรงของโรค และรักษาระบบสาธารณสุขให้ยังคงไปต่อได้ เมื่อรัฐบาลกำลังประสบปัญหาการกระจายวัคซีน ทางออกคือต้องเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นจัดหาเพิ่มหลายๆทางเลือก แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลควรจะต้องบอกความจริงกับประชาชนว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไรและคำขอโทษอาจเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น