เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว​ ตอน​ "ส่องแนวรับ​ โควิดเพื่อนบ้าน"

หลังจากที่ไทยปลอดการติดเชื้อโควิดภายในประเทศครบ 100 วัน​ ก็มีเคสผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศเกิดขึ้นทันที จนถึงวันนี้ก็นับได้ 2​ กรณีคนไทย​ และ​ 2​ กรณีชาวต่างชาติที่ติดเชื้อไปจากไทย​ แม้ว่าตัวเลขยังไม่พุ่งสูง​ แต่ก็เป็นสิ่งที่กรมควบคุมโรคต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด​ เพราะนั่นหมายความว่ามีผู้ติดเชื้อ ที่ไม่ได้รับการรายงาน​ หลงเหลืออยู่


ขณะเดียวกันความเสี่ยงล่าสุดที่ต้องเผชิญคือจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง​ โดยเฉพาะที่ประเทศเมียนมา​ มีไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน​ ประเมินแล้วก็เป็นไปได้ ที่โรคอาจแพร่ระบาดมายังประเทศไทยทางชายแดนอีกช่องทางหนึ่ง

#วชิรวิทย์​รายวัน​ ได้ลงพื้น​ อ.แม่สอด​ จ.ตาก​ เพื่อไปดูการเตรียมความพร้อมรับมือการสกัดโควิด​ 19​ บริเวณชายแดน​ บอกว่า​ แม้จะมีการตรึงกำลังทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร​ และชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน​ หรือ ชรบ.​ แต่ก็ไม่มีใครกล้าการันตีว่าจะป้องกันแรงงานเมียนมาลักลอบเข้ามายังชายแดนไทยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์​ แต่ทุกคนก็ทำเต็มที่แล้ว​ ดูจากสถิติการจับกุมในช่วงเดือนที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มลดลง

"ที่บอกว่าต้องตรึงกำลังกันอย่างเข้มข้น​ เพราะไทยกับเมียนมา​ มีแนวชายแดนทางบกที่ติดกันกว่า 2,400 กิโลเมตร มีจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่อนปรน และจุดผ่านแดนชั่วคราวรวมแล้วอย่างน้อย 20 แห่ง ใน 7 จังหวัด" 

แต่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำคือ จังหวัด​ตาก เนื่องจากเป็นจุดที่แรงงานจากเมียนมาเข้าออกมากที่สุด​ ในสถานการณ์ปกติแรงงานเมียนมาใช้ช่องทางนี้ข้ามมายังฝั่งไทยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อปี ประกอบกับจังหวัด​ตาก มีแนวชายแดนที่ติดกับฝั่งเมียนมายาวกว่า 540 กิโลเมตร​ นับว่า มีพื้นที่ติดกับเมียนมามากกว่าจังหวัดอื่น

เข้มลาดตระเวน​แนวชายแดน​ แต่สกัดเมียนมา​ ไม่​ 100%

#วชิรวิทย์รายวัน​ พาลงพื้นที่ไปดู จุดหนึ่งที่มีความเสี่ยงที่จะมีการนำแรงงานลักลอบเข้ามา​ จุดนี้อยู่บริเวณตำบลท่าสายลวด​ อำเภอแม่สอด​ จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ชายแดนที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นราบไม่มีภูเขาหรือแม่น้ำกั้น​ บริเวณ​ที่เห็นอยู่นี้โดยปกติก่อนจะเกิดโควิด​ ก็เป็นจุดที่เจ้าหน้าที่​ จับกุมการลักลอบขนยาเสพติดอยู่แล้ว จึงได้เห็นการตรึงกำลัง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วก็ชุดชรบ. เดินลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง​ แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าพื้นที่ราบเดินสะดวกแบบนี้ตามแนวชายแดนมีถึงกว่าร้อยละ 40

แม้จะมีการปิดด่านพรมแดน​ แต่มาดูสถิติการจับกุม ตาม. พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในรอบ​ 6​ เดือนย้อนหลังในพื้นที่จ.ตาก ตั้งแต่เดือน​ มี.ค.-ส.ค. 2563  ในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองมี 253 คดี  1,454 ราย  แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 1,377 ราย สัญชาติเมียนมา(มุสลิม) 31​ ราย​ สัญชาติจีน 41 ราย​ สัญชาติกัมพูชา​ 3​ ราย​ สัญชาติอินเดีย1ราย​ และสัญชาติสิงค์โปร์​ 1​ ราย​ 

