เก็บตกจากวชิรวิทย์ | ยอมเปิดประเทศฟื้นเศรษฐ​กิจหลัง​เดือน ก.ค.​ แลกเสี่ยงผู้ติดเชื้อเพิ่ม

"ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จะมีคนต่างชาติ หนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เรามองว่านี่คือโอกาส ไม่ต้องไปกลัว เขาจะมาใช้เงินในบ้านเรา..." 

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563​ เวที Virtual Policy Forum: เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สอง ของ COVID-19 ‘ศ.นพ.อุดม คชินทร’ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 7 เดือนหลังการระบาดของโควิด-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทะลุ 15 ล้านคนในวันนี้ โดยเฉลี่ยแล้วมีคนไข้เพิ่มขึ้นทุก ๆ 2 แสนคนต่อวัน และเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ทำให้ยังไม่มียารักษา ยาที่ใช้อยู่ก็เป็นยาที่ไม่ตรงกับโรค เป็นยายืมจากที่อื่นมาใช้ และยังไม่มีวัคซีน สิ่งที่ต้องทำเมื่อยังไม่มียาและวัคซีนก็คือวิธีการล็อกดาวน์ แต่ที่ได้ผลดีที่สุดคือการเว้นระยะห่างทางสังคม

"ประเทศไทยถือว่าทำได้ดี ไม่ใช่เพราะบังเอิญ แต่เพราะวางระบบสาธารณสุขพื้นฐานเอาไว้ได้ดีมาก" 

ศ.นพ.อุดม ระบุว่าต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและการควบคุมโรค เพราะหากได้ตายจากโรคได้ ก็อาจจะตายเพราะอดตายได้ ประชาชนต้องทำใจว่ามันอาจจะมีหลายรอบ แต่ต้องควบคุมให้ได้

"ยิ่งในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จะมีคนต่างชาติ หนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเรามองว่านี่คือโอกาส ไม่ต้องไปกลัว เขาจะมาใช้เงินในบ้านเรา เป้าหมายตอนนี้ ไม่ต้องการให้ผู้ป่วยติดเชื้อเป็น 0 แต่ต้องการให้เกิดการระบาดเป็นรอบเล็ก ๆ อาจจะต้องเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ให้ประชาชน ไม่ตั้งความหวังว่าจะต้องเป็น 0 ตลอดไป"

ในช่วงหลังสิ้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจอยู่รอด ซึ่งประเมินไว้ 3 ฉากทัศน์ คือ ฉากทัศน์ที่ 1 สถานการณ์ควบคุมได้เต็มที่ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศ พบผู้ป่วยประปราย 15-30 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย, พบผู้ป่วยรายใหม่จากการค้นหาเพิ่มเติม และค้นหาเชิงรุกในชุมชน

ฉากทัศน์ที่ 2 สถานการณ์ควบคุมได้ดีมีความเสี่ยงต่ำ การระบาดอยู่ในวงจำกัด ระบบสาธารณสุขรองรับได้ หลังปลดล็อกทุกภาคธุรกิจ รวมทั้งการเดินทางภายในและระหว่างประเทศพบผู้ป่วย 50-150 คนต่อวัน โดยเน้นการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ทั้งกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และคนเดินทางเข้าประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 3 สถานการณ์ควบคุมได้ยาก มีการระบาดซ้ำคล้ายช่วงเหตุการณ์ระบาดจากสนามมวย สถานบันเทิง และมีการเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยไม่มีการกักกันติดตาม อาจพบผู้ป่วย 500-2,000 คนต่อวัน ระบบสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะอยู่ ฉากทัศน์ 1-2 ที่กดจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่รับได้

โดยมองปัจจัยหลักของการระบาด มาจากแรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เพราะในท่าอากาศยาน สามารถควบคุมได้ ที่น่ากลัวคือตามด่านพรมแดนธรรมชาติ ข้อมูลล่าสุดตอนนี้ มีแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 60,000 คน ที่ลงทะเบียนขอเข้าไทย และอีก 40,000 คน กำลังทำเรื่อง นับเป็นแสนคนที่จะเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีที่มาแบบใต้ดินอีกจำนวนไม่น้อย 

ลุ้นวัคซีนโควิด-19 อีก 1 -ปีครึ่ง

ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า มี 3 ทางเลือกที่จะยุติ โควิด 19 คือ 1) การพัฒนาวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง อย่างเร็วที่สุด 2) การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องมีประชากรในประเทศติดเชื้อถึง 70% ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้มีการสุ่มตรวจภูมิคุ้มกันของคนไทยพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 น้อยกว่า 10 % และ 3) ไวรัสกลายพันธุ์จนไม่แพร่เชื้อ ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ก็มีความเป็นไปได้

ทั้งนี้ การประเมินการระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะแรก พยายามควบคุมผู้ติดเชื้อ ซึ่งประเทศไทยผ่านระยะนี้มาแล้ว เข้าสู่ระยะที่ 2 ผ่อนคลายมาตรการ คลายล็อกดาวน์ และกำลังเข้าสู่ระยะที่ 3 คือฟื้นตัวและปรับตัว ซึ่งไทยกำลังจะอยู่ในระยะนี้ คาดว่าจะสิ้นสุดปลายปี หรือกลางปี 2564 ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 4 คือการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ และปรับโครงสร้างสังคม ซึ่งบางมาตรการอาจต้องทำไปตลอด แสดงให้เห็นว่าเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่กำหนดวาระทางสังคม

ความคิดเห็น