เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "เช็คความพร้อมโรงพยาบาลโควิด-19"
เมื่อพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนไทยที่ทยอยกลับจากท่าขี้เหล็ก ของเมียนมา ความสามารถในการรองรับผู้ป่วย covid-19 ในจังหวัดเชียงรายจึงกำลังถูกจับตามอง พลิกปมข่าววันนี้จะพาไปสำรวจความพร้อมในการรับมือเรื่องนี้ของจังหวัดเชียงราย
นับจากวันนี้ถ้าไม่พบผู้ติดเชื้อนอก state quarantine ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศเมียนมา ในวันจันทร์หน้า (14 ธ.ค. 63) ก็จะถือว่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ นี้
การรับคนไทย เข้ามาในทุกช่องทางโดยเฉพาะช่องทางพิเศษ เพื่อสกัดการลักลอบเข้าเมืองมาอยู่ในมาตรการกักตัว ในสถานที่กักกันโรคของรัฐ เป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยให้การระบาดครั้งนี้ยุติลงได้ แต่งานหนักจะไปอยู่ที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อใน state quarantine ซึ่งคาดการณ์ว่าจะพบได้ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนคนไทย ที่คาดว่าตกค้างอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก และเดินทางกลับเข้ามาประมาณ 500 คน นั่นหมายความว่าอาจจะพบผู้ติดเชื้อ ใน state quarantine 200 ถึง 250 คน
#เก็บตกจากวชิรวิทย์ #ThaiPBS ได้รับอนุญาตให้สำรวจ ภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีหน้าที่สำคัญในการรับและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด เราไปดูความพร้อมกัน
📌 เช็คความพร้อมโรงพยาบาลศูนย์ จ.เชียงราย
อาคารสมเด็จย่า ภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ถูกใช้เป็นสถานที่รักษาตัวของผู้ติดเชื้อโควิค 19 ในจังหวัดเชียงราย ไม่ให้ปะปนกับอาคารผู้ป่วยในหลังอื่น ที่นี่รับรักษา ผู้ติดเชื้อ Covid ในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ทั้งจากที่เดินทางลักลอบเข้ามา และผู้ติดเชื้อที่อยู่ในสถานกักกันโรคโดยรัฐ
ภายในตึกนี้ มีห้องความดันลบ และห้องแยกผู้ป่วย covid 19 จำนวน 84 เตียง หลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ณ วันที่ 9 ธันวาคม มีจำนวนผู้ป่วย covid เข้าพักรักษาตัวอยู่ภายในตึกนี้ 34 คน ซึ่งคิดเป็น capacity หรือความจุเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของโรงพยาบาล หากในอนาคต ผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงรายที่มาจาก state Quarantine เพิ่มสูงขึ้น เกิน 84 เตียง ก็จะขยายต่อไปที่โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีเตียงรองรับถึง 400 เตียง
รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บอกว่าผู้ป่วย covid ที่เข้ารับการรักษา ส่วนมากไม่มีอาการ เพียงแต่สูญเสียการลิ้มรส โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลารักษา 10 วันจนหายดี และให้เดินทางกลับบ้านได้
บทเรียนจาก covid-19 ที่ระบาดรอบแรกทำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่นี่เตรียมการรับมืออย่างต่อเนื่อง หลังจากผู้ป่วย covid คนสุดท้ายออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน เพราะคาดการณ์ว่าการระบาดอาจเกิดขึ้นซ้ำ และการป้องกันตัวเองของบุคลากรทางการแพทย์คือสิ่งสำคัญ หัวหน้าห้องผู้ป่วยแยกโรคบอกว่า ขั้นตอนในการถอดชุด PPE อย่างถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับการเข้าใกล้ผู้ป่วย ที่ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย
จำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดเชียงรายที่เพิ่มมากขึ้น รองจากกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องไม่เกินความคาดหมายของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ติดชายแดน หลังจากที่การระบาดรอบแรก มีผู้ป่วยรักษาตัวเพียง 9 คน แต่ covid 19 ครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษามากกว่าหลายเท่าตัว จากการรับคนไทย กลับเข้ามา ในทุกช่องทางเพื่อสกัดการลักลอบเข้าเมือง
📌 เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจชายแดน
ความพร้อมของระบบสาธารณสุข ช่วยเรียกความเชื่อมั่นของคนในจังหวัดเชียงรายว่าจะสามารถ พบจุดสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจได้
ส.ส.จังหวัดเชียงราย บอกว่า การเตรียมความพร้อมของระบบครั้งนี้ สะท้อนถึงองค์ความรู้เรื่องโรคระบาด covid-19 ที่มีมากขึ้นจากการระบาดครั้งก่อน ซึ่งทิ้งความเจ็บปวดให้กับผู้คนจำนวนมากจากผลกระทบมาตรการปิดเมือง เมื่อพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนอีกครั้ง ทำให้หลายคนกลัวจะต้องตกงาน ทุกฝ่ายจึงต้องหาจุดสมดุลให้ได้ ระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่คงไม่สามารถทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ได้ตลอดไป
นั่นหมายถึงโซเชียลวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม ยังเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ให้ปกปิดข้อมูลเพื่อให้การสอบสวนโรคหาผู้เสี่ยงติดเชื้อทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้การระบาดขยายวงกว้าง และทุกชีวิตยังเดินหน้าต่อได้เหมือนปกติ.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น