เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ​ 4​ โมเดลฟื้นป่าน่าน​ "สิทธิ​ทำกิน" VS​ "อนุรักษ์​ป่าต้นน้ำ" ​

ในช่วงฤดูฝนหลายพื้นที่ในจังหวัดน่าน กลายเป็นพื้นที่เฝ้าระวังดินโคลนถล่มเนื่องจากมีลักษณะพื้นที่เป็นภูเขา และเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีต่อต้นปีหน้า ก็จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังการเผาไร่ ซึ่งเป็นที่มาของ ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ของชาวบ้านมาเป็นเวลานาน จนมีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น​ ​ ทุกวันนี้ก็ยังคงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหากันอยู่​ 

#เก็บตกจากวชิรวิทย์​  ได้ลงไปดูวิธีการแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้น ในจังหวัดน่าน​ อีกครั้งเป็นอย่างไรบ้าง


หลายแห่งมีความคืบหน้าไปมากหลังจากที่เริ่ม ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชไม้ผลไม้ยืนต้นผสมผสาน ก็ทำให้พื้นที่สีเขียวมีเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีมากกว่าค​3รึ่งหนึ่งที่ยังเป็นไร่ข้าวโพดอยู่ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน

ที่ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ชาวบ้านที่นั่น พยายามแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นด้วยการจัดการตัวเอง เรียกว่า "น้ำพางโมเดล" 

📌 น้ำพางโมเดล​ แก้ปัญหา​ภูเขา​หัวโล้น​ จ.น่าน

3 ปีแล้วที่แปลงข้าวโพด​เลี้ยง​สัตว์​ ถูกแทนที่ด้วยต้นมะม่วงหิมพานต์​ ช่วยเปลี่ยนพื้นที่ทำกินบางส่วน​ ของนายชิน​ เขื่อนจักร์​ ชาวบ้าน​ ต.น้ำพาง​ จ.น่าน​ จากภูเขาหัวโล้นให้กลายพื้นที่สีเขียวอีกครั้ง​ 

นอกจากไม้ผลยังมีพืชผักสวนครัว ที่เก็บกินเอง และขายได้อีกส่วนหนึ่ง หลังเริ่มลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว​ บนพื้นที่ 11 ไร่ อย่างค่อยเป็นค่อยไปปีละ 20% ก็เริ่มเห็นรายได้ที่มากกว่า

การปรับตัวของชาวบ้านกลุ่มนี้​ เกิดจากแรงกดดันจากนโยบายทวงคืนผืนป่า​ ของ​ คสช.​ เมื่อปี 2557 เพราะสภาพที่ทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม​ชั้น 1 และ 2 บนพื้นที่ลาดชัน

ในตำบลเดียวกันที่​ ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหมด ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศแบ่งลำดับพื้นที่ลุ่มน้ำ​ในภายหลัง​ ​แต่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวมานานแล้ว

การแก้ปัญหา​ ด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง​ ความพยายามเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลับมามีพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ผลทดแทนพืชเชิงเดี่ยว​ จึงเป็นที่มาของน้ำพางโมเดล ที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการ​ ร่วมกัน​ สามารถฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้อย่างสมดุล เดินคู่ไปทั้งการอนุรักษ์และสิทธิชุมชน

ปัจจุบันมีชาวบ้านจำนวน 285 ราย ที่เข้าร่วมสมาชิกน้ำพางโมเดล​ จากชาวบ้านในตำบลทั้งหมดกว่า 5,000 คน​ 

ในปี 2565 จะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแปลงสมาชิกได้ 4,253 ไร่ หลังจากนั้นมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตำบลน้ำพางให้ได้ปีละ 1,000 ไร่นั่นหมายความว่าในปี 2575 ตำบลน้ำพางพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 14, 000​ ไร่รวมไม่น้อยกว่า​ 96 % ของพื้นที่

📌 เปรียบเทียบ 4 โมเดลแก้ภูเขาหัวโล้น จ.น่าน 

น้ำพางโมเดล ไม่ใช่โมเดลแรก สำหรับการแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน ตลอดเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา หลายหน่วยงานคิดโมเดลเพื่อแก้ไขปัญหานี้ในรูปแบบที่ต่างกันออกไป จะลองเปรียบเทียบดูทีละ โมเดล

