เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "โรงพยาบาล​สนาม​ โจทย์​ใหญ่​ประเทศไทย"

สธ.เผยสถานที่ใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เน้นห่างไกลชุมชน ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสถาปนิก วิศวกร นักระบาดวิทยา และทางการแพทย์ แยกระบบบำบัดน้ำเสียชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อไปสู่ชุมชน เร่งใช้กลไกประชาคม ท้องถิ่น อสม.ทำความเข้าใจชุมชน ถึงเหตุผลการจัดเตรียมรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก

📌 เปิดผังรพ.สนาม​ รับมือโควิด​ 19​ นำร่องแล้ว​ 8​ แห่ง​ 5​ จว.

 การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เน้นความปลอดภัย โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย และระบบระบายอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขประจำ รวมทั้งการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากชุมชน ช่วยรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่มีอาการ เพื่อให้โรงพยาบาลปกติมีเตียงในการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไปได้

ขณะนี้จัดตั้งมีโรงพยาบาลสนามแล้ว 8 แห่งใน 5 จังหวัด ทุกแห่งทำตามแนวทางความปลอดภัย ไม่ให้มีการนำเชื้อสู่ภายนอกหรือชุมชน ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจะมี อสม.ช่วยทำความเข้าใจประชาชนถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับหากมีผู้ป่วยจำนวนมากๆ แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
ก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้


ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งสถาปนิก วิศวกร รวมทั้งนักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ได้หารือและกำหนดแนวทางต้นแบบจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชน โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 หมวด 

 1. การสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการโรงพยาบาลสนามโดยมีส่วนร่วม ให้ข้อมูลกับคนในชุมชนผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และ อสม. หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ ไม่มีการปกปิดข้อมูล หรือแจ้งเหตุที่คิดว่าไม่ปลอดภัยได้ เพื่อการตรวจสอบ และแก้ไขไม่ให้เกิดการติดเชื้อออกมาสู่ชุมชน 

 2. อาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จุดสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลสนามมี 5 ลักษณะ คือ พื้นที่โล่งว่างเปล่าห่างไกลชุมชน, โรงยิม หอประชุม สนามกีฬาที่ห่างไกลจากชุมชน, พื้นที่โล่งในโรงพยาบาล, อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ และสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่เปลี่ยนแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม

3.ด้านกฎหมาย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจัดตั้งอย่างถูกต้อง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่กำหนดสถานที่ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอนุญาตให้จัดตั้งเฉพาะกรณีโรคโควิด 19 เท่านั้น โดยได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล 

 4.การรักษาพยาบาล ได้ยึดแนวทางมาตรฐานการรักษาของกรมการแพทย์ เพื่อให้คนป่วยปลอดภัยที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินมีระบบส่งต่อ

เรามีต้นแบบโรงพยาบาลสนาม ที่นำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ได้ แบ่งเป็นโซนสีเหลืองสำหรับผู้ติดเชื้อ ส่วนสีเขียวของเจ้าหน้าที่ และโซนสีส้มคือห้องน้ำและขยะติดเชื้อ ซึ่งออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดแยกต่างหาก ไม่ไปเกี่ยวข้องกับกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ โดยมีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด และทดสอบน้ำในละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิด 19 หรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานในโซนผู้ติดเชื้อ เมื่อกลับออกมาต้องอาบน้ำและถอดชุด ป้องกันการติดเชื้อเข้ามาในส่วนปฏิบัติงาน และผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วก่อนกลับบ้าน ต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อไม่ให้มีเชื้อเปื้อนเสื้อผ้ากลับไปสู่ชุมชน" นพ.สามารถกล่าว

📌 ตั้งเป้าในเขตสุขภาพที่มีการระบาดให้ตั้งรพ.สนาม​ อย่างน้อย 1,000 เตียง

 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดรอบใหม่ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดความเสี่ยงที่จะมีการนำเชื้อโควิด 19 ไปแพร่ให้กับผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งการตั้งโรงพยาบาลสนามจะตั้งในจังหวัดหรือพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะในจุดเริ่มต้นของการระบาดคือจังหวัดสมุทรสาคร และ
ใน 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี 

