เก็บตกจากวชิรวิทย์ | เขื่อนทดน้ำบางปะกง ชาวบ้านอาจต้องย้ายบ้านหนี
การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือที่เรารู้จักกันดีว่า EIA แต่หากย้อนไปเมื่อ 30 ปีก่อนกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้มีความจริงจังมากนักจากข้อกฎหมายที่พึ่งมาปรับปรุงในภายหลัง ทำให้ผลกระทบจากโครงการในอดีตยังส่งผลมาถึงปัจจุบัน
ชุมชนสนามจันทร์ จ.ฉะเชิงเทราเป็นตัวอย่าง ของผลกระทบจากโครงการที่ไม่ศึกษา EIA อย่างรอบด้าน และปิดทางชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น
ดูเหมือนว่านี่จะเป็นภาพที่ถูกนำมาฉายซ้ำในหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.ฉะเชิงเทราก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ EEC ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเกิดขึ้น และต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากศึกษาไม่รอบด้าน ก็จะมีสภาพไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา
ตลิ่งริมแม่น้ำบางปะกง ความยาวเกือบ 10 กิโลเมตร ในเขตชุมชนสนามจันทร์ อ.เมืองจ.ฉะเชิงเทรา ค่อยๆพังลง จากปัญหาน้ำกัดเซาะมาเป็นเวลาหลายสิบปี
บ้านหลังนี้ เป็นบ้านหลังที่สองของครอบครัวเจริญนวรัตน์ ซึ่งเคยมีบ้านหลังแรกตั้งอยู่บนแผ่นดินที่ถูกกัดเซาะจนกลายเป็นแม่น้ำในปัจจุบัน
ศุภพร เจริญนวรัตน์ ในวัย 60 ปียังจำได้ว่า ต้องรื้อบ้านหลังแรกหนีน้ำกัดเซาะ และมีแนวโน้มว่าต้องย้ายบ้านอีกครั้ง แม้จะนำหินมาถมหรือ นำเสามากั้นทำเป็นเขื่อนกันคลื่น แต่ก็ไม่สามารถหยุดการกัดเซาะได้
ประตูระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำบางปะกง เปิดไว้เกือบทุกบาน หลังชาวบ้านร้องเรียนปัญหาน้ำกัดเซาะ เพราะทันทีที่ปิดประตูระบายน้ำ น้ำในลำน้ำบางปะกงช่วงท้ายเขื่อนจะลงลดมากจนตลิ่งทรุด
ย้อนไปเมื่อ 27 ปีก่อน เขื่อนถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำเค็มรุก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสนามจันทร์ บอกว่าเคยมีการลงสำรวจความคิดเห็นของชาวบ้านก่อนสร้าง แต่ในสมัยนั้นยังไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังจริงจัง แม้ชาวบ้านจะคัดค้านเพราะรู้ว่าจะต้องเกิดผลกระทบ แต่เขื่อนก็ถูกสร้างขึ้นจนสำเร็จ
ที่ผ่านมาชาวบ้านร้องเรียนให้กรมชลประทาน รับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานราชการก็โยนความรับผิดชอบกันไปมา โดยไม่ฟันธงว่าสาเหตุการกัดเซาะเกิดจากโครงการเขื่อนทดน้ำหรือไม่
ทีมงานสภาวิศวกรลงพื้นที่ สำรวจความเสียหาย และรวบรวมข้อมูล เช่นอัตราการเร่งของน้ำรายปี สถิติของการกัดเซาะ และการสูญเสียที่ดินไปกับแม่น้ำ เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากภัยธรรมชาติหรือเป็นผลกระทบจากโครงการที่เปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำตามธรรมชาติ
แต่จากประสบการณ์ของชาวบ้านที่เกิดและโตในชุมชนแห่งนี้เชื่อว่า สาเหตุการพังทลายของตลิ่งที่รุนแรงขึ้น เป็นผลมาจากการเปิดปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำแห่งนี้
ชุมชนสนามจันทร์ จึงกลายเป็นบทเรียนจากโครงการที่สร้างขึ้นโดยไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน เมื่อเกิดปัญหาก็ไร้หน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ แม้จะได้เห็นความพยายามของชุมชน ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง แต่ก็ดูเหมือนจะทำอะไรได้ไม่มากนัก และอาจต้องย้ายบ้านหนี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น