เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปม​ข่าว ตอน​ "เสริมฐานราก​ สร้างหลังพิง​ ฟื้นวิกฤต"

หากเอาจีดีพี​ เป็นตัวตั้งจะพบว่าปี​ 2563 เศรษฐกิจไทยจะติดลบไปถึงร้อยละ​ 8​เปอร์เซ็นต์จากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค​โควิด​ 19​ 

ตอนนี้หลายฝ่ายกำลังพูดถึงทิศทางการฟื้นฟู​ ซึ่งครั้งนี้ต่างจากวิกฤต​ครั้งก่อนที่มีความซับซ้อน โครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังโควิด19​ ยังคงเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ และการฟื้นฟูที่แท้จริง​ 


วิกฤตเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินเป็นหลัก​ แต่ว่าวิกฤติครั้งนี้ส่งผลต่อภาคการผลิต​ ทำให้มีกลุ่มแรงงานถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก

เมื่อต้องถูกเลิกจ้าง แรงงานจำนวนไม่น้อยก็ต้องหันหลังกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด​

อย่างที่ชุมชนตำบลคลองหินปูน​ อำเภอวังน้ำเย็น​ จังหวัดสระแก้ว ลูกหลานของชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่เดินทางไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเกิดโควิด​ ลูกหลานของชุมชนแห่งนี้ร้อยละ 20 ตกงาน​ และกลับมาอยู่ที่บ้าน 

นี่อาจไม่ใช่วิกฤตครั้งแรกและครั้งสุดท้าย​ ชุมชนแห่งนี้จะสามารถเป็นหลังพิงให้กับลูกหลานได้อย่างไร และมีข้อท้าทายอะไรบ้างที่ท้องถิ่นต้องจัดการ


📌 ความท้าทาย​ "ท้องถิ่น" หลังพิงวิกฤตโควิด​ 

6 เดือนแล้วที่ชายหนุ่มวัย 30 ปีคนนี้​ ต้องหลุดออกจากการเป็นแรงงานในระบบภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่ง หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ซบเซามาก่อนหน้านี้​ และถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด​ 19

ปัญญาพล​ คังคา​ เลือกที่จะกลับบ้านเกิด​ ที่อยู่ในต.คลองหินปู​ อ.วังน้ำ​เย็น​ จ.สระแก้ว​ พร้อมกับภาระ คือรถยนต์ที่ยังต้องผ่อน 

การปลูกผักชีใบเลื่อยและผักตั้งโอ๋บนพื้นที่ 1 ไร่กว่าของแม่​ เป็นทางเดียวที่สร้างรายได้​ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงปากท้อง​​ และชำระหนี้สินอีกจำนวนมาก​

นี่คือสภาพบ้าน​ของ​ปัญญาพล​ ที่ผุพัง​ / บ้านหลังนี้อาศัยอยู่กันถึง 6 คน ถ้าเลือกได้เขาอยากกลับไปทำงานที่โรงงาน​ ซึ่งได้เงินเดือนประจำเพราะการทำเกษตรที่ผ่านมาได้สร้างปัญหาหนี้สินให้กับครอบครัว​ เพราะขาดทุนต่อเนื่อง​ แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าอายุเกินกว่าที่โรงงานไหนจะเข้ารับทำงาน​ ด้วยวุฒิ​เพียงม.3​ การเป็นเกษตรกร​อาจเป็นอาชีพถาวรของเขาหลังจากนี้​ 

ทีมข่าวไทยพีบีเอส​ ลงพื้นที่พร้อมกับ ประธาน สภาองค์กรชุมชน ต.คลองหินปูน สำรวจผลกระทบคนตกงานในชุมชน​ เพื่อรวบรวม​ข้อมูล​ และให้ความช่วยเหลือ​อย่างตรงจุด​ เบื้องต้น​กรณี​ นายปัญญา​พล​ จะเร่งนำเข้าโครงการบ้านมั่นคงเพื่อพัฒนา​ที่อยู่อาศัยให้​ 6​ ชีวิต​ มีความเป็นอยู่ดีขึ้น​ พร้อมกับพัฒนาทักษะ​ด้านการเกษตร​ ซึ่งจะนำไปรวมกลุ่มกับผู้ที่มีปัญหาเดียวกันในตำบล เพื่อจัดอบรมให้รู้​ และติดตามผลในระยะยาว

