เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "ชุมชน​สมดุล​สุขภาพ​ สกัดโควิด-19"

การลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพร้อมกันแต่มีเป้าหมายเพื่อเรียกความเชื่อมั่นทั้งทางด้านความมั่นคงด้านสุขภาพและการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกัน 

ชมคลิป​.. 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลาที่พบผู้ติดเชื้อ เป็นจังหวะเวลาที่ทุกอย่างกำลังฟื้นตัวและดูเหมือนจะหยุดชะงักลง หลายฝ่ายในชุมชนพยายามที่จะเรียกความเชื่อมั่น จากบทเรียนจากการระบาดรอบแรก​รอบนี้เพื่อลดผลกระทบ​ จึงหาจุดสมดุล และร่วมมือกันปฏิบัติการเชิงรุกในหลายด้าน

เป็น 3 สัปดาห์สั้นๆ ที่นักท่องเที่ยวกำลังจะกลับมา แต่หลังจากพบผู้ติดเชื้อคนไทยลักลอบข้ามแดนทาง อ.แม่สาย ทุกอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ​ เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนผาหมี ที่สะท้อนถึงผลกระทบ อย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัวหลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องปิดกิจการไปถึง 3 เดือนในช่วงล็อคดาวน์โควิดรอบแรก

สภาพชุมชนที่เงียบเหงานักท่องเที่ยวบางตาสวนทางกับฤดูไฮซีซั่นทำให้ ความคาดหวังว่าจะมีรายได้ มาชดเชยให้กับช่วงเวลาที่ต้องปิดกิจการไปช่วงต้นปี แต่นักท่องเที่ยวเกินครึ่ง ที่จองห้องพักไว้ ขอเลื่อนการเข้าพัก บางรายขอยกเลิก นี่จึงเป็นจังหวะเวลาสำคัญที่รัฐต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน ถึงแนวทางในการเดินหน้าเศรษฐกิจ ท่ามกลาง covid-19

การกลับมาของโควิด รอบนี้ทำให้ชุมชนมีบทเรียนที่จะปรับตัว ตามมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรค แต่นั่นยังไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นได้อย่างเต็มที่ 

หลายชุมชนตามแนวชายแดน แม้จะยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขในอำเภอแม่ฟ้าหลวง ก็ทำงานเข้มข้นด้วยการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกในช่วงเวลาย้อนกลับ เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อลักลอบเดินทางเข้ามาก่อนหน้านั้น

ช่วงนี้ผมจะพาคุณผู้ชมไปดูความเข้มแข็งของชุมชนแนวชายแดนที่มีส่วนในการสกัดเชื้อ covid19 และปฏิบัติการเชิงรุกของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ติดตามจากรายงาน

📌 ชุมชน-สธ.จับมือสกัดโควิด​-19 เชิงรุก

หมู่บ้านจะลอ ต.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีพรมแดนอยู่ติดกับบ้านผ้าขาว รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชายแดนบางจุดไม่มีเครื่องกีดขวาง ชาวบ้านสองฝั่งสามารถเดินข้ามไปมาหาสู่กันได้ 

เพราะทั้ง 2 ชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อ่าข่า มีความสัมพันธ์ลักษณะเครือญาติ แต่การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ทั้ง 2 ชุมชนต้องยุติการติดต่อกันชั่วคราว โดยไม่รู้ว่าโรคระบาดจะจบลงเมื่อไหร่

บทบาทและภารกิจของ อสม. ในหมู่บ้านชายแดนจึงยากลำบากกว่าที่อื่น มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังบุคคลเข้าออกหมู่บ้าน ตรวจวัดไข้และให้เจลล้างมือ เข้มงวดการใส่หน้ากากอนามัย 100%

รวมถึงการใช้วิธีเดินเคาะประตูบ้านทุกหลัง เพื่อสำรวจคนแปลกหน้าและดูอาการทั่วไปของสมาชิกในหมู่บ้าน อสม.คนนี้ บอกว่า มากกว่าเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับ คือความอุ่นใจว่าหมู่บ้านจะปลอดเชื้อ

ตลอดแนวตะเข็บชายแดน 130 กิโลเมตร ทั้ง อ.แม่ฟ้าหลวงและ อ.แม่สาย มีกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งหมู่บ้านเกือบร้อยแห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังในรูปแบบเดียวกัน

นอกจากปฏิบัติการของ อสม.แล้วคือปฏิบัติการทางสาธารณสุขในการตรวจหาเชื้อเชิงรุกและสอบถามประวัติกลุ่มเสี่ยง

หญิงชราคนนี้ให้ข้อมูลกับทีมสอบสวนโรคว่าเดินข้ามไปยังฝั่งประเทศเมียนมาเพื่อทำบุญ แต่ติดอยู่ที่นั่น เป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะสามารถกลับเข้ามาผ่านทางช่องทางธรรมชาติ ที่ตำบลเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงขอเข้ารับการตรวจเชื้อ แม้ตลอด 14 วันที่ผ่านมาจะไม่มีอาการไข้ระหว่างการกักตัวเอง 14 วัน นี่เป็น 1 ในกว่า 50 คนที่ อสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบเคาะประตูบ้านแล้วพบประวัติเสี่ยง 

หน่วยงานสาธารณสุขในท้องถิ่น กำหนดตรวจเชื้อย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนจนมาถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ที่มีประวัติเสี่ยงให้เดินทางมาตรวจทั้งหมด นอกจากหญิงชราคนนี้แล้ว ยังมีผู้เสี่ยงต่ำ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ลักลอบข้ามมาจากจังหวัดท่าขี้เหล็กกลุ่มแรกรวมไปถึงพนักงานร้านสะดวกซื้อ ที่ให้บริการกับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ด้วย

📌 บทเรียนรอบแรกรับมือโควิด-19 รอบ​ 2​

มาตรการสาธารณสุขเชิงรุกที่ดักตรวจล่วงหน้าไปก่อนที่​ เจอผู้ติดเชื้อ​ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งความสำเร็จนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันในหลากหลายหน่วยงานในชุมชน 

จากการสำรวจของทีมข่าวตลอดตามแนวชายแดนพบว่าทุกแทบทุกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นทหาร​ ต​ำรวจ​ อสม.​ ชรบ.​ ต่างออกกันมาตั้งด่านสกัด​ ทั้งด่านชุมชน​ ด่านตำบลเป็นชั้นๆ​ เพื่อป้องกันผู้ที่ลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ 

ความร่วมมือ อย่างขันแข็งทั้งหมดเกิดจากความพยายามในการเรียกความเชื่อมั่นและหลายคนไม่อยากเห็น ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากโควิชรุนแรงเท่ากับรอบแรกที่ผ่านมา จึงพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อรับมือ 

การแพร่ระบาดของ covid 19 ทำให้หลายคนมองหาช่องทางในการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงทางธุรกิจและความเสี่ยงด้านสุขภาพ จึงพยายามหาช่องทางสกัดก่อนเจอเชื้อ​ ดีกว่าเจอเชื้อแล้วต้องมานั่งสอบสวนโรคภายหลัง เหล่านี้ก็คือปฏิบัติการเชิงรุก​ ที่เราพบเห็นในพื้นที่​ ที่พยามหาจุดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ.

ความคิดเห็น