เริ่มจาก น่านแซนด์บ็อกซ์ หน่วยงานที่ขับเคลื่อนหลังคือ มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ธนาคารกสิกรไทย ของ นายบัณฑูร ล่ำซำ ลักษณะเด่น คือเป็นโครงการที่ร่วมมือกับภาครัฐอย่างจริงจัง ทำพื้นที่ทดลองจำนวน 924 หมู่บ้าน 99 ตำบล ใน 15 อำเภอ เน้นการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง และให้ชาวบ้านทำกินใต้ต้นไม้ใหญ่ พร้อมกับให้เงินชดเชยสำหรับชาวบ้านที่เลิกปลูกข้าวโพด พร้อมทั้งช่วยหาตลาดรองรับผลผลิตแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในระยะยาว หากทำกินในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1, 2ก่อนมติครม 30 มิ.ย. 41 จะมีการจัดที่ดินแปลงรวม หลังจากนั้น​ มี​สิทธิ​ทำกินเพียงการปลูกพืชใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่ให้มีการแผ้วถาง

ขณะที่น้ำพางโมเดล มีความยืดหยุ่นมากกว่า ชาวบ้านจะทยอยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดปีละ 20% ด้วยตนเอง ทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกทั้งไม้ผล และพืชผักสวนครัว ปรับปรุงระบบประปาภูเขา เพื่อมีน้ำใช้ในการทำเกษตร จุดเด่นสำคัญคือ ชุมชนเป็นผู้กำหนดขอบเขตและจำแนกการใช้ประโยชน์เอง รวมถึงยกระดับอาชีพ ในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โมเดลนี้ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ 

อีกโมเดลที่มีความน่าสนใจ โครงการ สวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย เป็นโมเดลที่นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ ปลูกป่าบนยอดเขา ถัดจากยอดเขาเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ตีนภูเขาหรือตีนดอย ขุดบ่อทำประมง โมเดลนี้จะชดเชยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด 1,600 บาทต่อไร่ และจะมีโครงการธนาคารต้นไม้ จ่ายเงินให้ตามวงรอบต้นไม้ที่มีอายุครบ 6 ปี โครงการนี้มีการเปิดระดมทุนจากบุคคลภายนอก เพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลต้นไม้ของชาวบ้าน มีหน่วยงานขับเคลื่อนหลักคือ วิทยาลัยชุมชนน่านและมูลนิธิปิดทองหลังพระ

ส่วนอีกโมเดล ของอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ หลุมขนมครก บนพื้นที่สูงซึ่งเป็นโมเดลที่ประยุกต์ใช้กับที่ดิน สปก. เน้นการทำโคกหนองนา ขุดบ่อน้ำ 30% ปลูกข้าว 30% สวนโคกไม่ต้องถม เพราะว่าเป็นภูเขาอยู่แล้วปลูกป่า 30% ที่เหลือไว้เป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์อีก 10 % ภายในโครงการเพิ่มความชุ่มชื้นด้วยการขุดคลองไส้ไก่ ทำฝายชะลอน้ำ สร้างบ่อเก็บน้ำและปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

📌 เสนอรัฐทบทวนประกาศชั้นลุ่มน้ำ​ -​ เน้นจัดการร่วม

ทุกโมเดลมีเป้าหมายเดียวกัน คือลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่คำถามก็คือโมเดลไหนที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ดีที่สุด

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจว่า เดิมชาวบ้านมักถูกผลักให้เป็นจำเลยของภูเขาหัวโล้น แต่ความจริงแล้วการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีที่มาจากนโยบายการส่งเสริมจากรัฐ และระบบเกษตรแบบอุปถัมภ์ เกิดเป็นปัญหาหนี้สิน และภาระการเงินในครัวเรือน การปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้​ แต่คือการเปลี่ยนตลาดผลผลิต 

ในมุมมองของเครือข่ายภาคประชาสังคม นายประยงค์ ดอกลําไย ที่ปรึกษาพีมูฟ บอกว่า การฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนดจัดสรรพื้นที่ ไม่บังคับ และค่อยเป็นค่อยไป สำคัญคือเงินไม่ขาดมือหลังเลิกปลูกข้าวโพดแบบกระทันหัน ซึ่งน้ำพางโมเดลตอบโจทย์นี้ได้ดี 

