เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "ติวเข้มจังหวัดเสี่ยง รับมือระบาดซ้ำ"
"การระบาดรอบ 2 ของโควิด 19 ในหลายประเทศและการผ่อนปรนมาตรการต่างๆของไทยที่มีมากขึ้นเพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสำนักฟันธงว่าไทยจะต้องเจอการระบาดรอบ 2 อย่างแน่นอน บางคนก็บอกว่าจะรุนแรงกว่ารอบที่ 1 แต่คำถามสำคัญก็คือในการระบาดรอบ 2 นี้จำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ที่ประเทศไทยจะสามารถรับมือได้ "
แม้จะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันหลายเดือนแล้ว แต่ว่ากระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมมาตรการป้องกันควบคุมและรักษาโรคไว้อย่างรัดกุมเพื่อรับมือกับการระบาดรอบ 2 ที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว
ยกตัวอย่างเช่นประเทศเวียดนามที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อติดต่อกัน 90 วัน ที่สุดแล้วก็กลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งก็ยังหาต้นตอการระบาดไม่ได้ และเชื่อว่าต้องมีผู้ติดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ในประเทศหรือมีการนำเชื้อเข้ามาจากต่างประเทศ
ส่วนสถานการณ์ในไทยเองก็มีเรื่องให้ต้องลุ้นอยู่เรื่อย ไม่ว่าจะเป็นกรณีชายชาวญี่ปุ่นที่เดินทางกลับจากไทยแล้วสงสัยว่าจะติดโควิด แต่ปรากฏว่าผลตรวจออกมาเป็นลบ และกับกรณีล่าสุดคือชายชาวมาเลเซียที่ติดเชื้อโควิดหลังจากกลับไทย ที่ยังคงสอบสวนโรคเพิ่มเติม และทีมสอบสวนโรคก็เร่งติดตามหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อมาตรวจสอบ
ต่างๆเหล่านี้สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดรอบ 2 ได้ในประเทศไทย
กระทรวงกลาโหมได้เชิญ 11 จังหวัดที่เสี่ยงเกิดการระบาดรอบ 2 มาซ้อมแผนเผชิญเหตุได้แก่ จังหวัด กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร ชลบุรี เชียงใหม่ ตาก สระแก้ว ระนอง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต
ซึ่งล้วนเป็นหัวเมืองใหญ่ ศูนย์กลางการเดินทาง บางแห่งที่มีท่าอากาศยานนานาชาติอยู่ในพื้นที่ เป็นเมืองท่องเที่ยว และอยู่ติดกับพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน
จากการซ้อมเมื่อวานนี้พบว่าการเพิ่มจำนวนทีมสืบสวนโรค และการประเมินทรัพยากรด้านสาธารณสุข เป็นเรื่องหลักในการรับมือ
11 จว.ซ้อมรับมือระบาดรอบ 2
เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งด่วนว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อรายหนึ่งปะปนอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่กำลังจัดโปรโมชั่นและมีผู้คนหนาแน่น บริเวณนั้นกำลังจะเป็น พื้นที่เสี่ยงการระบาดรอบ 2 นี่คือโจทย์สมมุติของการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ เบื้องต้น
กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดเสี่ยงระบาดเข้าร่วมการฝึกซ้อมดังกล่าว ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย แก้โจทย์ด้วยการสั่งทีมสอบสวนโรค ลงพื้นที่หาผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ทันที เพื่อกักตัวดูอาการ 14 วัน
โจทย์ต่อมาในพื้นที่มี มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้น มีการทดลองจัดสรรทรัพยากรในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค แบ่งมอบหน้าที่ตามความรับผิดชอบ และการร้องขอสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มเติม
ปัจจุบันกรุงเทพฯมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด มากกว่า 1,100 เตียง สามารถรับผู้ติดเชื้อได้เต็มที่ 50 -100 คน เพื่อไม่ให้เกินตัวเลขนี้ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เตรียมทีมสอบสวนโรค 71 ทีม หากมีผู้ติดเชื้อ 1 คนจะต้องควานหาผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อให้ได้อย่างน้อยที่สุด 30 คน เพื่อ ควบคุมไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเกินกว่าที่จะรองรับได้
สำหรับจังหวัดเสี่ยงอื่นๆ ได้นำแนวคิดของกรุงเทพมหานครเรื่องการเตรียมทีมสืบสวนโรค ในระหว่างที่การระบาดรอบ 2 ยังมาไม่ถึงไว้ในจำนวนที่มากพอ ที่จะหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และสกัดเชื้อไม่ให้ลุกลามไป เกินจำนวนที่จะรับมือได้
จำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ที่ สธ.ไทย รับได้
ในเวที Visual policy Forum เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของโควิด ที่ Thai PBS จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จะรับได้ที่ ผู้บริหารระดับสูงในวงการสาธารณสุขประเมินออกมา อย่าง ศ.นพ. อุดม คชินทร ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ก็ให้จำนวนผู้ติดเชื้อที่จะสามารถรับได้อยู่ที่ 50-150 คน/วัน ทั่วประเทศ ขณะที่ อธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่าประเมินจากเตียงที่มีมากกว่า 20,000 เตียงและยาฟาวิพิราเวียที่สำรองไว้เกือบจะ 1 แสนเม็ด จึงมีเพดานที่จะรองรับผู้ติดเชื้อได้ถึง 500 คน
ทีมข่าวไทยพีบีเอสนำข้อมูลนี้ไปสอบถามกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นฝ่ายนโยบายว่าตั้งเป้าตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จะรับได้ไว้เท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขตรงนี้สำคัญเพราะว่าจะเป็นตัวกำหนดนโยบายในการผ่อนปรนต่างๆ ถ้ารวมถึงมาตรการรับมือสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่าหลังจากนี้จะไม่มีการล็อกดาวน์แบบเหมาเข่งทั้งประเทศเหมือนที่ผ่านมา แต่ว่าการระบาดรอบ 2 จะปิดเฉพาะบางจุดบางจังหวัดที่เกิดการระบาด
นั่นหมายความว่าจำนวนผู้ติดเชื้อก็จะถูกคำนวณแตกไปตามแต่ละพื้นที่ด้วยสูตร คำนวณง่ายๆแบบนี้
ในแต่ละจังหวัดจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้จำนวน 5 คนต่อประชากร 1 ล้านคนต่อวันหากกรุงเทพฯมีประชากรราว 10 ล้านคน ก็จะสามารถรับผู้ติดเชื้อได้ 50 คนต่อวัน ขณะที่จังหวัดชลบุรีซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะบาดรอบ 2 เหมือนกันมีประชากรราว 1 ล้าน 5 แสนคนก็จะรองรับผู้ติดเชื้อได้ 5 คนต่อวัน
การคำนวณแบบนี้ก็จะประเมินไปถึงความพร้อมของทรัพยากรในแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อที่กล่าวมานั้นจะมีเพียงร้อยละ 5 ที่เป็นผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทางในการดูแล
อย่างไรก็ตามการป้องกันระดับบุคคลยังเป็นมาตรการสำคัญซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่า ผลสำรวจล่าสุดพบว่าพฤติกรรมป้องกันโรคของคนไทยเริ่มลดลงจากร้อยละ 90เหลืออยู่เพียงร้อยละ 79 ซึ่งตรงนี้มีส่วนสำคัญที่จะกำหนดจำนวนผู้ติดเชื้อ ว่าจะมากหรือน้อยด้วย.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น