พันตำรวจเอก​ สังคม​ ตัดโส​ ผู้กำกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก​ บอกว่า นอกจากการสกัดบริเวณชายแดนแล้วพื้นที่ชั้นในตำรวจโรงพักก็จะมีการตั้งด่านสกัด ซึ่งหากแรงงานสามารถหลุดเข้าไปใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและเข้าไปในเมืองชั้นในได้อีกต่อไป​ การสกัดก็จะทำได้ยากมากขึ้น​ จึงต้องอาศัยการสุ่มตรวจสถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวว่ามีเอกสารถูกต้องหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสกัดแรงงานเมียนมาตามแนวชายแดน อาจทำไม่ได้ 100% นั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีกทางหนึ่ง เพราะอย่างประเทศเมียนมาการระบาดระลอกนี้​ ก็เริ่มต้นจากบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดียซึ่งตอนนี้มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

คาด​ปลายเดือน​ ก.ย.​ 63​ โควิดเมียนมาประชิดชายแดนไทย​ 

ย้อนไป ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ เมียนมาเริ่มพบผู้ติดเชื้อที่รัฐยะไข่​ หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มมากขึ้นหลักร้อยต่อวัน 

หากนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาคำนวณดูก็จะพบว่า​ ถ้ายังมีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน ซึ่งในความเป็นจริงอาจมีมากกว่านั้นเพราะนี่เป็นเพียงแค่ตัวเลขที่ได้รับการรายงานยืนยัน​ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็คาดการณ์​อีกประมาณ​ 2 สัปดาห์ หรือ ปลายเดือนกันยายนนี้​ การระบาดที่อยู่ทางตอนกลางของเมียนมาจะขยายพื้นที่มาถึงชายแดนไทย

จากแผนที่การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศเมียนมา​ จะเห็นว่าเหลือเพียงรัฐซะไกง์​ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือ​ และรัฐกะยา​ ซึ่งตรงนี้ติดกับจ.แม่ฮ่องสอน​ เท่านั้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

ส่วน สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศเมียนมาล่าสุด​ เม​ื่อวานนี้​ 13​ กันยายน​ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 173 รายทำให้ตอนนี้ที่เมียนมามีผู้ป่วยสะสมกว่า 2,500 ราย 

ความเสี่ยง​ และความพร้อม​ "หมอชายแดน" รับมือโควิด

หากเป็นไปตามการคาดการณ์ ว่าผู้ติดเชื้อโควิดเมียนมา​จะลุกลามมาประชิดชายแดนไทยในช่วงปลายเดือนกันยายน​ ก็หมายความว่าเรามีเวลาในช่วงนี้ที่จะเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆในการที่จะรับมือความเสี่ยง

แต่นอกจากแรงงานที่ลักลอบเข้ามาแล้ว​ โรงพยาบาลที่อยู่ตามแนวชายแดน เป็นสถานที่รักษาตัวของคนไร้สัญชาติจากทั้งฝั่งไทยและเมียนมานานแล้วด้วย​ เพราะฉะนั้นคุณหมอที่นั่นยอมรับว่า​ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาอยู่ในขณะนี้​ แยกไม่ออกเหมือนกันว่า เป็นคนไร้สัญชาติจากฝั่งไทยหรือฝั่งเมียนมา สิ่งนี้เป็นความเสี่ยงอีกส่วนหนึ่งของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

การระดมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว จึงมีบทบาทอย่างมากในการควบคุมโรคที่บริเวณตะเข็บชายแดน​ พวกมีส่วนช่วยได้อย่างไร​ ไปดูกันครับ​ 

ท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำเมย​ ฝั่งไทยเมียนมาร์ของชุมชนกะเหรี่ยง ในต.แม่ต้าน​ อ.ท่าสองยาง​ จ.ตาก เหลือแต่ความว่างเปล่าหลังจากพรมแดนถูกปิดสนิทเมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตามปกติแล้วชาวบ้านแถบนี้ จะข้ามไปมาหาสู่กันเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นบ้าน แต่การระบาดของโควิด 19 ทำให้ทุกอย่างหยุดนิ่ง

