เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "ทางเลือกวัคซีน ทางรอดสมุทรสาคร"
สถานการณ์ที่จังหวัดสมุทรสาครล่าสุดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วกว่า 1 หมื่น 2 พันคน โดยพบผู้ติดเชื้อวันละ 700-800 คน ขณะที่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลล่าสุดอยู่ที่ 895 คน และเฝ้าสังเกตอาการอีกกว่า 5,000 คน นั่นหมายถึงโรงพยาบาลสนาม 3,000 เตียงที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงมีข้อเสนอให้ใช้วัคซีนที่กำลังจะมาถึงไทยเพื่อตัดวงจรระบาด แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน
มีข้อเสนอจากนักวิชาการบางส่วน ให้จัดลำดับความสำคัญมายังพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบระหว่างราคาวัคซีนที่ต้องจ่าย กับค่าตรวจเชื้อเชิงรุกโควิด-19
ชมคลิป
โดย ราคาวัคซีนของบริษัท astrazeneca อยู่ที่ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทย 150 บาท เมื่อต้องฉีดคนละ 2 โดสก็จะตกอยู่ที่คนละ 300 บาท จังหวัดสมุทรสาครมี แรงงานข้ามชาติ เอาเฉพาะที่ถูกกฎหมายประมาณกว่า 233, 000 คน หากฉีดวัคซีนแบบปูพรมทั้งหมด ต้องใช้เงินประมาณ 69 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก อ้างอิงจาก ค่าตรวจ โควิด-19 ที่แรงงานข้ามชาติต้องตรวจเพื่อลงทะเบียนออนไลน์เดิมอยู่ที่ 3,000 บาท จะต้องใช้เงินสูงกว่าการฉีดวัคซีนถึง 10 เท่า คือประมาณ 690 ล้านบาท
นั่นก็หมายความว่าการฉีดวัคซีนนั้นมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการตรวจหาเชื้อเชิงรุก และป้องกันโรคในรูปแบบอื่นๆ นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงพยาบาลสนามและบุคลากรทางการแพทย์ หากใช้เกณฑ์ของ สถานกักกันโรคมาใช้ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลสนาม ก็จะตกอยู่ที่หัวละไม่ต่ำกว่า 500 บาท
ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดลำดับความสำคัญเมื่อวัคซีนมาถึงเป็นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยุติการระบาด ติดตามจากรายงาน
วัคซีนตัดวงจรระบาดสมุทรสาคร?
นี่คือบรรยากาศภายในโรงพยาบาลสนาม จังหวัดสมุทรสาคร ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สะท้อนให้เห็นความพยายาม สร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ที่ปริมาณผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ขณะที่โรงพยาบาลสนาม มีเตียงไม่เพียงพอ
ผู้ป่วยเอง ก็แสดงความขอบคุณด้วยการโบกมืออำลาแพทย์ที่อยู่ดูแลพวกเขา เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนบุคลากรทางการแพทย์ที่ไปประจำยังโรงพยาบาลสนามในทุกๆ 15 วัน
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะวัคซีนล็อตแรกจาก 2 บริษัท คือแอสตราเซนเนกา จำนวน 50,000 โดส และ บริษัทซิโนแวค 200,000 โดส ทยอยส่งมอบ
ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบการจัดลำดับการให้วัคซีนกับกลุ่มเสี่ยงแรก คือ บุคคลากรทางการแพทย์ ในระยะที่ 1 ที่วัคซีนยังมีจำกัด
ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 บอกว่ายังไม่เห็นด้วยที่ทุ่มวัคซีนล็อตแรกไปที่สมุทรสาครทั้งหมด เพราะต้องให้ลำดับความสำคัญทั้งพื้นที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงไปพร้อมกัน
แต่ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังเปิดช่องสำหรับการจัดหาวัคซีนในกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเห็นว่านายจ้าง และผู้ประกอบการควรมีส่วนรับผิดชอบเรื่องการจัดหาวัคซีนด้วย
แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย มีงบประมาณจากกองทุนประกันสังคม และประกันสุขภาพรองรับอยู่ การให้วัคซีนอาจมีความเป็นไปได้ แต่ แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย ซึ่งกรมควบคุมโรคต้องดูแล ทางเลือกวัคซีนอาจต้องของบประมาณเพิ่มเติม ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ควรเป็นความรับผิดชอบของนายจ้างหรือผู้ประกอบการหรือไม่
ผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร ในนามของสภาหอการค้าไทย มีข้อเสนอถึงรัฐบาล ในการมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน และพร้อมใช้โรงงานสถานประกอบการ เป็นสถานกักกันโรค ขณะเดียวกันก็แสดงความพร้อมลงทุนซื้อวัคซีน มาฉีดให้กับแรงงานข้ามชาติ โดยขอให้รัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการ เช่น เช่นมีมาตรการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
แม้ว่าผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาครจะมีความพร้อมในการลงทุนซื้อวัคซีน โควิด-19 มาฉีดให้กับแรงงานของตนเอง แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าปัจจุบันจำนวนวัคซีนยังมีจำกัด และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่ามีเพียง 3 บริษัทวัคซีนที่มาขอขึ้นทะเบียน วัคซีนฉุกเฉินโควิด-19 โดยมีเพียงบริษัทเดียวคือ astrazeneca ที่ ผ่านการรับรองในขณะนี้ ขณะที่อีก 2 บริษัทคือซิโนแวค กับ จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ทยอยส่งเอกสารยังไม่ครบ
วัคซีนโควิด-19 ที่ยังคงมีจำกัด ทำให้ทางเลือกที่จะใช้วัคซีนแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่มีความเป็นไปได้ในช่วงเวลานี้ แต่หากไปจนถึงกลางปีที่มีจำนวนวัคซีนเพิ่มมากขึ้นและหลายบริษัทวัคซีนทยอยขึ้นทะเบียนกับอย.สำเร็จ ปริมาณของวัคซีน โควิด-19 ก็จะมีเพียงพอต่อความต้องการ เวลานั้นวัคซีนอาจเป็นทางออก ของจังหวัดสมุทรสาคร ยังปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตามแม้วงการแพทย์ระบุว่าวัคซีน โควิด-19 ที่มีอยู่ตอนนี้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ เพียงแต่ป้องกันไม่ให้อาการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต แต่การมาถึงของวัคซีนก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่น และเป็นตัวเร่งให้ภาวะปกติกลับคืนสู่สังคมโดยเร็วที่สุด ทำให้ภาคเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น