เก็บตกจากวชิรวิทย์ | พลิกปมข่าว ตอน “ต่อลมหายใจ พัฒน์พงษ์”
แม้ ศบค.เตรียมจะผ่อนคลายให้สถานบันเทิงกลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เต็มรูปแบบ ตลอดเวลา 3 เดือนที่ถูกสั่งปิดด้านหนึ่งช่วยควบคุมการระบาดให้ดียิ่งขึ้น แต่อีกด้านก็ส่งผลกระทบทั้ง พนักงานบริการ ผู้ประกอบการ และอีกหลายชีวิตที่เกี่ยวข้อง
🎥 ชมคลิป
วชิรวิทย์ และ ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจ ถนนพัฒน์พงษ์ พบความเปลี่ยนแปลง และความพยายามในการปรับตัว แต่ดูเหมือนว่าการถูกปิดไปเป็นเวลานาน และโลกหลังโควิด จะทำให้พัฒน์พงษ์ ไม่อาจกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก
หลายชีวิตในพัฒน์พงษ์ กำลังรับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ แม้จะพยายามปรับเปลี่ยนชีวิต เพื่อรับมือกับวิกฤต แต่ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างยากลำบาก และหากจะมอง ต่อไปหลังโควิด พัฒน์พงษ์ ก็อาจไม่ใช่แหล่งทำมาหากิน ที่ทำเงินได้เหมือนก่อน
ลมหายใจ ที่ยังเหลืออยู่ใน พัฒน์พงษ์
มากกว่า 20 ปีในอาชีพขายบริการ หญิงวัย 49 ปีคนนี้ ไม่เคยต้องพบกับความว่างเปล่าเช่นนี้มาก่อน
กว่า 3 เดือนแล้ว ที่เธอไม่ได้รับลูกค้า ซึ่งเป้าหมายคือชาวต่างชาติสูงวัย นี่เป็นผลกระทบโดยตรงจากมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งเธอไม่รู้ว่าสถานบันเทิงจะกลับมาเปิดได้อีกเมื่อไหร่
เธอปรับตัวด้วยการหันมาขายอาหารริมทาง แต่รายได้แต่ละเดือนก็ไม่เพียงพอ ในความคิดของเธอ วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้รุนแรงที่สุด เพราะหากย้อนกลับไปในยุคเอดส์ระบาดเมื่อปี 2537 พัฒน์พงษ์ก็ไม่เคยเงียบเหงาเท่านี้มาก่อน
นับแต่กำเนิดถนนพัฒน์พงษ์ นี่คือช่วงเวลาที่แสงไฟยามค่ำคืนของที่นี่ ดับสนิท นานที่สุด
เกือบ 30 ปีที่ สุรางค์ เข้าพื้นที่มาทำงานในมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ เธอสลดใจ กับภาพที่เห็นในวันนี้ เพราะความเงียบคือสัญญาณอันตราย ที่บ่งบอกว่าหลายชีวิตต้องตกงาน
การล็อกดาวเป็นเวลานาน ทำให้นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถานบันเทิงทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติบางส่วนถอดใจ ประกาศขายร้าน ขณะที่แรงงานบางส่วนกลับบ้าน ซึ่งหลายคนไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา จึงมีคำถามว่า รัฐจะดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร
ท่ามกลางความมืดในซอยพัฒน์พงศ์ เรายังเห็นแสงไฟจากร้านอาหารเล็กๆ ที่นี่เราได้พบกับ Mr.Gill ชาวฝรั่งเศสเจ้าของร้าน French Kiss Bangkok ที่ตั้งอยู่กลางซอย ร้านนี้เป็นร้านอาหารแรกๆที่เปิดในซอยพัฒน์พงษ์ หลังจากปลดล็อคเฟส 4 เจ้าของร้านตัดสินใจเปิดร้านอีกครั้ง ทั้ง ๆที่ไม่รู้ว่า ธุรกิจจะเดินต่อไปได้หรือไม่
มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการ สถานบันเทิงซอยพัฒน์พงษ์เป็นชาวต่างชาติ มาตรการล็อกดาวน์ และสถานการณ์โรคระบาด ทำให้หลายสถานบันเทิงต้องปิดตัวไปอย่างถาวร นั่นหมายความว่าพัฒน์พงษ์หลังโควิด อาจไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้ว
เล็งเปลี่ยนพัฒน์พงษ์เป็นสตรีทอาร์ท
