เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "ต้องรู้ แยกกักผู้เสี่ยงสูง คุมโควิดรอบ 3"
แม้จะยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกแนวทางการแยกกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่บ้าน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ขณะที่มาตรการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็เป็นหนึ่งในแนวทางควบคุมโรค ที่รัฐอาจต้องพิจารณาอย่างจริงจังไปพร้อมกัน ทั้งสถานที่แยกกัก และความเข้าใจในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อควบคุมโรค ติดตามในพลิกปมข่าว กับคุณวชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย
ถ้าย้อนดูการระบาดรอบแรก ๆ ที่ผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จึงเกิดมาตรการ state quarantine หรือสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ เพราะถือว่าผู้ที่มาจากต่างประเทศเป็นผู้เสี่ยงสูง ที่อาจนำเชื้อมาแพร่กระจายในประเทศ แต่การระบาดรอบนี้ คลัสเตอร์หลักอยู่ภายในประเทศ เมื่อผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันต่อเนื่อง 6 วัน นั่นหมายถึงจำนวนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เพิ่มขึ้นด้วย
แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีข้อจำกัด หากต้องกักตัวเอง 14 วัน นอกจากความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตัว หากพบว่า ติดเชื้อภายหลังแล้ว สภาพที่อยู่อาศัยที่จะสามารถกักตัวเองได้ ก็เป็นอีกปัจจัย
โควิด-19 ที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่เร็ว ติดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม 1.7 เท่า และมีระยะฟักตัวที่ต่างจากเดิม ทำให้กรมควบคุมโรคต้องปรับแนวทาง ตรวจหาเชื้อผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 ครั้ง จากเดิมเพียงครั้งเดียว คือ ตรวจทันทีเมื่อติดตามตัวได้ และตรวจครั้งที่ 2 ในอีก 7 วันหลังตรวจครั้งแรก ดังนั้นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องแยกตัวเองออกจากครอบครัว ทั้งแยกห้องนอน แยกการกินอยู่ แยกขยะและของใช้ส่วนตัว เว้นระยะห่าง อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้คนในครอบครัวติดเชื้อ การดึงผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แยกออกมาอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อภายในครอบครัวลง
อย่างที่จังหวัดสระแก้วพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 15 ราย ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งให้กลุ่มเสี่ยงสูงต้องเข้ากักตัวที่ศูนย์ยับยั้งโรค หรือ Local Quarantine ทันที 14 วัน แม้ผลตรวจเบื้องต้นจะเป็นลบ ขณะที่ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ปรับหอประชุมอำเภอให้เป็นศูนย์กักกันผู้มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อโควิด 19 ล่าสุดเชิญผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 11 คนเข้ากักตัวแล้ว อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค
แต่สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยอมรับว่า ยังไม่สามารถจัดหาสถานที่แยกกักสำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ เพราะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ผู้ติดเชื้อก่อน แต่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นทีละมากๆ อาจต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่การสร้างความรู้ความเข้าใจรื่องการกักตัวเองที่บ้านอย่างจริงจังยังจำเป็น เหมือนการระบาดรอบแรก ที่บางพื้นที่ อย่างชุมชนตำบลกระทุ่มล้ม จังหวัดนครปฐม ใช้เครือข่าย อสม.เดินออกให้ความรู้แนวทางการแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทั้งแยกห้อง ภาชนะรับประทานอาหาร และการหมั่นทำความสะอาด
ไม่นับรวมผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ต้องอยู่บ้าน ระหว่างรอเตียง แม้กระทรวงสาธารณสุข จะย้ำมาตลอดว่า ผู้ติดเชื้อทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในพยาบาล แต่การออกแนวทางกักตัวผู้ติดเชื้อที่บ้าน สะท้อนว่า หากเราคุมสถานการณ์ระบาดไม่ได้ การกักตัวที่บ้านเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างจริงจัง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น