เก็บตกจากวชิรวิทย์ | "ฉีดวัคซีน" VS "ตรวจเชิงรุก" หาทางเลือกช่วยสมุทรสาคร
การแก้ปัญหาพื้นที่ระบาดสีแดงเข้มในจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้เงื่อนไขวัคซีนล็อตแรก 50,000 โดสจากแอสตร้าเซเนก้า ที่กำลังจะมาถึงในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเป็นอีกความหวังเพื่อตัดการระบาดในจังหวัดสมุทรสาครได้หรือไม่
เมื่อมีข้อเสนอจากนักวิชาการบางส่วน ให้จัดลำดับความสำคัญมายังพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างราคาวัคซีนที่ต้องจ่าย กับค่าตรวจเชิงรุกโควิด-19
เพราะราคาวัคซีนของบริษัท astrazeneca อยู่ที่ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทย 150 บาท เมื่อต้องฉีดคนละ 2 โดสก็จะตกอยู่ที่คนละ 300 บาท เมื่อการระบาดใหญ่ขณะนี้อยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
จังหวัดสมุทรสาครมี แรงงานข้ามชาติ เอาเฉพาะที่ถูกกฎหมายประมาณกว่า 233, 000 คน หากฉีดวัคซีนแบบปูพรมทั้งหมด ต้องใช้เงินประมาณ 69 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก อ้างอิงจาก ค่าตรวจ โควิด-19 ที่แรงงานข้ามชาติต้องตรวจเพื่อลงทะเบียนออนไลน์เดิมอยู่ที่ 3,000 บาท จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงสูงกว่าการฉีดวัคซีนถึง 10 เท่า คือประมาณ 690 ล้านบาท
นั่นก็หมายความว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และป้องกันโรคในรูปแบบอื่นๆ นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงพยาบาลสนามและบุคลากรทางการแพทย์ หากใช้เกณฑ์ของ สถานกักกันโรคมาใช้ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสนาม ก็จะตกอยู่ที่หัวละไม่ต่ำกว่า 500 บาท
จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดลำดับความสำคัญเมื่อวัคซีนมาถึงเป็นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยุติการระบาด The Active สอบถามนายแพทย์โสภณ เมฆธน ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รับคำตอบว่า ขณะนี้วัคซีนยังมีจำกัด ต้องให้ลำดับความสำคัญทั้งพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงไปพร้อมกัน ไม่สามารถทุ่มไปที่สมุทรสาครได้ทั้งหมด
“ทางวิชาการอธิบายว่าไม่ควร เพราะวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้ช่วยลดการแพร่โรค แต่ก็อาจมีแนวคิดจากทั้งนักวิชาการที่เห็นด้วยก็น่าจะมีผล ระงับการระบาดเนื่องจากมุ่งเน้นที่แหล่งเกิดโรคของประเทศไทย อันนี้ก็ขึ้นกับว่าใครจะเชื่อทางไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าวัคซีนมาเยอะๆมันก็ดำเนินการได้ แต่ในขณะที่วัคซีนมาน้อย ต้องมี priority ในการเรียงลำดับความสำคัญ ถ้าเกิดทุ่มหมดที่สมุทรสาคร เกิดโรงพยาบาลอื่นที่รักษาคนไข้อยู่ในกทม. นี่คือสิ่งที่ต้องพิจารณาเพราะฉะนั้น เราจึงต้องดูทั้งกลุ่มเสี่ยงคนที่ได้รับการปกป้อง แล้วก็อีกอันนึงคือพื้นที่ เพราะถ้าวัคซีนมาน้อยไปทุ่มที่สมุทรสาครทั้งหมด คนซึ่งดูแลคนไข้อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำอย่างไร จะตอบเขาอย่างไร”
นายแพทย์โสภณกล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาที่สมุทรสาครตอนนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงมาบัญชาการเอง โรงพยาบาลสนามยังจำเป็น และยังจำเป็นต้องมีการค้นหาผู้ป่วย ต้อง isolation คนที่ป่วยออกมา นี่คือยุทธศาสตร์ ที่เราดำเนินการอยู่
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็น เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ ในการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หากมีช่องทางใดให้แรงงานกลุ่มนี้ได้รับวัคซีนก็เห็นด้วย หากจะทำให้คนไทยทั้งประเทศปลอดภัยด้วยกันทั้งหมด ส่วนจะใช้เงินจากส่วนไหนไปจัดซื้อวัคซีนให้เฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยคิด แต่กลุ่มนายจ้างจะสามารถช่วยส่วนนี้ได้ไหมเนื่องจากได้รับประโยชน์จากการใช้แรงงานจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
