เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "นิรโทษกรรม: คุมระบาดแก้แรงงานข้ามชาติผิดกม."
การแพร่ระบาดของ covid 19 ที่มีต้นตอจากแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร ทำให้สังคมเริ่มตั้งคำถามเชิงลบ กับแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ ทั้งที่จริงๆแล้วก็เป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อมีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อโควิด 19 จำนวนมาก รัฐจะมีมาตรการ หรือใช้งบประมาณส่วนใดในการดูแล
มีหลาย comment ใน Social Media ใต้กระทู้ข่าวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อโควิค 19 ในทิศทางที่ว่าอยากให้ส่งกลับประเทศ หรือจะใช้เงินภาษีของคนไทยในการรักษาได้อย่างไร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจน
ถ้าเราเข้าใจต่อสถานการณ์และยอมรับได้ว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติ คือ ส่วนหนึ่งที่ระบบเศรษฐกิจไทยขาดไม่ได้ และต้องเดินหน้าไปโดยมีแรงงานกลุ่มนี้เป็นตัวจักรสำคัญ นี่ถือเป็นทัศนคติที่องค์กรเครือข่ายด้านแรงงาน อยากให้เกิดขึ้นในสังคม เพื่อนำไปสู่หลักคิดการควบคุมโรค ที่ต้องดูแลผู้คนทุกระดับอย่างเท่าเทียม
จริงๆแล้ว แรงงานข้ามชาติทุกคนที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ต้องซื้อประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ จากโรงพยาบาลในพื้นที่ จ่ายเป็นเงิน 3,200 บาททุก 2 ปี ส่วนแรงงานข้ามชาติที่นายจ้างนำเข้าระบบประกันสังคมตาม ม.33 ก็จ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ทุกเดือน ไม่ต่างจากแรงงานไทย ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยก็สามารถที่จะนำเงินจากกองทุนสุขภาพทั้งสองกองทุนนี้มารักษาได้ แต่คำถามก็ยังมีอยู่ คือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะใช้เงินส่วนไหนรักษา แล้วมีข้อเสนออะไรบ้างที่จำเป็นเพื่อไขแก้สถานการณ์ ติดตามจากรายงาน
ชูข้อเสนอ "นิรโทษกรรม" แรงงานข้ามชาติ
230,000 คน คือจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายในจังหวัดสมุทรสาคร แต่อีกประมาณ 1 แสนคน เครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ คาดว่าเป็นผู้ติดตาม หรือเป็นแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ในที่ทำงาน และชุมชน ของแรงงานข้ามชาติ ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร แรงงานข้ามชาติที่ผิดกฏหมายกังวลว่า หากเข้ารับการตรวจเชื้อ หรือเข้ารับการรักษา จะถูกดำเนินคดี และส่งกลับประเทศ
แต่ ตลอดเวลาแต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาหลังเกิดการระบาดใหม่ รัฐบาลไทยได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่า จะไม่ดำเนินคดี และจะรักษาตามหลักการสาธารณสุขเพื่อการป้องกันโรค
ข้อเสนอของนักวิจัยสังคม หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ ที่เกิดการระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกในกลุ่มแรงงาน ซึ่งยอมรับมีทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จึงประกาศนิรโทษกรรม ให้กับแรงงานข้ามชาติ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย สำหรับประเทศไทยกรณีนี้เป็นข้อท้าทายอย่างยิ่ง สำหรับหน่วยงานความมั่นคง
แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ติดเชื้อ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะนำเงินส่วนไหนไปรักษา เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และเป็นคนวัยหนุ่มสาว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการจัดการสถานที่กักกันโรค การสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับ รวมถึงการส่งน้ำ อาหาร ให้กับผู้ติดเชื้อที่ที่อยู่ในพื้นที่กักกัน ส่วนนี้รัฐบาลคงกำลังหางบประมาณเพื่อจัดการ ดังนั้นจึงมีข้อเสนอก็คือ นายจ้าง ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับแรงงานข้ามชาติราคาถูก รัฐควรที่จะขอสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนในการเข้าไปช่วยกระบวนการรักษา และป้องกันโรคจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้
หลังพ้นวิกฤตโควิด ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จะต้องยกเครื่องกันใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะกระบวนการรับแรงงานแบบ MOU 4 ปีครั้ง ทำให้เพิ่มขั้นตอน และเสียค่าใช้จ่าย เป็นเหตุให้แรงงานบางส่วนต้องเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย และมีผู้ได้รับผลประโยชน์ จากการรับแรงงานแบบผิดกฎหมาย กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนที่มีมายาวนาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
สอดคล้องกับ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มองว่า แม้แรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร ถูกเพ่งเล็งจากสังคมว่าเป็นสาเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ส่วนตัวมองว่า การระบาดที่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย และที่ต้องยอมรับคือการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เกิดขึ้นจากข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่อง ทั้งความเป็นอยู่ที่กลุ่มแรงงานอยู่กันอย่างหนาแน่น การเข้าไม่ถึงมาตรการตรวจคัดกรอง
นี่คือตัวชี้วัดที่ทำให้การเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของกลุ่มแรงงานถูกตั้งคำถาม ดังนั้นภาครัฐน่าจะใช้โอกาสนี้จัดการระบบให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาครัฐต้องทบทวนมาตรการคุมเข้มการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะสิ่งที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์นี้ คือ มาตรการปิดด่านที่ยังเกิดขึ้น อีกโจทย์ใหญ่ คือ ทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายการตรวจโควิด-19 ถูกลง เพราะทั้งกระบวนการหากนำเข้าแรงงานต่อคนเฉลี่ยคนละหลายหมื่นบาท จนทำให้แรงงานที่ต้องการเข้าประเทศหลบเลี่ยง
เครือข่ายด้านแรงงาน ยังขอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับ กลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ที่หนังสือเดินทาง หรือ พาสสปอท รวมถึงหนังสืออนุญาตทำงาน จะหมดอายุภายในต้นปี 2564 เพราะสถานการณ์ที่ยังล็อคดาวน์ และปิดด่านชายแดน จะส่งผลให้แรงงานกลุ่มนี้ตกอยู่ในสภาพบุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมาย และเหนือสิ่งอื่นใด ประเด็นสำคัญที่อยากให้สังคมร่วมกันสร้างความเข้าใจ คือ การระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับ
ดังนั้นจำเป็นที่ระบบสาธารณสุขต้องควบคุม ดูแล และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาทุกคน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการแพร่กระจายโรค เพราะถึงอย่างไรแรงงานข้ามชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจไทย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น