เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "เช็คแผนกระจายวัคซีน​โควิด-19"

ไทยจะได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อไหร่​ ล่าสุดก็มีความเป็นไปได้ว่า วัคซีนล็อตแรกจากซิโนแวค จะมาถึงไทยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หลังได้รับการขึ้นทะเบียนในจีนแล้ว ขณะที่ไทยก็เตรียมกระจายวัคซีนล็อตแรกเป้าหมายเพื่อควบคุมโรค ท่ามกลางข้อสังเกตเรื่องศักยภาพในการกระจายวัคซีน


หลัง อย.จีน ขึ้นทะเบียนวัคซีนฉุกเฉินของบริษัทซิโนแวคแล้ว ก็ทำให้ไทยมีความหวังที่จะนำเข้าวัคซีนล็อตแรกให้ทันเดือนกุมภาพันธ์นี้ จำนวน 2 ล้านโดสขึ้นมาอีกครั้ง และทันที่ที่วัคซีนล็อตแรกจากจีน เดินทางมาถึง ไทยจะเข้าสู่แผนกระจายวัคซีนระยะแรก ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีน covid-19 พ. ศ. 2564 ตามมติคณะกรรมควบคุมโรคติดต่อเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

ชมคลิป​ 

ระยะแรกคือเดือน ก.พ. - พ.ค. ในช่วงที่มีวัคซีนจำกัด 2 ล้านโดส จากซิโนแวค ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และ กลุ่มเสี่ยง เพื่อควบคุมโรค ส่วนระยะที่ 2 เดือน มิ.ย. - ธ.ค. จะได้รับวัคซีน ที่ผลิตเองจากบริษัท Siam bioscience จำนวน 26 ล้านโดส และที่จองเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูประเทศให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติกับประชาชน 7 กลุ่ม 

การจัดซื้อวัคซีน ทั้ง 2 ระยะรวมทั้งหมด 63 ล้านโดส นั้น ถูกจับตาไปที่แผนกระจายวัคซีนในระยะ 2 ซึ่งจะมีวัคซีนที่ต้องกระจายไปทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก จะต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการวัคซีนครั้งใหญ่ ระบบแบบแผน ที่เตรียมไว้เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน

ใช้รพ.ใหญ่เป็นที่ฉีดวัคซีน​ระยะ​ 1 


วัคซีน covid19 จะถูกเก็บไว้ที่ส่วนกลาง 2 แห่งคือคลังวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม และคลังวัคซีนกรมควบคุมโรค จากนั้นจะใช้รถบรรทุกแช่เย็นขนส่งไปยังหน่วยให้บริการทั่วประเทศ ในระยะแรกจะดำเนินการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นหลัก เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านการแพทย์รองรับ และกรณีที่มีผู้ได้รับวัคซีนเกิดอาการไม่พึงประสงค์

โดยวัคซีนโควิด 19 จะถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลสัปดาห์ละครั้งตามจำนวนที่กรมควบคุมโรคกำหนด พร้อมการตรวจรับวัคซีนตามระบบ โดยจะมีการจัดเก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิบวก 2 - 8 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองป้องกันปัญหา Cold chain breakdown หรือ กรณีเกิดเหตุอุณหภูมิผิดปกติ 

ในระหว่างที่วัคซีนล็อตแรกยังมาไม่ถึง กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ในระบบลูกโซ่ความเย็นให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อการสำรองและการให้บริการวัคซีน covid19 โดยจะสนับสนุนตู้เย็นชนิดฟาร์มาซูติคอลขนาดความจุ 24-30 คิว ให้ทุกจังหวัดจังหวัดละ 1 เครื่อง เพื่อเป็นคลังวัคซีนสำรองระดับจังหวัด 
 
โดยแบ่งการส่งมอบตู้เย็นเป็น 3 ระยะ ตามระยะการจัดสรรวัคซีน covid19 โดยระยะที่หนึ่งเป็น 9 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ สมุทรสาคร และพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม ตามประกาศของ ศบค.กำหนดการติดตั้งตู้เย็นแล้วเสร็จภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ และที่เหลือจะทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2564 

โจทย์ใหญ่​ กระจายวัคซีน​

การฉีดวัคซีนโควิด 19 ถือเป็นครั้งแรกในรอบร้อยปีของการให้วัคซีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย โดยตั้งเป้าฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุม ประชากร 50% ภายในปี 2564 


หากนับตามแผนระยะ 2 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจะเริ่มฉีดวัคซีนเดือนละ 5 ล้านโดส นั่นหมายความว่าในแต่ละวันจะต้องฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 166,666 โดส หากเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมง คิดเพียงแค่เฉพาะ 12 ชั่วโมง จะต้องฉีดวัคซีนถึงชั่วโมงละ 13,800 dose ขณะที่ในแต่ละปีเราฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพียง 3 ล้านโดส

จากชุดข้อมูลดังกล่าวทำให้ประธานสภาหอการค้าไทย ตั้งข้อสังเกตว่า แผน การกระจายวัคซีน จะทั่วถึงครบทั้ง 50% ของประชากรตามที่ ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขภายในปี 2564 หรือไม่

การกระจายวัคซีนจำนวนมาก เฉลียเป็น หมื่นโดส ต่อ ชั่วโมง เป็นเหตุผลที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงถึงการเลือก วัคซีนของastrazeneca และซิโนแวค เพราะสามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติได้เมื่อเทียบกับวัคซีนเจ้าอื่นที่ต้องเก็บในที่เย็นจัด ติดลบหลายสิบองศา ลำบากต่อการขนส่งและมีความเสี่ยงที่วัคซีนจะเสื่อมสภาพ


โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 3 พันล้านบาทให้กับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งส่วนหนึ่งก็เอามาใช้เตรียมความพร้อมในเรื่องของการซื้ออุปกรณ์ต่างๆเพื่อรองรับ นอกจากการวางระบบการกระจายวัคซีน ที่จะทำให้ประชากร 50% ได้รับวีคซีนตามเป้าหมายแล้ว ความต้องการของประชาชนก็มีปัจจัยกำหนดด้วยว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ เพราะการฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับความสมัครใจ


ความคิดเห็น