เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "เลือกตั้งเทศบาล​ สัมปทาน​อำนา​จ?"

การเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลที่มีขึ้น​เมื่อวันอาทิตย์ที่​ 28​ มีนาคม​ 2564 แม้จะเป็นสนามเล็ก​ แต่ใกล้ตัวประชาชน​ที่สุด​ เพราะถ้าใครอยู่ในเขตเทศบาล เปิดประตูบ้านก็จะเจอกับงานบริการสาธารณะที่เทศบาลต้องพัฒนาและแก้ปัญหา จะดีแค่ไหนถ้าเรากำหนดทิศทางเทศบาลให้ดีขึ้นได้ผ่านการเลือกตั้ง แต่ทำไมการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงมักถูกพูดถึงในแง่การเป็นสนามผูกขาดสัมปทานอำนาจ 
 
หลังว่างเว้นไปนาน นับแต่เหตุรัฐประหาร 2557 การเลือกตั้งเทศบาลพร้อมกันทั่วประเทศวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจึงถูกจับตามอง เดิมทีสนามท้องถิ่นมักถูกผูกขาดโดยกลุ่มการเมืองเดิม ๆ ตัวบุคคล สำคัญกว่านโยบาย แต่บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีการขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะจากภาคประชาชน 

​ปชช.กับอำนาจกำหนดทิศทางเทศบาล

ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เห็นเป็นหมอกสีขาวปกคลุมไปทั่วเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูไฟป่า​ ข้อมูลจากแพทย์พบว่า ทุกๆการเพิ่มขึ้นของฝุ่นที่เกินค่ามาตรฐาน จะส่งผลให้เด็กเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้เกิดข้อเรียกร้องแนวคิดห้องเรียนปลอดฝุ่นทุกท้องที่ หวังผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ  

สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้คิดค้นนวัตกรรมห้องปลอดฝุ่น เพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองและสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตของประชาชน​ โดยไม่รอให้นักการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะแต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่ขณะนี้การทำพื้นที่ปลอดฝุ่นยังคงจำกัดอยู่ในสถาบันระดับอุดมศึกษาและการบริจาค หากจะขยายสู่ชุมชน โรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต้องอาศัยการผลักดันทั้งจากภาคประชาชนโดยตรงไปยังฝ่ายการเมือง  

ที่หาดบางแสนและหาดวอนนภาในความดูแลของเทศบาลแสนสุข ถือเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี เมื่อก่อนที่นี่เคยเสื่อมโทรมจากจำนวนนักท่องเที่ยว แต่การเลือกตั้งเทศบาลที่ผ่านๆ มา ผู้สมัครมีนโยบายให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ทำให้ทั้งสองหาดถูกพัฒนา ตอบสนองความต้องการของชุมชนที่ส่วนมากเป็นพ่อค้าแม่ค้าริมหาด

การเลือกตั้งสภาเทศบาลเมืองแสนสุข วันอาทิตย์นี้ มีการแข่งขัน ระหว่าง 2 กลุ่มการเมืองท้องถิ่น แต่ตระกูลเดียวกัน ปัจจัยการใช้สิทธิของประชาชนส่วนหนึ่งมาจากผลการทำงานที่ผ่านมา

เราสำรวจต่อไปที่ชายหาดบางแสนใต้ และพบกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน พวกเขาคาดหวังกับการเลือกตั้งเทศบาลเช่นกัน แต่ไม่มั่นใจว่า จะมีผู้สมัครคนใด มีแนวคิดพัฒนาชายหาดไว้เป็นพื้นที่จอด หรือ ซ่อมเรือ ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านอีกกลุ่ม

แม้จะคาดหวัง แต่คนในพื้นที่เทศบาลแสนสุขไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเคลื่อนไหวให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะ สิ่งที่พวกเขาทำได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือใช้สิทธิเลือกผู้สมัครที่คิดว่า มีนโยบายที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่เทศบาลให้ดีขึ้น

หนุนประชาธิปไตย​ทางตรง​ กำหนดนโยบายสาธารณะ​

รองศาสตราจารย์ โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักรัฐศาสตร์ มองการเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบัน แตกต่างจากอดีตที่เริ่มเห็นนโยบาย มากกว่าการใช้ความคุ้นเคยจากตัวบุคคลเป็นหลัก แต่หลายนโยบายติดกับดักทางภาษากับการใช้คำว่า Smart และอาจไม่สอดคล้อง หรือ ทำไม่ได้จริง

ขณะที่การแข่งขันยังคงเข้มข้นเพื่อช่วงชิงชัยชนะในสนามนี้ เพราะแม้จะเป็นสนามเล็ก แต่งบประมาณไม่ได้เล็กด้วย อย่างต่ำ ๆ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละกว่า 150-170 ล้าน ไม่นับการเป็นฐานที่มั่นทางการเมือง ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งระดับชาติ ทำให้การเลือกตั้งสนามนี้มักถูกมองว่า เป็นการช่วงชิงสัมปทานอำนาจ การตรวจสอบถ่วงดุล หรือ ข้อเสนอนโยบายสาธารณะโดยตรงจากภาคประชาชนที่เข้มแข็ง จึงเป็นทางออกของเรื่องนี้  

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความเข้าใจ และการตื่นตัวของภาคประชาชนเพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะในหลายพื้นที่ต้องใช้เวลา และระดับนโยบายเองก็ต้องเปิดกว้าง

เพราะถ้ามองเฉพาะพื้นที่อย่างภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษหรือ อีอีซี นักรัฐศาสตร์ก็วิเคราะห์ว่า ยังมีอีกข้อจำกัดสำคัญ นั่นคือโครงสร้างของรัฐราชการที่ทับซ้อนกับการบริหารงานส่วนท้องถิ่น และมีอำนาจเหนือในการกำหนดนโยบายสาธารณะ นี่จึงเป็นเหตุผลทำให้หลายปัญหาและเสียงของชุมชนถูกเมินเฉย เหล่านี้คือปัญาเชิงโครงสร้าง ที่ต้องแก้ไขเพื่อเปิดทางให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจในการจัดการตนเองอย่างแท้จริง

ความคิดเห็น