เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ตอน "วัคซีน​ (ไม่)​ เท่ากับ ป้องกันการติดเชื้อ"

แม้จะมีหลักฐานว่าวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาจนถึงตอนนี้ สามารถลดความรุนแรงของโรค และลดการตายจากโรค แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้มาตลอด

แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี แต่เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยมากไปกว่านี้ และแรงกดดันทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งให้รัฐบาลไทยต้องจัดหาวัคซีนโดยเร็ว


กระทรวงสาธารณสุข กำหนด 2 เป้าหมายหลักในการให้วัคซีน 1. ลดอัตราการป่วยและตายในกลุ่มเสี่ยงทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 2. เพื่อปกป้องระบบสาธารณสุขของประเทศทั้งบุคลากร ยา และเวชภัณฑ์  

ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จากการฉีดวัคซีนยังไม่มีความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข

จากปฏิทินการฉีดวัคซีน covid-19 ให้กับประชากรที่แบ่งเป็น 3 ระยะไล่เรียงไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนพฤษภาคม ที่จะรับวัคซีน ล็อตแรกนำเข้าจาก astrazeneca 150,000 โดส ซิโนแวค ประเทศจีน 2 ล้านโดส และผลิตเองจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของบริษัท แอสตราเซนเนกา โดยบริษัท Siam bioscience อีก 26 ล้านโดส ภายในเดือนพฤษภาคม และอีก 35 ล้านโดสหลังจากนั้น 

ทำให้ภายในปี 2564 จะมีประชากรราว 50% ได้รับวัคซีน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทั้งระยะเวลา และจำนวนการมาถึงของวัคซีนแต่ละล็อตที่ต่างกัน และระยะเวลาการสร้างภูมิหลังฉีดวัคซีนที่คาดว่าจะคงอยู่เพียง 6 เดือน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สมัครใจจำนวน 6-7 พันคน และกลุ่มเสี่ยงในจังหวัดสมุทรสาคร จะได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้จำนวน 50,000 โดส ซึ่งจะทยอยหมดภูมิคุ้มกัน และต้องฉีดซ้ำในแผนจัดหาวัคซีนระยะ 3 

จะเห็นได้ว่า ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ยังมีอีกมาก และมากกว่าความหวังในการทุเลาวิกฤติสุขภาพ และผลกระทบทางเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก วัคซีนโควิด-19 ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งไทยก็เตรียมแผนสร้างห่วงโซ่การผลิตวัคซีนอย่างครบวงจรโดยเฉพาะการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท astrazeneca และการวิจัยหัวเชื้อ วัคซีน covid-19 เพื่อใช้ทดแทนหลัง จากหมดสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก astrazeneca แล้ว ติดตามจากรายงาน

เร่งวิจัยหัวเชื้อวัคซีนโควิด-19

ตัวอย่างเชื้อไวรัส covid-19 ถูกนำมาเพาะเลี้ยงเพื่อวิจัยวัคซีนต้นแบบ ภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ของไบโอเทค สวทช. ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตวัคซีนเบื้องต้น และทดลองกับสัตว์ได้ผลดี กำลังจะเริ่มทดลองระยะคลินิกกับมนุษย์เดือนเมษายนนี้

โดยใช้เทคโนโลยี viral vector เช่นเดียวกับ บริษัท astrazeneca ที่มาถ่ายทอด ให้กับบริษัท Siam bioscience การวิจัยครั้งนี้คือข้อต่อสำคัญที่จะไปเชื่อมโยง กับการพึ่งพาตนเองในการผลิตวัคซีนภายในประเทศ เพราะเมื่อพิจารณาในสัญญาพบว่า สยามไบโอไซเอนซ์ได้ตัวอย่างหัวเชื้อ และกำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี เพื่อเปิดตลาดขายเฉพาะในอาเซียนเท่านั้น หมายความว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ ยังไม่ทำให้เกิดความมั่นคงทางวัคซีน จนกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ จะสามารถผลิตหัวเชื้อได้เอง โดยไม่ต้องต่อรองซื้อหัวเชื้อทุกปีจากต่างประเทศ 

ThaiPBS สอบถามเรื่องนี้กับ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ บอกว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สวทช. วิจัยและผลิตตัวอย่างเชื้อ เพื่อให้เชื่อมต่อเข้ากับการผลิตแบบปลายน้ำของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้ 

ขณะที่สัญญาการจองซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นแบบ No Profit, No Loss ผลิตให้ในราคาต้นทุน และจำหน่ายกลับมาในราคาต้นทุน ไม่มีเรื่องของกำไรมาเกี่ยวข้อง เป็นการทำเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน รวมถึงมีการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิต 

โควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางวัคซีนให้กับประเทศไทย หากอนาคตโรคอุบัติใหม่ จะเกิดขึ้นซ้ำหรือแม้กระทั่งการกลายพันธุ์ของ covid-19 ที่อาจทำให้วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้ การคิดและผลิตได้ทั้งครบวงจร จึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการซื้อวัคซีนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว

เมื่อฐานคิดการผลิตวัคซีนเป็นการรักษาอาการไม่ให้ป่วยเสียชีวิต และอายุของวัคซีนสร้างภูมิต้านโรคอาจไม่เกิน 1 ปี แม้ทุกรายถูกฉีด 2 โดสแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า งานระบาดวิทยายังต้องทำการตรวจหาเชื้อเชิงรุก หรือ swab ทุกปี จนกว่าเชื้อโควิด -19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่มีใครรู้ระยะเวลานั้น ดังนั้น เราจึงไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งโรคนี้ เช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดตามฤดูกาลการเกิดโรคเป็นระยะ 

ความคิดเห็น