เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน "คนจน 2020"
การพัฒนาเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านการคมนาคม ในแง่หนึ่งเป็นการพัฒนาที่ดี แต่ผลกระทบจากการพัฒนาก็หนีไม่พ้นคนจนเมือง ที่ถูกเบียดขับให้ไปอยู่พื้นที่อื่น
แม้จะถูกกีดกันโดยนโยบายรัฐ แต่คนจนก็ถีบตัวเองขึ้นมา เป็นผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคนจนเมือง ที่รัฐต้องทบทวนทิศทางการพัฒนาอย่างจริงจัง
ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กว่าจะพัฒนาจากคนจนเมืองขึ้น มาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิตแบบไม่เป็นทางการได้
ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษาหรือว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุน แต่ที่พวกเขาเข้าไม่ถึงเลยนั่นก็คือ นโยบายการพัฒนาเมืองของรัฐที่ไม่รองรับคนจนเมือง ทั้งยังซ้ำเติมให้ได้รับผลกระทบหนักไปอีก
ตัวอย่างของคนจนเมือง ที่พยายามยกระดับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนเก็บของเก่าขาย หรือว่าคนร้อยพวงมาลัย น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีถึงความพยายามของพวกเขา แต่แม้พยายามมากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตก็ไม่สามารถไปได้ดีกว่านี้ เพราะการพัฒนาเมืองไม่เปิดทาง และไม่เอื้อให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
เปิดงานวิจัยคนจน
ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้า โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว มีการนำเสนอถึงข้อค้นพบสำคัญของการยกระดับของคนจนเมือง และความพยายามในการเปลี่ยนความหมาย คนจนเมือง เป็นผู้ประกอบการรายย่อยภาคการผลิต เพื่อมุ่งหวังให้รัฐและชนชั้นกลางในเมือง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มคนเหล่านี้ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเมือง และควรมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมือง รวมทั้งกำหนดความเป็นไปของเมืองอย่างเสมอหน้า
ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ในฐานะประธานโครงการวิจัยฯ บอกว่า 50% ของสัดส่วน GDP มาจากการบริโภคของรากหญ้า นอกจากนี้แรงงานภาคการผลิตมากกว่า 60% ก็ยังมีฐานมาจากคนจนเมืองด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจรวมถึงการพัฒนาเมืองนั้น รัฐจึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้มากกว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เอื้อกลุ่มทุน
ใครคือคนจน
แต่เมื่อพูดถึงคนจน ในเวทีสาธารณะเมืองกับคนจนเมือง การต่อสู้ ต่อรองไปสู่อนาคต ที่มีตัวแทนเครือข่ายของสลัม 4 ภาค นักวิชาการ แล้วก็มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ยังคงถกเถียงกันถึงนิยามของคนจน แบบไหนถึงเรียกว่าคนจน ใครคือคนจน
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นในงานวิจัย กล่าวว่า
ทุกคนมีมิติของความเปราะบาง โครงการบางโครงการก็ทำให้คนจนไปได้เลย หรือวิกฤตโควิดเข้ามา ก็ทำให้หลายคนจนลงไป ความยากจนไม่จำเป็นต้องอยู่ในสลัม แต่คือความเปราะบางที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร
เราอาจจะไม่สามารถมองคนจนในมิติเดียวว่า ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เพราะการพัฒนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆแล้ว คนจนเป็นเหตุของการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่ผลกระทบ แต่คนจนเป็นเงื่อนไขของการพัฒนาด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นโครงการวิจัยกล่าวว่า คนจนมีหลายระดับและมีความหลากหลาย คนจนบางคนก็ไม่สามารถขยับขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้ แต่เห็นด้วยที่ต้องมีความเคลื่อนไหวทางสังคม ให้สาธารณะได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนจนเมือง งานวิจัยนี้จึงควรแสดงให้เห็น ความหลากหลายของคนจนมากกว่านี้
มากกว่าการหานิยามของคนจน ซึ่งคงจะต้องถกเถียงกันอีกยาวและคงมีหลายมิติ คือนโยบายการพัฒนาเมืองว่า การให้ความสำคัญกับสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมือง หรือการกำหนดทิศทางของเมืองควรเป็นของใคร
ที่ผ่านมาดูเหมือนว่า รัฐและทุน จะผูกขาดสิทธิ์ส่วนนี้ จึงได้เกิดปัญหาต่างๆตามมา และการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ควรที่จะมีใครกีดขวางเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐควรจะเป็นผู้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ มากกว่าทำลาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น