เก็บตกจากวชิรวิทย์ | เจาะภัยคุกคาม “แม่นำ้สงคราม” แรมซาร์​ไซต์​ แห่งที่​ 15​ ของไทย

แม่น้ำสงคราม ในจังหวัดนครพนมได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์แห่งที่ 15 ของไทย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา​

หลังการขึ้นทะเบียนชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนรวมตัวจัดทำแผนฟื้นฟู ป่าบุ่งป่าทามของแม่น้ำสงคราม​ แต่ก็ยังประสบกับภัยคุกคามที่ไม่สามารถควบคุมได้​ นั่นคือระดับแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกติ​ รวมทั้งโครงการพัฒนา​ชลประทาน​ในพื้นที่ 


ปากแม่น้ำสงคราม ที่บรรจบกับแม่น้ำโขงในเขตอำเภอ​ท่าอุเทน​ จังหวัดนครพนมเป็นจุดเริ่มต้นของเขตพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์​ แห่งที่ 15 ของประเทศไทยและอันดับที่ 2, 420 ของโลก​ ระยะทาง 92 กิโลเมตร​

นับเป็นแม่น้ำแห่งแรกของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแรมซาร์ไซต์ ทั้งยังเป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวของไทย​ ที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น 

ทีมข่าวเดินทางลึกเข้าไปจากปากแม่น้ำ​ พบความอุดม​สมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ​ ที่ชาวบ้านเรียกว่า​ "ป่าบุ่งป่าทาม" ซึ่งมีลักษณะคล้ายป่าชายเลน แต่เต็มไปด้วยต้นไผ่กระแซะที่มีหนาม ที่นี่เป็นแหล่งอนุบาลปลาแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาบึกที่ใกล้สูญพันธุ์

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว​ ที่น้ำท่วมไม่ถึงป่าบุ่งป่าทามบริเวณนี้ นันทวัฒ​ ศรีหะมงคล​ ผู้ใหญ่บ้าน​ บ้านแก้วปัดโป่ง​ ในวัย 50 ปี บอกว่า​ ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นน้ำท่วมถึงป่าบุ่ง​ป่าทามเป็นประจำทุกปี เขาเชื่อว่าความผิดปกตินี้​ เกิดจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงผิดปกติ

แม้จะมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่การผลักดันให้แม่น้ำสงครามขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์มาตั้งแต่ปี 2559 ก็ประสบความสำเร็จ​ จากความร่วมมือในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของคนทั้ง 50 หมู่บ้าน และหวังใช้เป็นเครื่องมือป้องกันโครงการขนาดใหญ่ที่จะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ​ซ้ำเติม เช่นเขื่อน​ หรือประตูระบายน้ำ

แต่เลขาธิการสำนักงานนโยบาย​และแผนทรัพยากรธรรมชาติ​และสิ่ง​แวดล้อม​ บอกว่าการขึ้นทะเบียนแรมซา​ร์​ไซต์​ไม่ได้มีผลในทางกฎหมาย​ ไม่ได้​ห้ามโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ แต่ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ eia


ชมรมอนุรักษ์ลุ่มน้ำสงคราม เปิดเผยว่ายังคงมีความพยายามผลักดันโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงครามมาโดยตลอด​ แต่หลังจากแม่น้ำสงครามขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์​ไซต์​แล้ว​ ก็เตรียมแผนพัฒนาฟื้นฟู ทั้งการประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา และการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำอย่างจริงจัง​ เพื่อให้แม่น้ำสงคราม​ สมบูรณ์ตลอดไป.

ความคิดเห็น