เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "ราคาแพง​ ทะเบียน​แรงงาน"

เมื่อแรงงานข้ามชาติในสมุทรสาคร เป็นกลุ่มใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำแรงงานผิดกฎหมายทั้งหมดเข้าระบบ เพื่อติดตามควบคุมโรค​ เป็นที่มาของข้อเสนอ นิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติ จนถึงตอนนี้กระทรวงแรงงาน เปิดให้แรงงานทุกประเภทไม่ว่าจะถูก หรือผิดกฎหมาย ขึ้นทะเบียนออนไลน์ แต่ กระบวนการนี้ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง สุดท้ายความพยายามดึงพวกเขาเข้าสู่ระบบอาจไม่เป็นจริงนัก 


ภายหลัง ครม.เห็นชอบผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มผิดกฎหมาย 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาว อยู่ในราชอาณาจักร และทำงานอย่างถูกต้องเป็นกรณีพิเศษ 2 ปี ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดให้แจ้งบัญชีรายชื่อต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ระหว่าง 15 ม.ค.-13 ก.พ. วันแรกวันเดียว มียอดเพียง 9 พันคน แบ่งเป็นแรงงานที่มีนายจ้าง 8,061 คน และไม่มีนายจ้าง 1,000 คน จากที่คาดว่ามีแรงงานผิดกฎหมาย หลุดระบบ 4 แสนคน และ แรงงานไม่มีเอกสาร ที่มีอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

ที่มาขึ้นทะเบียนกันน้อย เพราะการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ มีค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่า 9,000 บาทแบ่งเป็นค่า work permit 1,900 บาท ค่าตรวจสุขภาพอีก 3,200 บาท และค่าตรวจ covid ที่เพิ่มเข้ามาอีก 3,000 บาท ขณะที่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการตรวจหาเชื้อเชิงรุก


ตั้งเป้า​ตรวจ​ 1​ หมื่นโรงงานสมุทรสาครภายในเดือนม.ค.​ 

โรงงาน 600 แห่ง คือเป้าหมายรายวัน ของทีมสอบสวนโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องตรวจคัดแยกแรงงานข้ามชาติ ที่ติดเชื้อโควิค 19​ จากกว่า 10,000โรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร 

การติดเชื้อ ที่สมุทรสาคร ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าา เข้าไปตรวจยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะบุคคลการสาธารณสุข แต่คาดว่าจะตรวจครบทั้ง 10,000 โรงงานภายในสิ้นเดือนนี้ เพื่อจัดการกับโรคได้เร็วมากขึ้น 

สิ่งที่ทำควบคู่กันไปกับการตรวจเชื้อเชิงรุกคือ คือการเปิดให้แรงงานข้ามข้ามทั้งถูกและผิดกฎหมาย ลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 

แต่ ท่ามกลางการระบาดของโควิด 19 รอบใหม่ ความเงียบเหงายังคงปกคลุมทั่วจังหวัดสมุทีสาคร สถานประกอบการหลายแห่ง หยุดดำเนินประกอบธุรกิจชั่วคราว แรงงานข้ามชาติจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน และไม่มีเงินมากพอต่อค่าใช้จ่ายในการการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติ กรณีพิเศษ เพื่อการคุมโรค 

นี่ ตอกย้ำว่า สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ ควรปรับลดค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียน เพื่อช่วยเหลือแรงงานผิดกฎหมาย ผู้เป็นส่วนขับเคลื่อน เศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ไม่เคยได้รับ เยียวยาผลกระทบโควิด-19

เรื่องนี้เป็นโจทย์ให้ หน่วยงานภาครัฐ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้แรงงานผิดกฎหมายมีช่องทางขึ้นทะเบียนได้ง่าย ในการปรับลดค่าใช้จ่าย ขึ้นทะเบียนนี้ให้สอดคล้องปัญหาแรงงานที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อสร้างให้เกิดเป็นแรงจูงใจในมิติของการคุ้มครองทางสังคมแรงงานข้ามชาติ ในการแก้ปัญหาขบวนการขนแรงงานเถื่อนให้หมดไป 

เสนอรัฐลด-ผ่อน​ ค่าขึ้นทะเบียน​แรงงานต่างด้าว

นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่าควรตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป เช่น ค่าตรวจโควิด 19 หรือไม่ก็ ใช้งบประมาณจากกองทุนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว กองทุนประกันสังคม ที่แรงงานเหล่านี้จ่ายเงินสมทบอยู่แล้ว หรือใช้วิธีผ่อนจ่ายแทน

นักวิจัยสมทบรายนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า รายงานการใช้จ่ายของกองทุนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในปี 2563 ที่เก็บเงินค่าหลักประกันให้กับแรงงานข้ามชาติจากผู้ประกอบการ หัวละ 1,000 บาท จำนวนกว่า 900 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 600 ล้านบาทถูกใช้ ไปในส่วนกรมการจัดหางาน ส่วนที่เหลือใช้ไปในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่กลับไม่พบว่า มีการนำมาใช้ในการจัดการกลุ่มแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์ covid-19 ทั้งๆที่เป็นเป้าหมายโดยตรงของกองทุนฯ

นอกจากนี้ยังมีเงินที่เก็บจากประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติอีกเดือนละ 500 บาท ขณะนี้สะสมหลักหมื่นล้านบาทแล้ว ซึ่งเพียงพอที่จะใช้สำหรับการตรวจ covid 19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

ส่วนข้อเสนอให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพื่อควบคุมการระบาดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่เป็นหนึ่งในคลัสเตอร์หลัก นักวิจัยแรงงานตั้งข้อสังเกตว่า แม้แผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขจะระบุกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีนเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และบุคลากรทางการแพทย์ แต่หากมองว่า แรงงานข้ามชาติคือกลุ่มเสี่ยง เมื่อต้องฉีดวัคซีน ก็ต้องพิจารณาในหลักการเดียวกัน แต่อาจแยกประเภทเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีความเสี่ยงทั้งจากสภาพที่อยู่อาศัย และสภาพจากการทำงาน เพราะไม่ใช่แรงงานข้ามชาติทุกกลุ่มที่อยู่ในภาวะเสี่ยง

ความคิดเห็น