ขณะที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว กล่าวถึงจุดเด่นของโมเดลอื่น ที่มีการจ่ายเงินชดเชย แต่ต้องสื่อสารให้ชัด และสร้างหลักประกันว่าจะไม่เสียสิทธิ์ในที่ทำกิน

ประเด็น สิทธิในที่ทำกินเป็น ปัญหาสำคัญของการแก้ภูเขาหัวโล้น ซึ่งทุกปลายทางของทุกโมเดล คือต้องเข้าการจัดสรรที่ดิน โดย คณะกรรมการนโนยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. 

​หากกางกฎหมายออกมาดูแล้ว​ พบว่าหลายชุมชนใน​ จ.น่าน ยังทำกินในที่ป่าอย่างผิดกฎหมาย​ โดยการที่ ที่ทำกินนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 

ภาคประชาชน จึงเสนอให้ มีมติ ครม.ทบทวนการแบ่งลำดับชั้นลุ่มน้ำ หรือให้มีการยกเว้นบางกรณี เช่นเดียวกับที่มีการยกเว้น พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 เพื่อเปิดทางให้กับทำเหมืองปูนในจังหวัดสระบุรี นอกจากนั้นยังเสนอให้ยกระดับโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนดังกล่าวให้รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างแท้จริง

ขณะที่​ นายวราวุธ​ ศิลปอาชา​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวงทรัพยาธรรมชาติ​และสิ่ง​แวดล้อม​ รับปากว่าจะนำข้อเสนอของภาคประชาสังคมไป พิจารณาเพื่อหาจุดสมดุล​

อย่างไรก็ตาม​ รมว.ทส.​ บอกว่า​ ต้องยอมรับว่า วันนี้จำนวนประชากรสวนทางกับพื้นที่ที่มีจำนวนคนมากขึ้น แต่ที่ดินมีเท่าเดิมดังนั้นวิถีชีวิตเดิมที่ทำกันมาแต่โบราณก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้การรักษาพื้นที่ต้นน้ำเป็นสิ่งจำเป็นเพราะแม่น้ำต่างๆจะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงไม่เกิดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม​ โดยจะนำเงื่อนไขของน่านแซนด์บอกซ์ คือพิจารณาจาก หลักฐานการทำกิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 2 ก่อนมติครม 31 นิยม 41 ให้มีการจัดที่ดินแปลงรวมแต่ หลังจากปี 2541 ให้เพียงทำกินใต้ต้นไม้ใหญ่เท่านั้นไม่มีการถางเพิ่ม​ 

ส่วน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ระบุว่า อยู่ระหว่างลงพื้นที่ สำรวจปัญหาที่ดินทุกจุดที่มีปัญหา สิ่งสำคัญคือกระบวนการยุติธรรมด้านที่ดินที่ควรได้รับการปฏิรูป เพราะชาวบ้านเข้าถึง ชั้นตำรวจ​ -​ อัยการได้ยากมาก หลังจากเร่งศึกษาข้อมูลครบถ้วนแล้วจะชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และมีข้อเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน หลายข้อที่เป็นปัญหาต่อไป

📌 ทส.หนุน​ "น่านแซนด์บ็อก​ซ์" แก้เขาหัวโล้น

ถ้าฟังจากซุ่มเสียง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ดูเหมือนว่าจะยึดหลักเกณฑ์​ ทำกินก่อนมติครม. 30 มิถุนายน 2541 เป็นสำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 

หลังจากนี้คงจะต้องไปพิจารณาดูว่ามีชุมชนไหนบ้างที่ทำกินภายหลังจากมติครม. ปี 2541 ซึ่งตรงนี้หลายกรณีก็จะมีปัญหาความขัดแย้ง​ เพราะชาวบ้าน​ ยืนยันมาโดยตลอดว่าเป็นที่ดินที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ​ ขณะที่รัฐจะใช้หลักฐาน ตามภาพถ่ายดาวเทียม​ สิ่งนี้ทำให้เกิดกรณีพิพาทในหลายคดี ในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินที่ผ่านมา.


ความคิดเห็น