สำหรับพัฒน์พงศ์ เป็นย่านบันเทิงยามราตรีของกรุงเทพมหานคร ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก หากมองในมุมประวัติศาสตร์ พัฒน์พงษ์ พัฒนาจากย่านธุรกิจเล็กๆ มาเป็นฐานทัพลับ CIA ของสหรัฐก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นย่านสถานบันเทิง และการระบาดของโควิด 19 กำลังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กับถนนพัฒน์พงษ์ แห่งนี้อีกครั้ง
อภิรดี จันทรางกูร ผู้จัดการพัฒน์พงษ์มิวเซียม บอกว่า เดิมถนนพัฒน์พงษ์ เป็นสวนกล้วยรกร้าง หลวงพัฒน์พงษ์พาณิชย์ ต้นตระกูลพัฒน์พงษ์ ที่ดินบริเวณนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 สร้างอาคารพาณิชย์ และตัดถนน ตั้งชื่อว่า "ซอยพัฒน์พงศ์ 1" ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เริ่มมีไนต์คลับและสถานบันเทิงมาเปิด เพื่อรองรับทหารอเมริกันที่มารบในสงครามเวียดนามและลาว และมีชื่อเสียงในช่วง พ.ศ. 2515-2535
การระบาดของโรคโควิด 19 กำลังจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหม่ ให้กับ ถนนพัฒน์พงศ์ อีกครั้ง เพราะสถานบันเทิงที่ปิดไป หรือบางกิจการในช่วง 1-2 ปีอาจจะยังเปิดได้ไม่เต็มที่ ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัว และเปลี่ยนโฉมถนนพัฒน์พงษ์ ที่เคยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ เป็นวัยรุ่นคนไทย โดยมีแผนที่จะเปิดเป็น ถนนคนเดิน
ขณะเดียวกันก็จะนำศิลปะมาเป็นจุดขาย เบื้องต้นได้มีการเชิญชวนศิลปิน แนวสตรีทอาร์ท เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะตามกำแพงที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการ ในการหางบประมาณ และผู้สนับสนุน
แนะรัฐดึงชุนชนมีส่วนร่วมประเมินความเสี่ยง
ปัจจุบันเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ต้องการให้ผู้ติดเชื้อเป็น 0 เพราะการทำให้เป็น 0 มีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไป แต่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อต้องไม่เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า กลุ่มสถานบันเทิง แม้จะมีมาตรการควบคุม แต่ก็จะควบคุมได้ยาก ซึ่งยังคงต้องใช้หลักการ ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ โดยการเต้นรำในผับที่ใกล้ชิดกันจะต้องเว้นระยะห่างอย่างไร คนที่เข้าไปใช้บริการตามผับบาร์ สามารถดื่มกินโดยใส่หน้ากากหน้ากากผ้าได้100% หรือไม่
ในขณะที่ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย บอกว่า การที่เมืองสงบเงียบหลังรัฐพยายาม ลดกิจกรรม สร้างระยะห่าง และห้ามเคลื่อนย้าย เพื่อควบคุมโรค ผลกระทบเกิดกับทุกกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มคนมีต้นทุนที่จะรับมือต่างกัน
กรณี สถานบันเทิง รัฐมองว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงแต่คนงานที่อยู่ในห่วงโซ่กิจการเหล่านี้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งรัฐควรให้ชุมชนบริเวณโดยรอบสถานบันเทิง เป็นคนประเมินความเสี่ยง ว่าสามารถรับมือได้แค่ไหน
พัฒน์พงษ์ อาจเป็นภาพสะท้อน ของ สถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบหลาบแห่งเหมือนๆกัน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นสถานบันเทิง เป็นธุรกิจสีเทา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี คนตัวเล็กตัวน้อย ที่ได้รับผลกระทบไปด้วย คำถามก็คือความสมดุลในการควบคุมโรค จะเดินคู่ไปกับ เศรษฐกิจ ปากท้อง ของคนรากหญ้า ได้อย่างไร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น