เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "จับสัญญาณ​ มีงานแต่ไร้งาน"

ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้หลายกิจการปิดตัวลง และหลายคนกำลังเสี่ยงที่จะตกงาน สถานการณ์การว่างงานจะรุนแรงหรือไม่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้​ ก็คงขึ้นอยู่กับนโยบายความมั่นคงทางสุขภาพ​ หากยังให้น้ำหนักอย่างเข้มข้นต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวได้ช้าลง ขณะที่ทั่วโลกก็ยังมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง การช่วยเหลือที่ตรงจุดของรัฐบาลควรเป็นอย่างไร

เวลานี้ไปไหนมาไหนก็มักได้ยินว่า ใครมีงานประจำให้กอดงานเอาไว้แน่น​ นี่คงจะสะท้อนความกังวลของสังคมในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี​ เพราะงานทุกวันนี้หายากเหลือเกิน แต่ในทางกลับกันคนที่มีงานประจำอยู่แล้วก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยงตกงาน​ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั่วโลก ยังคงต้องระมัดระวังการเปิดน่านฟ้า ฉุดให้เศรษฐกิจซบเซา​ ไปแบบยาวๆ 


ที่บอกว่าไม่ฟื้นตัว​ ก็เพราะว่าหากเราไปย้อนดูตัวเลข 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน หลังจากเริ่มมีการระบาดของโควิด 19 พบว่ามีผู้ว่างงาน เพิ่มขึ้น 7.4 แสนคน​ ประเด็นที่ทีดีอาร์ไอ​ เป็นห่วง​ ก็คือ ผู้ที่มีงานประจำแต่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เสี่ยงตกงานมากที่สุดมีจำนวนมากถึง 2.5 ล้านคนเมื่อรวมกับผู้ว่างงานจริง 7.4 แสนคน​ จะรวมเป็น 3.26​ ล้านคนที่อยู่ในข่ายว่างงานที่สุดในไตรมาสสุดท้ายของปี คิดเป็นร้อยละ 8.5% ของแรงของกำลังแรงงานทั้งหมด 37 ล้านคน ซึ่งตัวเลขวิกฤตนี้สูงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยํากุ้งปี 2540 ด้วยซ้ำไป

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ผู้ที่มีงานประจำแล้วไม่ได้ทำงานคือใคร​ ไปติดตามจากรายงาน

📌 พนักงานบริการเสี่ยงตกงานมากสุด

เมืองพัทยาวันนี้ ไม่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนเคย​ ​ร้านค้าริมถนนหน้าชายหาด ทยอยปิดตัวลง​ แม้รัฐบาลประกาศผ่อนปรนการดำเนินธุรกิจ แต่สัญญาณของการฟื้นตัวก็ยังไม่กลับคืนมา

เหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพนักงานภาคบริการจำนวนมาก ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยว 

ธนายุทธ​ บัวลอย​ เป็นพนักงานเสริฟโรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา เป็นเวลา 6 เดือนแล้วที่เขารับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียวซึ่งยอมรับว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับทั้งค่างวดผ่อนรถ​ และค่าเช่าบ้าน

สิ่งที่เขาต้องการ คือยอมให้นายจ้าง​ จ้างออกโดยจ่ายชดเชยตามกฎหมาย​ เพื่อขอรับเงินก้อนไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ 

แต่นายจ้างไม่ยอมจ้างออก ยังคงจ่ายเงินเดือนเพียงเดียวบีบให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจเพราะไม่ต้องการจ่ายชดเชย

ทุกวันนี้​ ธนายุทธ​ หารายได้เสริมโดยการขับ Grab Bike พร้อมทนอยู่ไปด้วยความหวังว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น​ และยังอยากอยู่ในเมืองพัทยาต่อไป หากต้องออกจากงานเขาพร้อมที่จะเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเป็นครั้งๆ​ เพราะยังเห็นโอกาสมากกว่าการกลับบ้าน ซึ่งไม่มีทักษะของการเป็นเกษตรกร

นอกจาก​ ธนายุทธ​ ยังมีพนักงานคนอื่นๆที่อยู่ในโรงแรมเดียวกัน​ ที่เผชิญปัญหาเหมือนกัน ยื่นเรื่องฟ้องร้อง ต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน​ ซึ่งจนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า

