เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "ระยะสั้นล็อกดาวน์ ระยะยาววัคซีน"
แม้นายกรัฐมนตรีจะเรียกความเชื่อมั่นว่าจะ ทำทุกทางเพื่อผ่านวิกฤต โดยเตรียมความพร้อมทั้งการเพิ่มเตียง และการจัดหาวัคซีนเพิ่ม เร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก่อนสิ้นปีนี้ แต่ก่อนจะถึงจุดนั้นแพทย์หลายคนเริ่มเห็นตรงกันว่าการระบาดรอบนี้เอาไม่อยู่ และวัคซีนยังไม่ใช่ทางออกเฉพาะหน้า สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือกลับไปใช้วิธีดั้งเดิม นั่นคือการ ล็อกดาวน์อย่างจริงจัง
ถ้าอัตราการติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับ 1-2 พัน การใช้เตียงก็จะเพิ่มจำนวนตามไปด้วย ตัวเลข ณ วันที่ 25 เม.ย. 2564 มีผู้ครองเตียงไปแล้ว 24,207 เตียง ทำให้เหลือเตียงว่างเพียง 16,317 เตียง เมื่อจะต้องมีผู้เข้ารับการรักษาใหม่วันละกว่าพันคน เฉลี่ยดูแล้ว คาดการณ์ว่าเตียงจะเต็มในอีก 9 วัน
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ฉายภาพให้เห็นวิกฤตของระบบสาธารณสุข และเสนอว่ารัฐควรตัดสินใจยกระดับมาตรการควบคุมโรคทันที
น.พ.เฉลิมชัย ไม่ใช่แพทย์คนแรกที่เสนอให้รัฐยกระดับมาตรการ แต่ก่อนนี้ น.พ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และ พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 รอบนี้อาจเอาไม่อยู่
แต่การแถลงข่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ยันยืนจะไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เนื่องจากส่งกระทบทางเศรษฐกิจสูง แต่ก็เปิดทางให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ประกาศเคอร์ฟิวได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดรอบแรกเมื่อปี 2563 รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวทำให้ควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อลงจนกลายเป็น 0 ในเดือนกรกฎาคม แต่ก็ต้องมาพร้อมมาตรการเยียวยา และการกู้เงิน 1 ล้านล้าน
นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการระบาดรอบนี้อาจต้องทำเช่นเดียวกัน เวิร์คฟอร์มโฮมร้อยเปอร์เซ็นต์ ล็อกดาวน์อย่างเต็มที่ แค่ปิดสถานบันเทิงนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเชื้อได้แพร่กระจายไปแล้ว จะต้องปิดอย่างอื่นที่จำเป็นร่วมด้วย และต้องเยียวยาไปพร้อมกัน
ด้านกลุ่มนักระบาดวิทยา ประเมินว่าการระบาดระลอกสามนี้จะต้องใช้เวลาราว 2เดือนจึงจะคลี่คลายลง แต่นั่นอยู่บนเงื่อนไขที่ว่ามีการล็อกดาวน์เต็มที่ แต่หากปล่อยไว้จนเกิดภาวะล่มสลาย การระบาดในไทยก็จะไม่มีจุดจบ
แม้วัคซีนอาจยังไม่ใช่ทางออกสำหรับการระบาดรอบนี้ แต่คำถามสำคัญก็คือแผนการจัดหาวัคซีนล่าช้าเกินไปไม่ทันกับสถานการณ์หรือไม่ เรื่องนี้ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกัน covid 19 ยอมรับว่าพูดยากและเห็นใจคนตัดสินใจในตอนนั้น แต่ถึงวันนี้ต้องเดินหน้าต่อ และตั้งเป้าฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมูเร็วที่สุด ขณะที่ภาคเอกชนเข้ามาช่วยแบ่งกลุ่มฉีดลูกจ้างที่อายุ 20 - 40 ปีส่วนรัฐก็จะฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัวอยากให้ช่วยกันไปพร้อมกันทั้ง 2 ทาง
สำหรับแผนกระจายวัคซีน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคมรวมกว่า 3,600,000 โดส
สัดส่วนการฉีดวัคซีนมุ่งเน้นไปที่บุคลากรทางการแพทย์ ถึง 50% รองลงมาเป็นประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 28%
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ 1. เพื่อรักษาระบบสาธารณสุขให้สามารถเดินต่อไปได้ มีบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาไม่ติดเชื้อเพิ่ม 2. ลดอัตราการป่วยการตาย การเข้าห้องไอซียู และ 3. ขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจ
แต่ทั้งนี้นายแพทย์โสภณยอมรับว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม วัคซีน astrazeneca ที่ผลิตในไทย รวมจำนวน 16 ล้านโด๊สตั้งเป้าจะฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็มองไปที่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ครู พ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด และกลุ่มพื้นที่เฉพาะ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายวัคซีนพาสปอร์ตที่ยังคงเดินหน้าตามแผนตั้งเป้าจะเปิดประเทศในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่อาจไม่สามารถเปิดได้ทั้งประเทศ อาจพิจารณาเป็นจังหวัดไปที่ได้รับวัคซีนเกิน 70%
แม้วัคซีนดูเหมือนเป็นทางออก แต่วัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ยาวนานเท่าไหร่ยังไม่มีใครรู้ คาดว่าเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปี จำเป็นต้องศึกษาต่อไปเพื่อวางแผนการจัดซื้อวัคซีนวัดใหม่ในอนาคต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น