เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "วัยต่างเห็นต่างไม่ขัดแย้ง"
ช่วงนี้สถานการณ์ทางการเมืองร้อนแรงไม่เว้นวันจากกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาที่รวมตัวกัน แสดงจุดยืนและทำกิจกรรมทางการเมือง ด้านหนึ่งแสดงความตื่นตัวในระบบประชาธิปไตย แต่อีกด้านการเมืองก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ทำให้เกิดความยัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัว ซึ่งมีคน 2 รุ่น ที่ถูกหล่อหลอมในสังคมที่แตกกัน
ชมคลิป
ถ้าครอบครัวไหนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่เหมือนกัน การที่บุตรหลานออกไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองในแบบเดียวกันก็คงจะไม่ใช่ปัญหาอะไร แต่กับครอบครัวที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องของช่วงวัยที่ต่างกัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะคุยกันถึงเรื่องนี้
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับเยาวชน นักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองกันอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แม้สิ่งที่ทำอยู่จะเป็นความหวังดี ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่เมื่อกลับบ้านไปแล้วต้องเจอกับความเห็นต่าง จะอยู่ร่วมกันอย่างไร
ครอบครัวเห็นต่างการเมือง
มองดูภายนอกก็เหมือนนักศึกษาหญิงปี 1 ธรรมดาทั่วไป แต่การอยู่ท่ามกลางการทำกิจกรรมทางการเมืองหน้าทำเนียบรัฐบาล ทำให้เรารู้ว่า เธอเป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมทางการเมืองที่มีกลุ่มนักศึกษาและเยาวชน ทยอยออกมาส่งเสียงให้รัฐบาลยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่แทบทุกวันในเวลานี้
การแสดงออกทางการเมืองที่ชัดเจน เป็นการแสดงจุดยืนทางความคิด ที่ทั้งกลุ่มเพื่อนและครอบครัวก็รับรู้ ปัญหาก็คือคนในครอบครัวอาจมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างไปจากคนรุ่นใหม่ กลายเป็นความขัดแย้งที่หาทางออกไม่ได้
แม้ปีนี้จะมีอายุเพียง 15 ปี แต่ก็คิดว่าไม่เด็กเกินไปที่จะออกมาชุมนุมทางการเมือง เธอยอมรับว่าพ่อและแม่มีจุดยืนเดียวกันเธอ แต่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยจึงไม่อยากให้ออกร่วมกิจกรรม แต่เธอยืนยันว่าดูแลตัวเองได้
เพราะสมาชิกในครอบครัว ไม่ได้มีแค่พ่อและแม่ ญาติพี่น้องคนอื่น ที่มีความเห็นทางการเมืองที่ต่างกันก็ยากที่คุยกัน เด็กหญิงวัย 15 คนนี้บอกว่าอยากให้ผู้ใหญ่รับฟัง แม้จะมีจุดยืนที่ต่างกันก็อยู่ร่วมบ้านเดียวกันได้
คงต้องจับตาดูว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ขณะที่ความอ่อนไหวในสถาบันครอบครัวก็ยังเป็นเรื่ิองที่ต้องเฝ้าระวังควบคู่กันไป
วิเคราะห์ปรากฏการณ์ความต่าง 2 รุ่น
หากกล่าวถึงปรากฏการณ์ความเห็นต่างของคนทั้ง 2 รุ่น เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าโครงสร้างทางการเมืองมีส่วนบ่มเพาะให้คนรุ่นเก่าเชื่อฟังผู้นำ ขณะที่ปัจจุบันนั้น การเข้าถึงเทคโนโลยี และบริบทสังคมเปลี่ยนไปมาก
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลออกนโยบาย ในลักษณะที่ว่า เชื่อผู้นำชาติพ้นภัยทำให้ประชากรมีความยึดโยงเหนียวแน่นกับการเชื่อฟังผู้นำเพื่อสร้างชาติ คือตัวอย่างประสบการณ์ ที่ วีรพร นิติประภา นักคิดและนักเขียนนวนิยาย หยิบยกเพื่อให้เห็นภาพ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป ในยุคปัจจุบันเยาวชนสามารถพึ่งพาตัวเองผ่านทางเทคโนโลยี สืบค้นหาข้อมูลและประกอบกับนวนิยายและวรรณกรรมต่างๆที่บอกเล่าว่าคนธรรมดาก็สามารถเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ วิธีคิดของคนทั้งสองรุ่งจึงต่างกัน
ขณะที่ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ งานการพัฒนา ในฐานะนักวิชาการครอบครัว กล่าวว่าทางออกสำหรับความขัดแย้งในครอบครัวประกอบด้วย 5 สิ่งที่ การทำความเข้าใจถึงพัฒนาการตามวัย ซึ่งอาจมีความเลือดร้อนและมีความคิดขบถซ่อนอยู่เล็กน้อย
จากนั้นก็รับฟังอย่างเปิดใจ และการยอมรับ เมื่อลูกมีความเห็นต่างทางการเมือง ต้องไม่จับผิด หรือสั่งสอนทำนองว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ต่อมาคือ ชี้ให้เห็น ซึ่งพ่อแม่ในฐานะผู้ใหญ่ก็จะสามารถหยิบยกเหตุการณ์ขึ้นมาเปรียบเทียบถึงผลของการกระทำได้ และ สุดท้ายคือทำใจ ว่าจำเป็นต้องมีบทเรียนของการลองผิดลองถูก ผู้ใหญ่สามารถแนะนำได้ในเชิงขอบเขตเท่านั้น
เรื่องของการเมืองก็จะดำเนินไปในแบบการเมือง ที่ต่างคนต่างก็มีเหตุผลในการสนับสนุนตัวเอง แต่ก็เกิดการเจรจาขึ้นหลายครั้ง มีสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
เราอาจจำเป็นจะต้องแยกแยะกันระหว่างเรื่องการเมืองกับครอบครัว แม้จะจุดยืนต่างกันมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ถ้าหากว่าครอบครัวสามารถปรับตัวรับฟังความเห็นต่างได้ ไม่แน่ว่าการเมืองก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ไปเป็นการเมืองที่รับฟังกันมากขึ้น เริ่มจาก การทำความเข้าใจกันภายในครอบครัว.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น