ในขณะเดียวกันได้มีแผนการเตรียมเตียงเพิ่มตลอดเวลา โดยกระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายว่าในเขตสุขภาพที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมากจะให้มีการสำรองเตียงสนามไว้อย่างน้อย 1,000 เตียง และได้มีการเตรียมเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อความปลอดภัยของชุมชน ทั้งนี้โรงพยาบาลสนามแต่ละแห่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย ในการบริหารจัดการพื้นที่ให้ได้ตามมาตรฐาน โดยมีโรงเรียนแพทย์ (UHosNet) ร่วมสนับสนุน รวมถึง กระทรวงกลาโหม ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง เอกชน ประชาชนในพื้นที่ และความพร้อมของแต่ละจังหวัด สถานที่ตั้งต้องห่างชุมชนให้มากที่สุด มีการบริหารจัดการตามมาตรฐาน ทั้ง ระบบสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะติดเชื้อ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบความปลอดภัยทางกายภาพ และการรักษาความปลอดภัย ในส่วนการดูแลผู้ป่วยมีการลงทะเบียน และใช้ระบบสื่อสารเพื่อหลีกเลี่ยงการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยง 
และการใช้กล้องวงจรปิดเพื่อดูความปลอดภัย ทันทีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นจะมีแผนการส่งตัวไปที่โรงพยาบาล 

 กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 เนื่องจากต้องใช้เตียงจำนวนหนึ่งในการรักษาโรคอื่นๆ ด้วย โดยจะรับดูแลผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งรองรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลหลัก อาการดีขึ้นแล้ว ให้ครบระยะเวลากักกันโรค โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้ง ประสาน และทำความเข้าใจกับประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบด้านการแพทย์ตามมาตรฐาน เน้นเป็นสถานที่ที่ประชาชนยอมรับ อากาศถ่ายเทได้ดี การสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณสุขสะดวก เช่น วัด ค่ายทหาร โรงเรียน โรงยิม หอประชุม หรือสร้างขึ้นใหม่ในสถานที่โล่งกว้าง 

ในโรงพยาบาลสนาม ได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งระบบต่าง ๆ ภายใต้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย การขนส่งผู้ป่วยระหว่างบ้าน/ คลินิกมาโรงพยาบาลสนาม, การบริหารจัดการผู้ป่วย/ เชื่อมโยงข้อมูล สื่อสารระบบเดียวกับโรงพยาบาลหลัก, การป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ, ระบบสุขาภิบาล การบำบัดน้ำเสีย การระบายอากาศ การกำจัดสิ่งปฏิกูล ผ่านการตรวจสอบของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ระบบรักษาความปลอดภัย ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในสถานที่ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมแพทย์ พยาบาล ติดตามตรวจสอบก่อนออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ, ระบบป้องกันอัคคีภัย, ระบบสื่อสารความเสี่ยง, งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา 

ขณะนี้ มีโรงพยาบาลสนามแล้วใน 4 จังหวัด ประมาณ 1,900 เตียง อยู่ที่สมุทรสาคร 2 แห่ง, ระยอง 3 แห่ง, จันทบุรีและชลบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง และมีนโยบายให้เตรียมพร้อมจัดตั้งตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด มีทีมบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน ที่เป็นจิตอาสา และทีมบุคลากรจิตอาสาจาก รร.แพทย์ ทั้งศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลในสังกัด รวมกว่า 20 ทีม โดยผลัดเปลี่ยนทีมทุก 5-7 วัน

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แสดงความขอบคุณประชาชน คหบดีที่ได้แสดงความจำนงอนุเคราะห์พื้นที่ให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยรับไว้เพื่อพิจารณาความเหมาะสม ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ และคำถึงความรู้สึกของประชาชนในชุมชนนั้น

ความคิดเห็น