ขณะเดียวกัน​ หน่วยงานท้องถิ่น​ สังกัดกระทรวง​มหาดไทย​ ได้มีโครงการ​จ้างแรงงานตกงานกลุ่มนี้​ พัฒนาชุมชน​โดยจ่ายค่าแรง 300​ บาทต่อวัน​ เพื่อเป็นรายได้ประคับประคองไปในยามวิกฤต​  

📌 บทเรียนโควิด ถอดรื้อแนวคิด​ ทิศทางการพัฒ​นา

แม้​ท้องถิ่นจะเป็นหลังพิงยามวิกฤตให้กับลูกหลานที่เดินทางกลับมาบ้านเกิด แต่เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมา​ การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ภาคชนบทมากนัก 

หลังพิงในยามวิกฤติครั้งนี้จึงอาจยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์​ เมื่อดูตัวอย่างจากที่จังหวัดสระแก้ว จึงจำเป็นต้องพัฒนาชนบทให้มีความเข้มแข็งมากพอ หลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม​ ท่ามกลางวิกฤติหลายฝ่ายก็พยายามคิดที่จะหาทางออกและมีข้อเสนอ เพื่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน​ หนึ่งในนั้นก็คือ​ "ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย" คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ​ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ได้นำงานวิจัยจาก 10 องค์กรระหว่างประเทศมาประมวลให้เห็นถึงเส้นทางผลกระทบ ของการเกิด covid-19 เพื่อวิเคราะห์ เพื่อมองไปถึงวิธีการฟื้นฟูที่ตรงจุด​

โดยแบ่งเป็น 4 เสาหลัก เสาแรกคือการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย​ และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น​ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐอย่างชาญฉลาด​

เสาหลักที่ 2 คือ​ ช่วยพยุงธุรกิจเพื่อการจ้างงาน เสริมสภาพคล่อง​

เสาหลักที่ 3 มาตรการคุ้มครองทางสังคม​ ของกลุ่มคนเปราะบาง​ คนตกงาน​ แรงงานนอก​ระบบ​ ต้องล็อคเป้าแล้วทำระบบข้อมูลให้ชัดเจน​

 และเสาหลักที่ 4 ทบทวนสมดุลระหว่างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิคุ้มกัน ที่จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพาการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว มีรายได้จากหลายทาง​ มุ่งเน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้กู้เงินมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถึงร้อย 57​ ซึ่งเกือบจะเต็มวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญคือร้อย​ 60 ขณะที่การคาดการณ์ของ GDP ปี​ 2563​ ติดลบไปถึงร้อยละ 8

ดร.สีลา​ภรณ์​ บอกว่า​ โควิด ให้บทเรียนว่า ไม่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ​ไปในแบบล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะในที่สุดหลังพิงในช่วงเวลาวิกฤต​ คือภาคการเกษตร

นี่นับเป็นงานวิจัยที่ถอดรื้อ แนวคิด เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ ไทย ไปอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ยังคงมีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนมีแนวคิดสวนทาง​ และมองว่าเมื่อมีวัคซีน​ เศรษฐกิจที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเพื่อจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม​ ข้อมูลจากงานวิจัยองค์กร​ระหว่างประเทศ​ ถึงทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม​ โดย​ ดร.สีลาภรณ์​ จะถูกนำเสนอส่งต่อไปยัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

แต่ ท่าทีการฟื้นฟูของรัฐบาลภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อ​ ไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ยังคงเน้น​ การลงทุนภาครัฐ​ ซึ่งตอนนี้ถือเป็นเครื่องจักรตัวเดียว​ที่ยังสามารช่วยขับเคลื่อน​ จีดีพี​ นั่นก็หมายความว่า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรม จะตามมาอีกเป็นจำนวนมาก.

ความคิดเห็น