อาสาสมัครสาธารณสุข​ ต.แม่ต้าน​ ลงพื้นที่ เคาะประตูบ้านทุกหลังในชุมชนซึ่งอยู่ติดกับแนวชายแดน ตรวจสอบ ค้นหาแรงงานต่างด้าวที่อาจลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยหากพบความผิดปกติหรือคนแปลกหน้าจะประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทันที

ขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงไร้สัญชาติ มีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายอสต.ฝั่งเมียนมา หากต้องการส่งผู้ป่วยหนักเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งปิดรับผู้ป่วยจากฝั่งเมียนมาตั้งแต่โควิดระบาด

ถัดจากแม่น้ำเมย​ ชายแดนไทยเมียนมาร์เข้าไปเพียง 600 เมตร​ เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล โรงพยาบาลท่าสองยาง​ ที่นี่เป็นความหวังของชาวเมียนมาร์ ในการรักษาตัวมาโดยตลอด เพราะการสาธารณสุขในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่พร้อม

ผู้ป่วยร้อยละ 30 จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล​แห่งนี้มากกว่า 1 แสนคนต่อปีเป็นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ​ จากทั้ง​ 2​ ฝั่ง 

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง​ ยอมรับว่า สิ่งนี้ คือความเสี่ยงติดเชื้อของบุคคล​ากรทางการแพทย์​ เพราพแยกคนไข้ไม่ออกว่า มาจากฝั่งไหน

และนี่ก็คือ ห้องเก็บเวชภัณฑ์ เช่น​ ชุดกาวน์​ เฟซชิว หน้ากาก n95 หน้ากากอนามัย ที่เตรียม​ไว้​เพื่อป้องกันการติดเชื้อ​ของบุคลากรทางการแพทย์จากโควิด ร้อยละ 80 เป็นของที่ได้รับมาจากการบริจาค​ ที่เหลืออีกร้อยละ 20 เบิกมาจากส่วนกลาง ซึ่งโรงพยาบาล​ยังคงต้องการเวชภัณฑ์เหล่านี้​ โดยเฉพาะชุด​ PPE​ เพื่อรับมือหากเกิดการระบาดตามแนวชายแดน

ปัญหาโรงพยาบาล​ชายแดน​ ขาดแคลนทรัพยากรเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว​ และเมื่อเกิดการระบาดของโควิดตามแนวชายแดน​ #วชิรวิทย์รายวัน​ จึงสอบถามเรื่องนี้กับสาธารณสุขจังหวัดตาก ได้รับคำตอบว่าได้สำรวจอุปกรณ์ในการป้องกันโรคจากทุกโรงพยาบาลในสังกัดเป็นที่เรียบร้อย​ ไม่ว่า​จะเป็นชุดกราวน์หน้ากาก n95 เฟสชิว surgical Mask หรือแม้กระทั่งชุด ppe พบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวนั้นมีเพียงพอใช้ประมาณ 1 ถึง 3 เดือน​ เพื่อเตรียมไว้ใช้หากพบผู้ติดเชื้อ​ และก็ทำการขออุปกรณ์ป้องกันจากส่วนกลางสำรองไว้เพิ่มเติมหากเกิดการระบาดในพื้นที่​

 ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรคก็ได้ส่งรถตรวจเชื้อ​ชีวนิรภัยพระราชทาน​ ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกในชุมชนที่มีแรงงานเมียนมาอาศัยอยู่หนาแน่นด้วย​ ซึ่งตั้งเป้าให้ได้ 10,000 คน

ก็นับได้ว่าในพื้นที่ชายแดน​ มีการเตรียมความพร้อมทั้งในแง่ของการสกัดไม่ให้มีแรงงานเมียนมาลักลอบเข้ามา​ ขณะเดียวกันด้านสาธารณสุขกรณี​ ก็เตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเอาไว้รองรับหากเกิดการระบาดที่บริเวณชายแดน​ หลังจากนี้คงต้องติดตามดูว่าในช่วงปลายเดือนกันยายนผู้ติดเชื้อจากเมียนมาจะมาประชิดถึงชายแดนไทยหรือไม่

ความคิดเห็น