เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "ถอดบทเรียนพื้นที่ระบาด​ สู่​ ภูมิ​คุ้มกัน​หมู่"

เป็นอีกครั้งที่มีการปรับแผนกระจายวัคซีน covid-19 ที่ยังมีอยู่จำกัด เฉพาะวัคซีนซิโนแวค เกือบ 3 ล้านโดส​ และของแอสตราเซเนกา ประมาณ 1​แสน​ 7​ หมื่นนำเข้ามา ก่อนล็อตใหญ่เดือนมิถุนายนนี้ 


วัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีน​ฉุกเฉิน​ที่ถูกนำมาใช้ ตัดวงจรระบาดในพื้นที่ที่เป็นคัตเตอร์ใหญ่ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา วัคซีนถูกใช้ไปอย่างน้อย 3 คัตเตอร์ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร​ ทั้งบางแค​ ทองหล่อและล่าสุดที่ชุมชนคลองเตย​ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแผนกระจาย​วัคซีนอย่างทุกครั้ง​ ย่อมส่งผลกระทบต่อแผนวัคซีนเดิมที่เคยวางเอาไว้ เช่นที่จังหวัดสมุทรสาคร มีการตัดโควตาวัคซีนออกไป ขณะเดียวกันจังหวัดภูเก็ต ที่ต้องเร่งฉีดวัคซีน ก่อนนำร่องเปิดประเทศ 1 กรกฎาคมนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับวัคซีนที่เหลือหรือไม่

การจัดสรรวัคซีน covid19 จังหวัดสมุทรสาคร ตามแผนเดือนกุมภาพันธ์จะได้รับวัคซีนซิโนแวค​ 3 รอบรวม 230,000 โดส แต่ปัจจุบันได้รับจัดสรรรวมเพียงหนึ่ง​ 177,840 โดส​ เท่านั้น​ 

ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาคร เฉพาะประชากรไทยที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนแล้ว 105,083 คน​ คิดเป็น​ 12.48% ซึ่งในพื้นที่ ยังมีแรงงานต่างด้าวเป็นประชากรแฝง หากต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่​ ต้องฉีดครอบคลุมไปด้วย

และขณะเดียวกันพบว่า​ การฉีดวัคซีนแบบสมัครใจนั้น แม้บุคลากรทางการแพทย์จะฉีดได้ถึง 93 เปอร์เซ็นต์ แต่กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน​ หรืออสม.​ กลับได้ต่ำกว่าเป้าหมายเพียง 54 เปอร์เซ็นต์​ อาจเป็นอุปสรรคในการกระจายวัคซีน ที่ต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจโดยอาศัยผู้นำชุมชน

สวนทางกับจังหวัดภูเก็ต​ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ประชาชนมีความต้องการฉีดวัคซีน​ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า โดยเฉพาะ​โครงการภูเก็ต sandbox ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยว 1 กรกฎาคมนี้ หมายความว่าต้องปิดจ๊อบ​ การฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในกลางเดือนมิถุนายน

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตสามารถ ฉีดวัคซีนได้สูงสุดถึงวันละ 15,000 คนต่อวัน ซึ่งไม่ยากที่จะ ทำตามแผนฉีดวัคซีน​ให้ครอบคลุม​ ประชากร 70% ของจังหวัดแต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้วัคซีนที่เหลือมาทันก่อน กลางเดือนมิถุนายนนี้ หรือไม่ 

ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเผชิญกับโจทย์หลายด้านในการกระจายวัคซีน​ หนึ่ง คือ การจัดหาวัคซีนล่าช้าเกินไปหรือไม่​ และไม่กระจายความเสี่ยง มีวัคซีนให้เลือกเพียง 2 ชนิดคือ ซิโนแวค​ และ​แอสต​ราเซเนกา​ และสอง​ โจทย์ที่ตามมาคือความมั่นใจของประชาชนต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีสามารถป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่น​ และผลข้างเคียงที่จะตามมาปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้​ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยงภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ไวรัสวิทยาคลินิก​ จุฬาฯ​ พูดชัดเจนว่า วัคซีนซิโนแวด​ และ​ แอสตราเซเนกา สามารถ​สร้างภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อเทียบกับการติดเชื้อตามธรรมชาติ

 โดย astrazeneca เพียงเข็มเดียวก็สามารถสร้างภูมิต้านทานหลังฉีดไป 1 เดือน​ ถึง 98% ขณะที่ ซิโนแวคหลังฉีด 2 เข็ม 1 เดือนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ถึง 99.4 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าประสิทธิภาพไม่ได้แย่ไปกว่าวัคซีนไฟเซอร์ อย่างที่เรียกร้องกัน

ขณะที่ศาสตราจารย์แพทย์หญิงกุลกัญญา​ โชคไพบูลย์กิจ​ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บอกว่าอัตราการเกิดอันตรายจากภาวะลิ่มเลือดหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้า​ ซึ่งเป็นล็อตใหญ่ของไทย​ เทียบกับโอกาสการเข้า ICU ถือว่าต่างกันมาก​ และการฉีดวัคซีนมีประโยชน์กว่า 

หากดูตามกราฟฟิกนี้จะพบว่า ด้านซ้ายคือโอกาสที่จะเข้า ICU ในกลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโอกาสเข้า ICU 127 ต่อ 1 แสนคน ในขณะที่โอกาส เกิดอันตรายจากการฉีดวัคซีนมีเพียง 0.2 ต่อ 1 แสนคนเท่านั้น

นาทีนี้ต้องยอมรับว่าวัคซีนที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่มาเร็วที่สุด นายแพทย์โสภณเมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำชัดว่าเป้าหมาย การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศคือคนไทยจะได้รับวัคซีน 50 ล้านคนในภายในสิ้นปี 2564 และการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่ม แต่การตัดสินใจจัดหาวัคซีนตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะส่งมอบวัคซีนได้เร็วที่สุดเพื่อนำมาฉีดให้ทันต่อสถานการณ์ตอนนี้





ความคิดเห็น