เก็บตกจากวชิรวิทย์ | 50:50 ความหวังวัคซีนโควิด-19

เดือนตุลาคม​ 2563ไทยวางแผนที่จะทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในมนุษย์ หลังคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัทไบโอเนต-เอเชีย ได้ร่วมกันพัฒนาวัคซีนต้นแบบ และนำไปทดลองในลิงแสม

แม้การพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่ใช้ในหนูและลิงจะมีความคืบหน้าไปมาก แต่กระบวนการภาคสนาม​ ที่ทดลองกับคนในชุมชนกลุ่มใหญ่​ ยังคงต้องใช้เวลาและเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดเพราะเป็นการพิสูจน์ว่าวัคซีนได้ผลจริงหรือไม่​ มีผลข้างเคียง​อันตรายแค่ไหน

การพัฒนาวัคซีนของไทย​ ต้องทดลองกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน​ เช่น​ อินโดนีเซีย​ เนื่องจากบ้านเรามีผู้ติดเชื้อน้อย​ แตืที่อินโดนีเซีย​ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก 

การหวังใช้วัคซีนถือเป็น "hope of the best" คือเป็นความหวังที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องเผื่อใจ 50:50 เพราะโรคระบาดบางชนิดก็ไม่สามารถใช้วัคซีนป้องกันได้ 

หากย้อนดูโรคระบาดที่กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่ผ่านๆมา บางโรคก็ยังไม่มีวัคซีนรักษา "นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์​" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์​ ยกตัวอย่าง "ไ​ข้เลือดออก" ที่ระบาดในไทยมา 50 ปี มี 4 สายพันธุ์ ยังไม่มีวัคซีนใช้​ เพราะการมีวัคซีนจะต้องครอบคลุมทุกสายพันธุ์ถึงจะได้ผล

ในขณะที่ "โรคเอดส์​" ระบาดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เป็นโรค​ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง​ กลไกวัคซีนจึงใช้ไม่ได้ผล ส่วน "ไข้หวัดใหญ่" ก็มีจำนวนหลายสายพันธุ์ จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นมาใช้ในแต่ละสายพันธุ์ให้ครอบคลุม 

อย่างไรก็ตาม โคโรนาไวรัสหรือ "โควิด​-19" มีเชื้อที่ไม่ได้มีความสลับซับซ้อน​ อีกทั้งเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนปัจจุบันต่างจากอดีต มีความก้าวหน้าไปมาก อาจสามารถผลิตวัคซีนได้

"แม้ปัจจุบัน​ โควิด​-19​ จะมีการกลายพันธุ์​ แต่การกลายพันธุ์ที่ว่านี้ ต้องดูว่าส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของโรคหรือไม่​ หากไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงคลินิก ก็ยังมีหวังที่จะผลิตวัคซีนได้ ซึ่งส่วนนี้ยังคงต้องรอข้อมูลศึกษากันอีกยาว" นายแพทย์โอภาส กล่าว 

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุอีกว่า นอกจากวัคซีนแล้ว การพัฒนายา ก็ยังคงมีความหวัง​ แต่การพัฒนาวัคซีนไปไกลกว่า​การพัฒนายา ปัจจุบันยังคงใช้ยารักษาโรคตัวอื่น​แทนการรักษาโควิด​ 19​ ซึ่งได้ผลบ้าง​ ไม่ได้บ้าง ซึ่งยังคงต้องพัฒนาต่อไป 

🔴 ถ้ายังไม่มีวัคซีนและยา ต้องทำอย่างไร?

การหาผู้ป่วยเชิงรุก ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ​ได้เป็นอย่างดี ทำได้​ 3 วิธีคือ​

 1.การตรวจจากเชื้อจากสถานที่กักกัน หรือ​ State​ Quarantine​ 
2.การลงพื้นที่สุ่มตรวจในชุมชนกลุ่มเสี่ยง​ เช่น​ ภูเก็ต, 3 จังหวัดชายแดนใต้​ จังหวัดชลบุรี​ ซึ่งเป็นจุดที่พบผู้​ติดเชื้อ​แรก​ๆ​ 

และ​ 3.​ การเฝ้าระวังที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ​ ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่​ จะถูกส่งตรวจทั้งหมด

"แม้จะพ้นการระบาดระยะหนึ่งไปแล้ว​ แต่การตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง ในช่วงแรกกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มแรงงาน และกลุ่มคนที่ทำงานที่ต้องพบเจอผู้คนมากในที่สาธารณะ​ จำนวน​ 1​ แสนตัวอย่าง​ไม่พบผู้​ติดเชื้อ​ ล่าสุดหลังการปลดล็อคเฟส 5 กลุ่มเสี่ยงคือ สถานประกอบการ พนักงานบริการ ก็จะเน้นลงไปตรวจกลุ่มนี้" นายแพทย์โอภาส ย้ำ

ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อประกอบไปด้วย 

การเก็บตัวอย่าง​ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานาน เนื่องจากมีแลป​เพียง 2 แห่งคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปัจจุบันได้ขยายห้องแลป​ ในการตรวจเชื้อโควิดไปถึง 205 ห้อง ครอบคลุมทั่วไทยแทบทุกโรงพยาบาล​ ช่วยร่นเวลา​การส่งตัวอย่าง​ โดยการตรวจวินิจฉัย​ ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงก็สามารถรายงานผลได้

ช่วงที่โควิด-19 ระบาดแรกๆ ใช้ระยะเวลาในการส่งตัวอย่างและวินิจฉัยนาน​ เพราะมีแล็ปเพียง​ 2​ แห่ง​ แต่ในช่วง 6 เดือนหลังการระบาด จำนวนแลปที่ครอบคลุมทำให้รู้ผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง 

การตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก ก็จะช่วยติดตามผู้ติดเชื้อ และยับยั้งการระบาด ติดต่อได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวัคซีน และยารักษาโรคนี้

#วชิร​วิทย์​รายวัน​ #เก็บตกจากวชิรวิทย์

ความคิดเห็น