เก็บตกจากวชิรวิทย์ | เสนอรัฐทบทวนประกาศชั้นลุ่มน้ำ​ -​ เน้นจัดการร่วม

เดิม​ "ชาวบ้าน" มักถูกผลักให้เป็นจำเลยของ "ภูเขาหัวโล้น" แต่ความจริงแล้วการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีที่มาจากนโยบายการส่งเสริมจากรัฐ และระบบเกษตรแบบอุปถัมภ์ เกิดเป็นปัญหาหนี้สินต่าง และภาระการเงินในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้แต่คือการเปลี่ยนตลาดผลผลิต 

ในมุมมองของเครือข่ายภาคประชาสังคม "ประยงค์ ดอกลําไย" ที่ปรึกษาพีมูฟ บอกว่า การฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนดจัดสรรพื้นที่ ไม่บังคับ และค่อยเป็นค่อยไป สำคัญคือเงินไม่ขาดมือหลังเลิกปลูกข้าวโพดแบบกระทันหัน ซึ่งน้ำพางโมเดลตอบโจทย์นี้ได้ดี 


ขณะที่กัน "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" รองหัวหน้า​พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงจุดเด่นของโมเดลอื่น ที่มีการจ่ายเงินชดเชย แต่ต้องสื่อสารให้ชัด และสร้างหลักประกันว่าจะไม่เสียสิทธิ์ในที่ทำกิน

ประเด็น สิทธิในที่ทำกินเป็น ปัญหาสำคัญของการแก้ภูเขาหัวโล้น ซึ่งทุกปลายทางของทุกโมเดล คือต้องเข้าการจัดสรรที่ดิน โดย คณะกรรมการนโนยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. 

​หากกางกฎหมายออกมาดูแล้ว​ พบว่าหลายชุมชนในจ.น่าน ยังทำกินในที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย​ โดยการที่ ที่ทำกินนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 

ภาคประชาชน จึงเสนอให้ มีมติ ครม.ทบทวนการแบ่งลำดับชั้นลุ่มน้ำ หรือให้มีการยกเว้นบางกรณี เช่นเดียวกับที่มีการยกเว้น พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 เพื่อเปิดทางให้กับทำเหมืองปูนในจังหวัดสระบุรี นอกจากนั้นยังเสนอให้ยกระดับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนดังกล่าวให้รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างแท้จริง

ขณะที่​ "วราวุธ​ ศิลปอาชา" รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงทรัพยาธรรมชาติ​และสิ่ง​แวดล้อม​ รับปากว่าจะนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมไป พิจารณาเพื่อหาจุดสมดุล​ แต่ต้องยอมรับว่า วันนี้จำนวนประชากรสวนทางกับพื้นที่ที่มีจำนวนคนมากขึ้น แต่ที่ดินมีเท่าเดิมดังนั้นวิถีชีวิตเดิมที่ทำกันมาแต่โบราณก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้การรักษาพื้นที่ต้นน้ำเป็นสิ่งจำเป็นเพราะแม่น้ำต่างๆจะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงไม่เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม

ส่วน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ระบุว่า อยู่ระหว่างลงพื้นที่ สำรวจปัญหาที่ดินทุกจุดที่มีปัญหา สิ่งสำคัญคือกระบวนการยุติธรรมด้านที่ดินที่ควรได้รับการปฏิรูป เพราะชาวบ้านเข้าถึง ชั้นตำรวจ​ -​ อัยการได้ยากมาก หลังจากเร่งศึกษาข้อมูลครบถ้วนแล้วจะชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และมีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน หลายข้อที่เป็นปัญหาต่อไป.

ความคิดเห็น