เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน “คลัสเตอร์ใหม่ทั่วกรุง”
นายกฯ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนชาวกทม. 5 ล้านคนเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 2 เดือน โควิด-19 ลามชุมชนแออัด เปิดแผลระบบสาธารณสุขเมืองหลวง ด้าน “ผศ.บวรศม” แนะ สธ.รีบจองซื้อวัคซีนเข็ม 3 หยุดระบาดรอบ 4
จนถึงขณะนี้ (20 พ.ค. 64) ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดรอบ 3 หรือการระบาดใหม่เดือนเมษายนจะจบลงเมื่อไหร่ แต่หลายมาตรการควบคุมโรคถูกใช้ ไปหมดทุกทาง รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์แบ่งโซนสี ซึ่งล่าสุด 4 จังหวัดยังถูกประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร
โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดรอบนี้ ติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมจากการระบาดรอบก่อน เมื่อเชื้อลามลงไปถึงชุมชนแออัดที่มีสภาพเอื้อต่อการระบาดเนื่องจากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ก็ทำให้การควบคุมโรคเป็นอย่างยากลำบาก
“ผศ.นพ.บวรศม” รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ประเมินตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้วยหลักการระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 พบว่า จํานวนผู้ติดเชื้อใน กทม. จะทรงตัวอยู่ในหลัก 1,000 – 2,000 คน ไปอีก 2-3 สัปดาห์ และกว่าจะได้เห็นผู้ติดเชื้อลดลงเป็นหลักร้อย อาจจะลากยาวไปถึงปลายเดือนมิถุนายน
ขณะที่ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายรัฐมนตรี ระบุให้ความสำคัญกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ให้ได้อย่างน้อย 5 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ภายใน 2 เดือน (มิ.ย. - ก.ค.) เพราะมาตรการล็อคดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 14 วันที่ผ่านมา เริ่มเห็นผลกระทบทางเศรษฐกิจจนในที่สุดก็รัฐยอมผ่อนปรนมาตรการ ท่ามกลางความกังวลของนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าภาระงานของแพทย์ยังล้นมือ
นั่นหมายความว่ากรุงเทพมหานครต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่ม จาก 1 ล้านของแอสตราเซเนกา เป็นไม่น้อยกว่า 10 ล้านโดส ขณะที่เดือน มิ.ย. - ก.ค. แอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซแอนด์จะส่งมอบวัคซีนรวม 16 ล้านโดส ซึ่งอาจกระทบเป้าหมายแผนกระจายวัคซีนเพื่อผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรัง 16 ล้านคนหรือไม่
ไทม์ไลน์ส่งมอบวัคซีนซิโนแวค
ปี 2564
ก.พ. 200,000 โดส
มี.ค. 800,000 โดส
เม.ย 1,500,000 โดส
พ.ค. 1,500,000 โดส
มิ.ย. 2,000,000 โดส
รวม 6,000,000 โดส
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข
ไทม์ไลน์ส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา
ปี 2564
มี.ค. 117,600 โดส
มิ.ย 6 ล้านโดส
ก.ค. 10 ล้านโดส
ส.ค. 10 ล้านโดส
ก.ย. 10 ล้านโดส
ตุ.ค. 10 ล้านโดส
พ.ย. 10 ล้านโดส
ธ.ค. 5 ล้านโดส
รวม 61,117,600 โดส
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนนี้กรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีน โควิด-19 จำนวน 2,500,000 โด๊ส และทันทีที่ได้รับวัคซีนมา กรุงเทพมหานครจะแบ่งวัคซีน ให้กับผู้ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม จำนวน 500,000 โดส, กลุ่มก้อนองค์กรภาครัฐและเอกชน จำนวน 300,000 โดส, โรงพยาบาลใน กทม.จำนวน 126 แห่งจำนวน 400,000 โดส, ส่วนที่เหลือฉีดให้กับกลุ่มอาชีพเสี่ยง 1,300,000 โดสที่จะเดินทางมาฉีดในจุดฉีดวัคซีนนอกสถานที่จำนวน 25 จุด ของกรุงเทพมหานคร โดยไม่รวมกับจุดบริการฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ
