เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "กับดักวัคซีน​ล็อตแรก"

ในที่สุดวัคซีนล็อตแรกก็เดินทางมาถึงไทยเกินความคาดหมายจากเดิมที่จะได้เฉพาะของ "ซิโนแวค" จากประเทศจีน 2 แสนแต่รัฐบาลสามารถนำวัคซีน​ "แอสตราเซนเนกา" เข้ามาได้อีก 1​ แสน​ 1​ หมื่น​ 7​ พันโดส ทำให้วัคซีนล็อตมีรวมทั้งหมดกว่า 3​ แสนโดส ที่เข้าสู่แผนการกระจายวัคซีนใน 13 จังหวัดแรก​ ตามเป้าหมายเพื่อการควบคุมโรคและฟื้นฟูเศรษฐกิจ​ แต่ก็ยังมีคำถามว่าจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่

วัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาจำนวน 300,000 กว่าโดส มีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 3​ ส่วนตามพื้นที่​ โดยหากพิจารณา จากแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 ใน 13 จังหวัด ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ความสำคัญ อันดับ 1 คือ จังหวัดสมุทรสาคร​ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดรอบ 2 ในทางในทางวิชาการเรียกว่าเป็นแหล่งเกิดโรค จำนวน 70,000 โดส ให้แก่​ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมไปถึงประชาชนทั่วไปและแรงงาน

เป้าหมายที่ 2 คือพื้นที่ควบคุมสูงสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการแพร่กระจายเชื้อคือที่ กรุงเทพมหานคร 66,000 โดส และจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ควบคุม ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, จังหวัดนครปฐม, สมุทรสงคราม, ราชบุรี 

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 จังหวัดพื้นที่เศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว คือชลบรี ภูเก็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ เชียงใหม่ ซึ่ง​ มีเป้าหมายขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม 

ต้องยอมรับว่าการมาถึงของวัคซีนล็อตแรกสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้ และการตัดสินใจส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการเมือง 

หากไล่เรียงวิเคราะห์ตามเป้าหมายแรกคือการควบคุมโรค Thai PBS สอบถามเรื่องนี้กับนายแพทย์ธีระ วรธนา​รัตน์​ โรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ความเห็นว่า การกระจายวัคซีนมีที่จำกัด​ ไปในทุกพื้นที่ทั้ง 13 จังหวัดอย่างละนิดอย่างละหน่อย​ ไม่สามารถหวังผลในการควบคุมโรคได้​ เพราะฉะนั้นหลังจากวัคซีนล็อตแรก​เข้ามา​ ก็ยังคงต้องคุมมาตรการทางสังคม​ ทั้งยังเฝ้าจับตาดูการผ่อนปรนมาตรการเปิดสถานบันเทิงว่าจะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อขึ้นอีกหรือไม่

"หากหวังพึ่งวัคซีนเป็นทางออกของการยุติการระบาดก็จำเป็นต้องจัดหาให้เพียงพอกับประชากรถึงร้อยละเกือบถึงร้อยละ 70 ซึ่งการมาถึงของวัคซีนล็อตแรก อาจไม่ได้ช่วยให้บรรลุตามเป้าหมายมากนัก" 

ขณะที่​ นายแพทย์ธีระวัฒน์​ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์​วิทยาศาสตร์​สุขภาพ​โรค​อุบัติ​ใหม่​ รพ.จุฬาฯ​ มีความเห็นสอดคล้องเช่นเดียวกันแต่เพิ่มเติมว่าจำเป็นต้องเฝ้าระวัง​" การกลายพันธุ์" ของไวรัสซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 อาจได้เห็นไวรัสโควิด​-19 กลายพันธุ์และเกิดการติดเชื้อซ้ำ แม้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว​ โดยสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์​อาจเป็นไปได้ทั้งจากที่รับเข้ามาจากต่างประเทศ​ และเกิดการกลายพันธุ์ในประเทศ​ จำเป็นต้องดํการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด

เสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากวงการแพทย์ที่มีต่อแผนกระจายวัคซีนล็อตแรกของ​ "กระทรวงสาธารณสุข" อีกเป้าหมายหนึ่งก็ต้องการจะสร้างความเชื่อมั่นและฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาไปจากวิกฤต​โรคระบาดครั้งนี้

"เดชรัตน์ สุขกําเนิด" นักเศรษฐศาสตร์ ประเมินว่าแผนวัคซีน ระยะแรก เป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นแต่หากหวังผลถึงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ มีปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญ ถือเป็นแผลเป็น จากวิฤตโควิด-19 นั่นคือ "ปัญหาหนี้ครัวเรือน" เมื่อเทียบกับ GDP มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสสุดท้าย ปี 2562 อยู่ที่ 79.9% ส่วนปี 2563 อยู่ที่ 86.6% และคาดว่าไตรมาสแรกของปีนี้จัดสวนหนี้ครัวเรือนจะไปแตะถึง 90% นั่นหมายความว่า แม้ความเชื่อมั่นจะกลับมาแต่ผู้คนจะยังไม่มีเงินพอที่จะจับจ่ายใช้สอย เพราะต้องเอาเงินไปใช้หนี้ 

ท่ามกลางบรรยากาศวันแรกที่วัคซีน covid19 เดินทางมาถึงประเทศไทยและเป็นการนับ 1 การฉีดวัคซีนครั้งแรกบนความหวังว่าจะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจความวางใจต่างๆเหล่านี้อาจกลายเป็นกับดักให้หลงลืมจดถ้าทายสำคัญหลายโจทย์ที่จะต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือไปพร้อมกัน

ความคิดเห็น