เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ซีรี่ย์เกาหลีดัง สู่คลาสกิจกรรม​บำบัด​ ปลุกตัวเองตื่นจากฝันร้าย!

มองซีรี่ย์​เกาหลี it's​ okay​ to​ not​ be​ okay​ ผ่านมุมนักกิจกรรมบำบัด เป้าหมายคือทำอย่างไรให้ชีวิตที่ตื่นจากฝันร้ายเดินหน้าต่อไปได้​ 

แม้เมืองไทยจะไม่มี​มุนคังแท ผู้ดูแลแผนกจิตเวชสุด​หล่อ​ แต่เรามีอาจารย์คณะกายภาพบำบัด​ ที่ศึกษาเรื่องจิตสังคมมากว่า 20 ปี​ จะมาชวนคุยถึงวิธีการ บำบัดอาการที่เกิดจากบาดแผลทางจิตใจ

วันนี้หนุ่มน้อยตื่นเพราะฝันร้ายที่น่าหวาดกลัวเช่นเคย เพราะความทรงจำในอดีตที่อยากลืมมันหลอกหลอนในฝันทุกคืน​ หนุ่มน้อยเลยต้องทุกข์ทรมานไม่สิ้นสุด​ หนุ่มน้อยกลัวการนอนหลับเป็นอย่างยิ่ง วันหนึ่งเขาจึงไปหาแม่มดแล้วขอพร

"ท่านแม่มดได้โปรดเถอะเพื่อไม่ให้ผมฝันร้ายอีก​ ช่วยลบความทรงจำเลวร้ายทั้งหมดในหัวผมที​ แล้วผมจะมอบทุกอย่างที่ท่านต้องการให้" 

วันเวลาผ่านไปหนุ่มน้อยโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ฝันร้ายอีกต่อไปแล้วแต่​ ไม่รู้ด้วยเหตุใดเขาไม่มีความสุขเลยสักนิด

คืนที่จันทร์เต็มดวงสีเลือดลอยเด่น​ แม่มดปรากฏตัวอีกครั้ง​เพื่อรับสิ่งตอบแทนจากพรที่ให้ไป​ เขาตะโกนใส่แม่มดด้วยเสียงของผู้ใหญ่ที่คับแค้นใจ

"ลบความทรงจำเลวร้ายของผมไปหมดแล้วแต่ทำไมผมยังไม่มีความสุขอีก" 

จากนั้นแม่มดก็เอาวิญญาณของเขาไปตามสัญญาแล้วพูดแบบนี้

"ความทรงจำที่เจ็บปวดและทุกข์ทรมาน​ ความทรงจำที่เสียใจอย่างสุดซึ้ง​ ความทรงจำที่ทำให้คนอื่นและตัวเองเจ็บปวด​ ความทรงจำของการถูกทอดทิ้ง​ มีแค่คนที่เก็บความทรงจำเหล่านั้นไว้ในใจและใช้ชีวิตต่อไป​ ที่จะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น​ มุ่งมั่นมากขึ้น​ และสุขุมกว่าเดิม​ ความสุขน่ะ​มีแต่คนเหล่านั้นที่ได้มันไปครอง​ เพราะงั้นอย่าลืม​ อย่าลืมแล้วผ่านมันไปให้ได้​ ถ้าผ่านมันไปไม่ได้เธอก็จะเป็นแค่เด็กน้อยที่วิญญาณไม่เติบโต"

เนื้อเรื่องจากนิทาน หนุ่มน้อยผู้โตมาด้วยฝันร้าย ในซีรีย์เกาหลียอดฮิต it's​ okay​ to​ not​ be​ okay​ เรื่องหัวใจไม่ไหวอย่าฝืน​ กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ ไม่แปลกใจเลยที่ทำไมคนพูดถึง เพราะนิทานที่ดูไร้เดียงสา ถูกเปลี่ยนเป็นด้านมืด​ สวนทางกับนิทานวัยใสอย่างที่เราคุ้นเคย แต่กลับเป็นเรื่องจริงในชีวิตที่ทุกคนต้องเผชิญ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงความทรงจำในอดีตอันเลวร้าย​ จะมีมากหรือมีน้อย​ จะเผชิญรุนแรงหรือไม่ก็ต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่จำนวนไม่น้อยในสังคมเกาหลีพบเจอกับความรุนแรงเช่นนี้ จนทำให้มีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างกว้างขวาง​