คาดว่าภายในหนึ่งเดือนกรุงเทพมหานครจะฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ส่วนในเดือนกรกฎาคม ก็จะดำเนินการฉีดวัคซีนตามแผนอีก 2,500,000 โดส เพื่อให้ครบตามจำนวน 5,000,000 โดส ที่จะฉีดให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
“วัคซีนที่กรุงเทพมหานครเหลืออยู่ ขณะนี้มีไม่ถึง 100,000 โด๊ส จากที่ได้รับจัดสรรมาประมาณกว่า 5 แสนโด๊ส ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างรอการจัดสรรล็อตใหม่ เพื่อให้บริการได้ตามเป้าหมาย”
อย่างไรก็ตาม วัคซีนขณะนี้ยังมีจำกัด ทั้งยังต้องใช้ระยะเวลาในการปูพรมฉีดวัคซีนระยะหนึ่ง กว่าจะสร้างภูมคุ้มกันหมู่ ดังนั้นในระยะเร่งด่วนเพื่อตัดวงจรระบาดวัคซีนอาจยังไม่ใช่คำตอบ นักวิชาการสาธารณสุข และนักเศรษฐศาสตร์ ที่เฝ้าจับตานโยบายควบคุมโรค เสนอว่าสิ่งสำคัญที่ทำได้ทันทีคือการสอบสวนโรคเพื่อหาผู้ติดเชื้อแยกออกมายังคงต้องทำควบคู่กันไป แต่ข้อจำกัดที่ไม่ปฏิเสธไม่ได้กคือ ผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากไม่สามารถสอบสวนโรคได้ทัน เป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมการระบาด
“ระบบสาธารณสุข กทม.” ข้อจำกัดคุมโควิด-19 ?
การระบาดระลอกใหม่ในระยะหลัง แทบไม่เห็นการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ ด้วยจำนวนที่มากถึงหลักพันคนต่อวัน เมื่อเทียบกับการระบาดรอบแรกที่มีหลักสิบถึงหลักร้อย ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด แต่ทีมสอบสวนโรคมีเพียง 69 ทีม แม้จะมีทีมจากกรมควบคุมโรค และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เข้ามาช่วยแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อหลักพันในทุกวัน
เมื่อการสอบสวนโรคไม่สามารถทำได้ครบทุกคน คลัสเตอร์การระบาดใหม่จึงค่อยๆผุดขึ้นในหลายจุดทั่วกรุง ปัจจุบัน ศบค.แถลงเพียงจุดเสี่ยง ให้ผู้ที่เคยเดินทางไปสัมผัสเข้ารับการตรวจ
15,000 - 20,000 คน คือศักยภาพในการตรวจเชื้อเชิงรุกของกรุงเทพมหานครที่ร่วมมือกับทุกฝ่ายแล้ว ในระยะยาว “ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง” โฆษกกรุงเทพมหานคร มองว่าวัคซีนจะเป็นตัวจบปัญหาทุกอย่าง จึงทุ่มเททรัพยากรเพื่อปูพรมฉีดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ใน 2 เดือน ขณะที่ระยะเฉพาะหน้า กทม.ยอมรับว่าการตรวจเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคให้ครบเป็นไปได้ยาก ด้วยทรัพยากรบุคคลที่มีจำกัด และการฉีดวัคซีนใช้งบประมาณน้อยกว่า
“เราตรวจเชื้อโควิด-19 ต่อคนบางคนต้องตรวจถึง 3 ครั้ง ครั้งละ 2,000 - 3,000 บาท แต่หากใช้วัคซีนในการควบคุมโรค ถ้าเป็นวัคซีนซิโนแวค คนละ 1,200 บาท ถ้าเป็นแอสตราเซเนกาคนละ 200-300 บาท เพราะฉะนั้นหากเราไปเร่งตรวจเชิงรุก สุดท้ายหาผู้ติดเชื้อเจอก็ต้องแยกคนที่ไม่ติดเชื้อมาฉีดวัคซีนอยู่ดี ก็ต้องทำคู่กันไป”
“รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ มองต้นตอของปัญหาการควบคุมโรคในกรุงเทพมหานคร เปรียบเทียบกับต่างจังหวัด ข้อเสนอการตรวจและสอบสวนโรคเพื่อแยกผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงอาจเป็นจริงได้ เพราะมีเครือข่ายอสม.และระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็ง สวนทางกับกรุงเทพมหานครที่มีระบบสาธารณสุขแยกส่วน และอ่อนแอ มาอย่างยาวนาน เมื่อเจอวิกฤติก็ยากที่จะรับมือ จนในที่สุดนายกรัฐมนตรีต้องลงมานั่งเป็นประธาน ศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 หรือ ศบค.กทม.เอง เพื่อให้เกิดการทำงานบูรณาการ เพราะอาจต้องยอมรับว่าโครงสร้างการบริหารงานด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกับสำนักงานสาธารณสุขหรือ สสจ.ในต่างจังหวัด
“พื้นที่ที่จะทำงานในกรุงเทพมหานคร ถึงแม้ว่ามอบอำนาจให้ผู้อำนวยการเขต แต่อย่าลืมว่า เขตหนึ่งเขตในกรุงเทพมหานครใหญ่กว่าจังหวัดหลายจังหวัด เพราะฉะนั้นลำพังผู้อำนวยการเขตคนเดียวเอาไม่อยู่ ทรัพยากรที่มีอยู่ในเขตไม่พอ จำเป็นต้องระดมทรัพยากรของประเทศเข้ามา ซึ่งอำนาจนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี”
ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร มีชุมชนแออัดมากกว่า 680 แห่ง สิ่งที่พบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ หลายชุมชนที่ กทม. ส่งทีมตรวจเชิงรุกลงไปนั้น จะพบผู้ติดเชื้อ ขณะที่อีกหลายแห่ง แม้จะมีผู้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่มีทีมตรวจเชิงรุกลงพื้นที่ต่อเนื่อง และไม่ได้รับวัคซีน เพราะจนถึงขณะนี้ วัคซีนที่กรุงเทพมหานครมี ก็เริ่ม ตึงมือ ตราบใดที่วัคซีนของแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่ยังไม่เข้ามา
สถานการณ์ระบาดที่ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ยังมีบางส่วนที่ต้องพักคอยก่อนถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลหลัก แพทย์ - พยาบาล ที่มีอยู่ ก็เริ่มไม่พอ ต้องดึงบุคลากรจากต่างจังหวัดมาช่วย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาในกรุงเทพฯ วิกฤตตั้งแต่ต้นทางคือการตรวจคัดกรอง การนำคนส่งต่อเข้าสู่ระบบ เรื่อยไปจนถึงขั้นตอนการรักษา หลายฝ่ายจึงเห็นว่า การปฏิรูประบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานครอาจเป็นสิ่งที่ต้องถอดบทเรียน หลังโควิด-19 จบลง
แนะ สธ.รีบจองซื้อวัคซีนเข็ม 3 หยุดระบาดรอบ 4
การระบาดรอบ 4 ก็อาจเกิดขึ้นได้หลังจากนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันของประชากรจากการฉีดวัคซีนหมดอายุ ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าวัคซีนที่ฉีดไปสร้างภูมิคุ้มกันได้นานเท่าใด และ ไวรัสกลายพันธุ์โดยที่ยังไม่มีวัคซีนใหม่มารองรับ
“ข้อเสนอของผมและทีมสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องฉีดวัคซีนเข็ม 3 เป็น Booter Dose มันไปผูกกับเรื่องเศรษฐกิจสังคมเมื่อผู้มีภูมิมากขึ้นต่อให้ไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งประเทศ แต่มีบาง Sector บาง Industry ที่สามารถเปิดได้ ก็ช่วยเรื่องเศรษฐกิจสังคม ถ้าเราเรียนรู้จากระลอกแลกว่าอัตราการต่อลองจองซื้อวัคซีนเป็นอย่างไร ทำไมจึงไม่รีบจองซื้อแต่เนิ่นๆ”
การจัดหาวัคซีน เข็มที่ 3 จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเริ่มเจรจา และวางแผนให้ชัดเจน อาจอาศัยต้นทุนจากการเป็นฐานการผลิตแอสตราเซเนกา ของบริษัทสยามไบโอไซแอนด์ในการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า นอกจากวัคซีนล็อตแรก 61 ล้านโดส เพื่อใช้ต่ออายุภูมิคุ้มกันหมู่ของประชากร และลดความรุนแรงหากเกิดการระบาดระลอก 4 ในอนาคต.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น