เก็บตกจากวชิรวิทย์ | "น้ำพางโมเดล" เปลี่ยนภูเขาหัวโล้น เป็นพื้นที่สีเขียว 1.4 หมื่นไร่ปี 2575
5 ปีที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น จ.น่าน หลายแห่งมีความคืบหน้าไปมากหลังจากที่เริ่ม ให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชไม้ผลไม้ยืนต้นผสมผสาน ก็ทำให้พื้นที่สีเขียวมีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ยังเป็นไร่ข้าวโพดอยู่ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน
ที่ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ชาวบ้านที่นั่น พยายามแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นด้วยการจัดการตัวเอง เรียกว่า "น้ำพางโมเดล"
3 ปีแล้วที่แปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถูกแทนที่ด้วยต้นมะม่วงหิมพานต์ ช่วยเปลี่ยนพื้นที่ทำกินบางส่วน ของนายชิน เขื่อนจักร์ ชาวบ้าน ต.น้ำพาง จ.น่าน จากภูเขาหัวโล้นให้กลายพื้นที่สีเขียวอีกครั้ง
นอกจากไม้ผลยังมีพืชผักสวนครัว ที่เก็บกินเอง และขายได้อีกส่วนหนึ่ง หลังเริ่มลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว บนพื้นที่ 11 ไร่ อย่างค่อยเป็นค่อยไปปีละ 20% ก็เริ่มเห็นรายได้ที่มากกว่า
การปรับตัวของชาวบ้านกลุ่มนี้ เกิดจากแรงกดดันจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ของ คสช. เมื่อปี 2557 เพราะสภาพที่ทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มชั้น 1 และ 2 บนพื้นที่ลาดชัน
ในตำบลเดียวกันที่ ดินทำกินของชาวบ้านทั้งหมด ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศแบ่งลำดับพื้นที่ลุ่มน้ำในภายหลัง แต่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวมานานแล้ว
การแก้ปัญหา ด้วยนโยบายทวงคืนผืนป่า มีแต่จะสร้างความขัดแย้ง ความพยายามเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้กลับมามีพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ผลทดแทนพืชเชิงเดี่ยว จึงเป็นที่มาของน้ำพางโมเดล ที่พยายามสะท้อนให้เห็นว่าการจัดการ ร่วมกัน สามารถฟื้นฟูป่าต้นน้ำได้อย่างสมดุล เดินคู่ไปทั้งการอนุรักษ์และสิทธิชุมชน
ปัจจุบันมีชาวบ้านจำนวน 285 ราย ที่เข้าร่วมสมาชิกน้ำพางโมเดล จากชาวบ้านในตำบลทั้งหมดกว่า 5,000 คน
ในปี 2565 จะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแปลงสมาชิกได้ 4,253 ไร่ หลังจากนั้นมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในตำบลน้ำพางให้ได้ปีละ 1,000 ไร่นั่นหมายความว่าในปี 2575 ตำบลน้ำพางพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น 14, 000 ไร่รวมไม่น้อยกว่า 96 %ของพื้นที่.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น