มองย้อนกลับมาในประเทศไทย​ เราพูดถึงเรื่องนี้กันน้อยเกินไป ภาวะทางสุขภาพจิตที่ยังไม่ถือเป็นโรคหลายคนมองว่ายังไม่ต้องได้รับการบำบัดรักษา​ แต่ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และรักษาบำบัดอย่างจริงจัง​ โดยประเทศไทยมีนักกิจกรรมบำบัดอยู่เพียง 50 คนขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีมากถึง 8​ หมื่นคน


📌 มองพฤติกรรมตัวละคร สะท้อนความจริง ของภาวะ PTSD

ตัวละครที่ชื่อว่า​ "โกมุนยอง" เป็นนางเอกของเรื่อง มีบุคลิกที่แปลกแตกต่างจากคนทั่วไป อารมณ์ฉุนเฉียวเอาแต่ใจ และมักคิดในเชิงลบ​ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ทรมานจิตใจตัวเองด้วยการมีภาพหลอนซ้ำ แต่ก็พยายามกลบเกลื่อนตัวเองด้วยการแต่งตัวสวยงาม 

ถ้าจะมีใครสักคนที่เข้าใจพฤติกรรมแปลกๆ​ ของนางเอก​ ก็คือพระเอกของเรื่อง​ "มุนคังแท" เป็นผู้ดูแลในโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งจริงๆแล้วภูมิหลังของพระเอก และพฤติกรรมของพระเอกบางอย่างก็มีปัญหาทางสุขภาพจิต ไม่ต่างจากนางเอกเหมือนกัน ทั้งคู่จึงมาเติมเต็มและแก้ปัญหาทางใจให้แก่กันและกันได้

ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ทั้งพระเอกและนางเอกของซีรีย์เรื่องนี้กำลังเผชิญ​อยู่เรียกว่าภาวะ PTSD หรือ​โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การก่อการร้าย สงคราม การถูกข่มขืน ประสบภัยพิบัติ ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง หรือเป็นผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ทางอ้อม​ ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะ PTSD จะมีอาการที่เรียกว่า Trauma (ทรอม่า) คืออาการที่เกิดจากบาดแผลทางใจ


📌สำรวจตนเอง มีอาการโทรมาอยู่หรือไม่​ ? 

ผศ.ดร.ก.บ.​ศุภลักษณ์​ เข็มทอง​ อาจารย์นักกิจกรรมบำบัด​ คณะกายภาพบำบัด​ มหาวิทยาลัยมหิดล​ ซึ่งศึกษาเรื่องจิตสังคม ใช้กิจกรรมในการบำบัด ปัญหาบาดแผลทางใจและเสริมสร้างสุขภาพจิตมาตั้งแต่ปี 2535 บอกว่า​ คนเราสามารถสะสมปมและความทรงจำอันเลวร้ายไว้ภายในจิตใจตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ซึ่งการสอบสวนโรคหรือการหาสาเหตุนั้นจะยิ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย เพราะเป็นการตอกย้ำ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือตั้งสติแล้วเดินไปข้างหน้า

อาการทรอม่า​ หลักๆจะประกอบไปด้วยการมีภาพหลอนซ้ำ​ นอนไม่หลับฝันร้าย คิดแต่เรื่องเดิมๆในอดีตวนไปวนมา กลัวการเข้าสังคม​ ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า​ ต้องการพื้นที่ปลอดภัย มีบุคลิกที่เก็บซ่อนไว้​ อาจไปชดเชยในทางอื่น​ เช่นบางคนที่มีอาการทรอม่าก็จะเขียนหนังสือและแต่งนิยายได้เป็นเล่มๆ

ผู้ที่มีอาการทรอม่า​ มักไม่รู้ว่าตัวเองป่วยหรือมีภาวะป่วย​ และ​ต่อให้รู้ว่าป่วย​ การระบุว่าเป็นผู้ป่วย​ กลุ่มคนเหล่านี้ก็มักจะปฏิเสธการรักษา หากไม่ได้รับการเยียวยาบำบัดจะส่งผลกระทบ ให้อาการหนักมากขึ้น กลายเป็นคนที่มีอารมณ์ตึงเครียดตลอดเวลา มีภาวะซึมเศร้าจนถึงโรคซึมเศร้า และร้ายแรงที่สุดคือสมองเสื่อม

📌วิธีเยียวยาและบำบัด​ อาการที่เกิดจากบาดแผลทางใจ​ ทำอย่างไร? 