พนักงานโรงแรมทั้งสองคน บอกว่า พร้อมรับความเสี่ยงที่จะตกงาน​ ขอเพียงแต่ได้เงินชดเชยตามกฎหมาย​ เพื่อนำไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอาชีพใหม่​ และขอความเป็นธรรมจากนาย​จ้าง ไม่เอาเปรียบพนักงานด้วยการบีบให้ลาออกเอง​ ซึ่งจะทำให้เสียผลประโยชน์​หลายอย่าง​จากรัฐ​ ในโครงการช่วยเหลือเยียวยา​ต่างๆด้วย​ 

📌 การจัดงาน​ Job​ Expo  ช่วยได้แค่ไหน? 

การจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ซึ่งมีตำแหน่งงานรองรับมากมากถึง 1 ล้านอัตรา กระทรวงแรงงานหวังว่าจะช่วยดูดซับคนตกงาน โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ มาดูกันว่า 1 อัตรามีอะไรบ้าง

- ตำแหน่งว่างงานของกรมจัดหางาน 106,312 อัตรา
- ตำแหน่งงานต่างประเทศ 112,242 อัตรา
- ตำแหน่งงานพาร์ตไทม์ 66,881 อัตรา 
- การจ้างงานโดยภาครัฐ 410,415 อัตรา 
- การจ้างงานตามมาตรการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ 260,000 อัตรา 
- ตำแหน่งงานที่คาดว่าจะจ้างแรงงานไทยแทนแรงงานต่างด้าว 44,150 อัตรา 

ถ้าดูจากตำแหน่งงานของ Job Expo ก็น่าเป็นห่วงว่าจะไม่ตรงกับทักษะ ของพนักงานในภาคบริการ 19 ล้านคน ที่มีจำนวนตำแหน่งงานลดลงในช่วง 2 ไตรมาสแรกถึง 3 แสน 4 หมื่น และเข้าข่ายเสี่ยงตกมากที่สุด 

ดร. ยงยุทธ​ แฉล้มวงษ์​ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย​ หรือ​ ทีดีอาร์ไอ​ บอกว่า​ เมื่อประเมินความเป็นไปได้หากมีแรงงานหลุดออกมานอกระบบในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจาก covid-19 จะมีทางเลือก 2 ทางคือ 1 กลับไปสู่ภาคการเกษตรและการแปรรูปอาหารและ 2 เป็น Freelance รับจ้างพาร์ทไทม์

ดังนั้นในส่วนของภาคการเกษตรที่จะมีคนว่างงานเปลี่ยนไปทำอาชีพนี้มากขึ้น รัฐบาลจะต้องให้ความรู้ และส่งเสริมด้านการตลาด การแปรรูปอาหาร หาตลาดส่งออก และผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น 

ขณะเดียวกันแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต จะไม่มีพนักงานประจำ แต่จะเป็นลักษณะการจ้างงานเป็นครั้ง เช่นฟรีแลนซ์ หรือ พาร์ทไทม์ ซึ่งนับเป็นแรงงานนอกระบบ ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างจริงจัง จึงมีข้อเสนอให้กระทรวงแรงงานเร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบเพื่อรองรับแรงงานคนตกงานจากงานประจำด้วย 

ดร.ยงยุทธ​ บอกด้วยว่า​ จริงๆแล้ววิกฤต​ว่างงานจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว​ จากสถานการณ์​เทคโนโลยีปั่นป่วน​ หรือดิสรับชั่น แต่ที่รุนแรงและหนักหน่วงเช่นทุกวันนี้ก็เพราะว่าซ้ำเติมจากการระบาดของ covid 19 

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า​ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาการจ้างงานได้​ ก็จะส่งผลกระทบไปถึงภาวะหนี้ครัวเรือน​ และกำลังซื้อของประชาชนผูกพันไปถึงระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ

รัฐบาลอาจต้องเริ่มทบทวนว่า หากแนวโน้มในอนาคตที่จะมาแรงงานกลับไปสู่ภาคการเกษตร และแปรรูปอาหารมากขึ้น และมีแรงงานบางส่วนไปเป็น Freelance รับจ้างพาร์ทไทม์มากขึ้น จะมีมาตรการรองรับและส่งเสริมกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร.

ความคิดเห็น