นายจ้างพร้อมลงทุนฉีดวัคซีน ห่วงแรงงานข้ามชาตินอกระบบเข้าไม่ถึง
อย่างไรก็ตามการประชุมดังกล่าว มีการหารือถึงแผนการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศไทย รวมถึงแรงงานข้ามชาติสัญชาติต่างๆ ด้วย แต่งบประมาณที่จะใช้นั้นคนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพตามสิทธิอยู่แล้ว ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมายก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมีงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม และประกันสุขภาพรองรับอยู่ แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ซึ่งกรมควบคุมโรคต้องดูแล และอาจต้องของบประมาณเพิ่มเติม แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เรื่องนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของนายแจ้งหรือผู้ประกอบการหรือไม่
ด้าน นางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าเวลานี้ทางภาคเอกชนในพื้นที่พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มลงทุนซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้กับแรงงานและพนักงานของตนเอง เพื่อที่จะทำให้การป้องกันควบคุมโรคทำได้รวดเร็วที่สุด และจะมีการทำหนังสือถึงรัฐบาลในเรื่องของการช่วยเหลืออุดหนุนภาคเอกชน หากจะมีการลงทุนในเรื่องของการฉีดวัคซีนให้กับพนักงานของตนเอง
วัคซีนบริษัท astrazeneca เจ้าเดียวที่ผ่าน อย.ไทย
แม้ว่าผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครจะมีความพร้อมในการลงทุนซื้อวัคซีน โควิด-19 มาฉีดให้กับแรงงานของตนเอง แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าปัจจุบันจำนวนวัคซีนยังมีจำกัด และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีเพียง 3 บริษัทวัคซีนที่มาขอขึ้นทะเบียน วัคซีนฉุกเฉินโควิด-19 โดยมีเพียงบริษัทเดียวคือ astrazeneca ที่ ผ่านการรับรองในขณะนี้ ขณะที่อีก 2 บริษัทคือซิโนแวค กับ จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ทยอยส่งเอกสารยังไม่ครบ
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ขัดขวางการจัดหาวัคซีน ของหน่วยงานต่างๆ แต่การขึ้นทะเบียนวัคซีน บริษัทผู้ผลิตและบริษัทผู้นำเข้า จะต้องมายื่นขอจดทะเบียนเอง
เมื่อถามว่าการแยกซื้อวัคซีนของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และ ความต้องการของผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร จะกระทบแผนการซื้อวัคซีนหรือไม่ นพ.นคร บอกว่า ถ้าเป็นก่อนหน้านั้นมีความกังวลแต่ปัจจุบันไม่มีความกังวล เพราะวัคซีนจะมีเพียงพอและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
บทส่งท้าย
วัคซีนโควิด-19 ที่ยังคงมีจำกัด ทำให้ทางเลือกที่จะใช้วัคซีนแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลานี้ แต่หากไปจนถึงกลางปีที่มีจำนวนวัคซีนเพิ่มมากขึ้นและหลายบริษัทวัคซีนทยอยขึ้นทะเบียนกับอย.สำเร็จ ปริมาณของวัคซีน โควิด-19 ก็จะมีเพียงพอต่อความต้องการ เวลานั้นวัคซีนอาจเป็นทางออก ของจังหวัดสมุทรสาคร ยังปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้วงการแพทย์ระบุว่าวัคซีน โควิด-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ เพียงแต่ป้องกันไม่ให้อาการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่การมาถึงของวัคซีนก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่น และเป็นตัวเร่งให้ภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมโดยเร็วที่สุด ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น