นอกจากการใช้ยาบางตัวในการรักษาแล้ว​ กิจกรรมบำบัดถือว่ามีส่วนอย่างมาก​ สำหรับผู้ป่วยบางราย​ การทำกิจกรรมบำบัดอาจต้องวิเคราะห์จากการตรวจคลื่นสมองและสแกนสมอง 

สมองที่ถูกวิเคราะห์ออกมาในรูป 3 มิติจะเห็นสีที่ชัดเจน ของสมองซีกซ้าย​ ซีกขวา​ หน้าและหลัง​ ซึ่งแต่ละส่วนจะทำหน้าที่บ่งบอกต่างกัน

ยกตัวอย่าง​ เช่น​ หากสมองซีกซ้ายมีสีเข้ม นั่นหมายความว่าถูกใช้งานเยอะ​ ซึ่งสมองซีกซ้ายเป็นสมองของการใช้เหตุและผลในการคิด วิธีการบำบัด ก็ต้องมองไปในแง่ดีว่าสมองซีกขวา ยังถูกใช้งานน้อยเพราะมีสีอ่อน กิจกรรมที่จะบำบัดก็จะมุ่งเน้นไปในเชิงศิลปะ​ การร้องเพลง เป็นต้น​ เป็นการนำเทคนิคการแพทย์เข้ามาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมบำบัด

แต่ไม่มีการบำบัดใดที่ดีไปกว่าการฟังอย่างเข้าใจ ถ้าผู้ที่มีอาการทรอม่าได้ระบายออกมา ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจได้ และแน่นอนมีท่าบริหารบางท่าที่ปรากฏในซีรีย์ชุดนี้​ หนึ่งในนั้นคือท่า​ "โอบกอดผีเสื้อ" 

อันที่จริงท่าโอบกอดผีเสื้อ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การกอดตัวเองไว้แบบในซี​รี่ย์​อย่างเดียว​ แต่นักกิจกรรมบำบัดสาธิตให้ดูว่า​ มีการเอานิ้วโป้งซ้ายและขวาประสานกันเหมือนผีเสื้อ และใช้ฝ่ามือตบไปที่หน้าอกเบาๆซ้ายและขวาสลับกันเบาๆพร้อมกับหายใจเข้าออกช้าๆ​ เหมือนเป็นการเรียกสติให้กลับมา

อีกหนึ่งท่าที่นักกิจกรรมบำบัดสาธิต คือการพนมมือหายใจเข้า และหายใจออกเอามือประสานกัน ทำแบบนี้สลับกัน 3 ครั้ง​ พร้อมกับพูดข้อความบวกกับตัวเอง​ เช่น​ "ฉันไม่กลัว" "ฉันทำได้" "มันผ่านมาแล้ว" 

หรือจะเป็นการกอดจากอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่เคาะและไม่ลูบ​ กอดเฉยๆเป็นเวลา 20 วินาที ก็จะช่วยได้​ การกอดนี้ช่วยได้มาก 

สำหรับผู้ป่วยที่ถลำลึกไปสู่ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า​ กิจกรรมบำบัดที่จำเป็นต้องทำคือ​ การกอดวันละ 12-15 ครั้ง ครั้งละ 20 วินาทีต่อวัน​ ทำติดต่อกัน 21 วัน จะช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้

แต่ถึงอย่างนั้น​ อาจารย์นักกิจกรรมบำบัดที่ทำเรื่องจิตสังคมมาหลายสิบปียอมรับว่า ผู้ที่มีอาการซึมเศร้า​ หรือทรอม่า ไม่มีการรักษาใดที่ทำให้หายขาด หายขาดในที่นี้คือลืมจากความทรงจำเดิมๆ​ เพียงแต่ทำให้อาการเจ็บปวดทางจิตใจบรรเทาลงไป​ ด้วยการตั้งสติ​ รู้ตัว​ ไม่ฟุ้งซ่าน​ 

ผศ.ศุภลักษณ์​ บอกว่าเป้าหมายของกิจกรรมบำบัด​ คือ​ "ทำให้เขาไปข้างหน้าได้" มันก็เหมือนอย่างเนื้อหาในนิทานที่โกมุนยองว่าไว้​ 

"มีแค่คนที่เก็บความทรงจำเหล่านั้นไว้ในใจและใช้ชีวิตต่อไป​ ความสุขน่ะมีแต่คนเหล่านั้นที่ได้มันไปครอง​ เพราะงั้นอย่าลืม​ อย่าลืมแล้วผ่านมันไปให้ได้"


ความคิดเห็น