เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ผู้ค้ายังลักลอบขาย​ 2​ ​สารเคมีเกษตร​ที่ถูกแบนอยู่หลังร้าน​

"แม้กระทรวงอุตสาหกรรม​ จะประกาศให้พาราควอต​ และคลอร์ไพลิฟอส​ เป็นวัตถุอันตรายห้ามจำหน่าย ขณะที่ไกลโฟเสทจำกัดการใช้​ ให้จำหน่ายได้เพียงเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น​ แต่ยังพบจำหน่ายอยู่หลังร้าน​ ท้าทายกฎหมาย" 


ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจร้านขายสารเคมีเกษตร​ ในเขตจังหวัดนครปฐมและจังหวัด​ราชบุรี พบว่าส่วนหนึ่งปฏิบัติตามคำสั่งแบน 2 สารเคมี คือพาราควอต​ และคลอร์ไพลิฟอสต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่บางร้าน ก็ยังลักลอบขายสารเคมีเหล่านี้​ 

แม้จะไม่มีของวางขายหน้าร้าน แต่เกษตรกร รู้ดีว่าจะต้องหาซื้อจากที่ไหน เจ้าของร้านแสดงความไม่มั่นใจที่จะขายวัถตุ​อันตราย​ที่เพิ่งถูกแบนให้กับเรา เพราะเป็นเห็นเป็นคนแปลกหน้า แต่เมื่อถามหาสินค้าในปริมาณมากๆ ร้านก็ยังมีจำหน่ายให้​ ในราคาที่สูงกว่า เท่าตัว

ผู้ชายคนนี้รู้ดีว่า ในฐานะผู้ค้าสามารถเก็บสารเคมีเกษตรที่ถูกแบนไว้ 120 และครบกำห​นด​วันที่ 28 กันยายนนี้ ที่จะต้องส่งคืนกรมวิชาการเกษตร แต่ดูเหมือนว่าเขาจะสต๊อกสินค้าต้องห้ามเอาไว้จำนวนหนึ่ง

สำหรับร้านนี้ ทีมข่าว ซึ่งไม่ใช่เกษตรกรไม่มีใบรับรองการอบรม ยังสามารถซื้อได้ทั้งพาราควอต ที่ห้ามขาย และไกลโฟเสต ที่จำกัดการใช้ ที่ขายให้เฉพาะเกษตรกรที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น

เราเดินทางต่อไปที่ร้านขายสารเคมีเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในเขตอำเภอดำเนินสะดวก​ จังหวัดราชบุรี เจ้าของร้านเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่มีสต๊อกสารเคมีที่ถูกแบน​ ขณะเดียวกันตลอดเวลาที่ผ่านมา​ ที่กรมวิชาการเกษตรเรียกคืนสารเคมีจากเกษตรกรภายใน​ 90​ วัน​ ก็ไม่มีใคร​ นำสินค้ามาคืนที่ร้าน

หลังการแบนสารเคมีตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเกษตรกรจะสามารถครอบครอง วัตถุอันตรายเหล่านี้ได้เพียง 90 วัน ให้นำมาคืนที่ร้านขายสารเคมีเกษตร​ ซึ่งจะครอบครองได้ 120 วันก่อนที่กรมวิชาการเกษตร จะเก็บสารเคมีทั้งหมด​ไปทำลายทิ้ง แต่จนถึงวันนี้ จาการสำรวจของทีมข่าวไทยพี​บี​เอส​ ก็ยังมีการลักลอบใช้อยู่ ทั้งอย่างเปิดเผยและไม่เปิดเผย


'ราชบุรี'​ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์​ 6​ หมื่นไร่ในปี​ 67

ภายหลังการแบนสารเคมีเกษตร จังหวัดราชบุรี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ให้ได้ 12,000 ไร่ต่อปี เพื่อรองรับการปรับตัวของเกษตรกรบางส่วนที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ แต่เกษตร​จังหวัด​ก็ยอมรับว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังเคยชินกับการใช้สารเคมีซึ่งการปรับเปลี่ยนนั้นไม่ง่ายเลย​ 


ตัวด้วงที่กัดกินยอดต้นอินทผาลัม​ จะ​ให้ดีคงต้องใช้คลอร์ไพลิฟอส​ ยาฆ่าแมลงเข้มข้น ในการกำจัด แต่หลังถูกแบนเป็นวัตถุอันตรายห้าม เกษตรกรรายนี้ จึงต้อง จับด้วงออกมาจากยอดตัวเป็นๆเพื่อกำจัดทิ้ง นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องอาศัยใจรัก

บนพื้นที่ 6 ไร่ ในอำเภอบ้านโป่ง​ จังหวัดราชบุรี ​ เ​อกอรุณ​ อำนา​จ​เจริญ​พรชัย​ สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี ปลูกต้นอินทผาลัมไว้ทั้งหมด 152 ต้น และทุกๆเช้าเขาจะต้องเดินสำรวจศัตรูพืช

นอกจากแมลงแล้ว​ หญ้าที่ขึ้นร่องสวน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้สารเคมี แต่เมื่อพาราควอตถูกแบน​ การตัดหญ้าด้วยเครื่องตัดหญ้า ก็เป็นทางออก

เอกชัยบอกว่า​ เกษตรอินทรีย์ช่วยลดต้นทุนได้จริง แต่ต้องลงแรงและยอมเหนื่อย​ เมื่อต้องแลกกับสุขภาพที่ดีขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า

ทุกๆเดือน กลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวกันในนามกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่มเย็นราชบุรี จะต้องมารวมตัวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนอุปสรรคที่พบเจอ

โชคดี​ ตั้งจิต​ร​ เป็น​ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒ​นาเกษตรกร​ สำนักงานเกษตร​ จ.ราชบุรี​ เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด เซ็นตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เพื่อรองรับการแบนสารเคมีการเกษตรโดยตั้งเป้าว่า ภายในปี 2567 หรืออีก 5 ปี​ จะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดราชบุรีไม่น้อยกว่า 6​ หมื่นไร่หรือคิดเป็น 5% จาก 1​ ล้าน​ 2​ แสน ไร่ของพื้นที่เกษตรทั้งจังหวัด

แต่นายโชคดี​ ยอมรับว่า​ ไม่ง่ายเลยที่เกษตรกรจะเลิกใช้สารเคมี แม้สมัครสมาชิกหน้าใหม่ที่สมัคร​ร่วมกลุ่มเกษตร​อินทรีย์​จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น​ แต่มักมีคำถามและข้อกังวลเสมอว่า​ เกษตรอินทรีย์จะทำให้คุณภาพและปริมาณผลผลิตลดลงหรือไม่

ความคิดเห็น