เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน ทางเลือกวัคซีน (ไม่) ลดเสี่ยงโควิด 19

การผลิตวัคซีน ถือเป็นอีกความหวังเพื่อฟื้นประเทศจากวิกฤตโควิด 19 นอกจากการฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งที่เราพยายามดำเนินการเอง และทั่วโลกกำลังคิดค้น ขณะนี้ไทยทุ่มเงินเกือบหนึ่งหมื่นล้านเพื่อเตรียมหลายทางเลือกไว้ ท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอน แนวทางไหนที่ไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุดและลดความเสี่ยงได้จริงหรือไม่ 

ไทยตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 50% ของประชากร ดังนั้นการจับจองเพื่อซื้อวัคซีนจึงต้องทำหลายทางไปพร้อมกัน


ทางแรก รัฐเลือกจองกับ บริษัท แอสตราเซนเนกา เพราะจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มาผลิตในไทยที่โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอน หากสำเร็จไทยก็จะกลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตวัคซีนโควิด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติเงิน กว่า 6000 ล้านบาท เพื่อจองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดส ครอบคลุม 20% ของประชากร คาดว่าน่าจะได้วัคซีนกลางปี 2564

ทางเลือกต่อมา ที่กำลังจะเสนอ ครม.ให้พิจารณาคือการร่วมลงขันกับหลายประเทศในโครงการของสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันจัดซื้อวัคซีน หรือที่เรียกว่า Covax ส่วนนี้ใช้งบประมาณจากเงินกู้ 3000 ล้านบาท คาดว่าจะได้วัคซีนกลางปีหน้าเช่นกัน

และอีกทางเลือกคือการพัฒนาวัคซีนในไทย โดยรัฐทุ่มงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด 600 ล้านบาท และอีก 400 ล้านบาทให้กับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่าจะสำเร็จปลายปี 2564

📌 จุฬาฯ​ คาดผลิตวัคซีน​สำเร็จปลายปี​ 2564

เรามีความหวังแค่ไหน กับการพัฒนาวัคซีนของไทยที่ใช้เทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรมในการผลิตวัคซีน ซึ่งเตรียมจะเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์

หลังประสบความสำเร็จจากการทดลองวัคซีนโควิดในลิง คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เตรียมทดลองในคน ระยะที่ 1 กับอาสาสมัคร 72 คน ในช่วง เดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งล่าช้าจากกำหนดเดิมไปถึง 4 เดือนเพราะต้องรอโรงงานผลิตวัคซีน

การที่บริษัทไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา ประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิผล 90-95% ทำให้ผู้อำนวยการ โครงการ พัฒนาวัคซีนโควิด-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความหวัง ว่าไทยจะประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน คือการผลิตวัคซีนจากข้อมูลรหัสพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า mRNA หากทดลองในคน ระยะที่ 1 สำเร็จ การทดลองระยะที่ 2 จะเริ่มต้นในเดือนมิถุนายน ถ้าได้ประสิทธิผล 90 % จะไม่ทดลองต่อในระยะที่ 3 แต่จะเริ่มผลิตใช้ โดยจะขึ้นทะเบียนวัคซีนแบบฉุกเฉิน และคาดว่าปลายปี 2564 วัคซีนโควิดที่ผลิตโดยคนไทยจะเริ่มฉีดให้คนทั่วไปได้ทันที

ส่วนความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่อาจทำให้การผลิตวัคซีนไม่สำเร็จ ล่าสุดพบว่า ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงทางคลินิก เพียงแต่ทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ ยังคงจับตาดูต่อไปคือ วัคซีน จะให้ผลยาวนานแค่ไหน

📌 ทำไมต้องจองวัคซีน​กับ​ "แอสตราเซเนกา" 

เมื่อวันที่​ 26 พ.ย.​ กระทรวงสาธารณสุข จะเจรจาเบื้องต้นกับ บริษัท ไฟเซอร์ เพื่อเป็นอีกทางเลือก ขณะที่หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมถึงเลือกทุ่มงบฯถึง 6,000 ล้านบาทจองวัคซีนของ บริษัท แอสตราเซนเนกาไปก่อน ทั้ง ๆ ที่ประสิทธิผลการทดสอบต่ำกว่า ลองไปดูข้อมูลนี้กันครับ

แม้จะมีประสิทธิผลสูงถึง 90% แต่วัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ มีข้อจำกัดเรื่องการเก็บรักษา ที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิติดลบถึง 70 องศาเซลเซียส ราคาต่อโดสอยู่ที่ 590 บาท

ส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์น่า ได้ประสิทธิผลมากที่สุดถึง 95 % แต่ราคาอยู่ที่ 1,120 บาทต่อโดส และต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิติดลบ 20 องศา อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน

ขณะที่วัคซีนของแอสตราเซเนกา อยู่ระหว่างการพัฒนา ประสิทธิผลขณะนี้คือ70% แต่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็นปกติ มีราคา แค่ 242 บาทต่อโดส

ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้านการต่างประเทศ บอกว่าในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อยากให้ประชาชนรู้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลในแต่ละทางเลือก มีความเสี่ยง แต่ถือเป็นความเสี่ยงที่จำเป็น

ขณะที่ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ เห็นว่า แม้วัคซีนคือความหวัง และเราตั้งเป้าหมายให้ประชากรครึ่งหนึ่ง เข้าถึงวัคซีน แต่ในความเป็นจริง อาจทำไม่ได้ตามนั้น เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว แต่ขณะนี้มีผู้เข้ารับวัคซีนในไทยเพียงร้อยละสิบเท่านั้น เราจึงยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบวิถีปกติใหม่ซึ่งจะช่วยลดอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่ออื่นๆไปพร้อมกัน

การป้องกันโรคติดต่อต้องอาศัยภูมิคุ้มกันหมู่มากกว่า 70% แม้เราจะทุ่มงบประมาณไปแล้วเกือบหนึ่งหมื่นล้านทั้งพัฒนาเอง และจองซื้อ โดยตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 50% ของประเทศก็อาจยังไม่เพียงพอ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

และอนาคตแม้จะมีวัคซีน แต่โควิด 19 ก็ยังอยู่กับเราตลอดไป การป้องกันโรคด้วยตัวเองจึงยังสำคัญ ไม่แพ้การมีวัคซีน

ความคิดเห็น